หัวเลี้ยวยุคมืด(มิด) – “I Here” ม็อบหน้าสภาตะโกนลั่น ทำฝรั่งงง ถ้าจะบอก I’m here ทำไมเน้นเสียงจน m หาย เสียงสนั่นหวั่นไหวทั้งจากม็อบและผู้ชมทางบ้าน ก้องสองหูถึงเช้า ทำเอาบางคนสงสารสัตว์ ไม่ทราบ 250 ส.ว.+ส.ส.รัฐบาลสะดุ้งสะเทือนบ้างหรือเปล่า

มีอย่างที่ไหน อภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวรรคเป็นเวรสองวัน พอถึงขั้นโหวตรับ-ไม่รับ กลับมาตั้งกรรมาธิการศึกษา ทั้งที่ 1 ในนั้นเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล กลับให้ไพบูลย์ นิติตะวัน น้อมนำญัตติตั้งกรรมาธิการ

ซื้อเวลา? ไม่น่าใช่ ยั่วยุให้ประชาชนโกรธทำไม การรับร่างแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐบาล ตั้ง สสร.มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ ใช้เวลาเกือบ 2 ปี นี่คือซื้อเวลาอยู่แล้ว กว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ 250 ส.ว.คงอยู่ครบ 5 ปี เผลอๆ มีบทเฉพาะกาลอยู่ต่อจนเลือกใหม่

ถ้าคิดแค่ซื้อเวลา 1 เดือน แล้วกลับมาโหวตรับ ก็ฉลาดโคตร ทำไมต้องยั่วประชาชนโกรธฟรี จึงมีความเป็นไปได้ที่จะไม่ยอมให้แก้เลยมากกว่า

เพียงอาจซื้อเวลา ให้ประชาธิปัตย์หาทางออกตัว เพราะถ้า ส.ว.+พปชร.โหวตคว่ำ แล้ว ปชป.ไม่ถอนตัวจากรัฐบาล คงต้องใส่ปีกมุดท่อน้ำโสโครกออกจากสภา

อีกแง่หนึ่ง ก็อาจซื้อเวลาเพื่อ “นวด” และปราบม็อบ อย่างที่ทำกับเสื้อแดงมาแล้ว โดยปลุกกระแสต้าน ม็อบอันตราย ทำผิดกฎหมาย ทำให้ประเทศไม่สงบ มีเบื้องหลัง ฯลฯ นำไปสู่การกวาดจับ

ผบ.ตร. ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ก็เริ่มหาเสียง เยาวชนถูกชี้นำเหมือน “เชือกจูงควาย น้ำลายจูงคน” แหมคงได้คะแนนล้นหลาม

พยายามสร้างภาพม็อบคนรุ่นใหม่ก้าวร้าว รุนแรง ทั้งที่การชุมนุมทุกครั้งยังเป็นไปโดยสงบ เช่นที่ตะโกนใส่รถ ส.ส. ส.ว. ก็ไม่ได้ขวาง ไม่ได้ตั้งกรวยห้ามผ่าน ลากคอลงมาทำร้าย

ม็อบไม่ได้บุกรัฐสภา แม้มีคนมากจนปิดถนน คนทั่วไปเลี่ยงใช้เส้นอื่นได้ แต่ก็มีเฟคนิวส์ให้ร้าย อ้างว่ารถพยาบาลผ่านไม่ได้

#19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ก็ไม่เดินฝ่าบังเกอร์รั้วลวดหนาม ทั้งที่การเดินขบวนไปทำเนียบเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ตำรวจต่างหาก ทำเกินกว่าเหตุ ผิด พรบ.ชุมนุมสาธารณะมีโทษสูงสุดจำคุก 6 เดือนปรับหนึ่งหมื่นบาท กลับจะใช้โล่กระบองแก๊สน้ำตาสลาย ไหนใครว่าม็อบเป็นลูกหลาน

แน่ละ การชุมนุมต้องผิดกฎหมาย ภายใต้กฎหมายสูงสุดที่ตั้งพวกตั้งญาติมาโหวตตัวเองเป็นนายกฯ ยังเหลืออะไรให้ประชาชนเคารพกฎหมาย จะชุมนุมไล่รัฐบาลต้องไปขออนุญาตตำรวจ พอตำรวจไม่อนุญาตก็ยัดข้อหา “กบฏ” นี่เรียกว่ากฎหมาย

มีประเด็นให้คิด ทำไมฝ่ายอำนาจไม่ลดกระแส ถ้าผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคร่วมรัฐบาล แม้ม็อบยังไม่พอใจ ก็ไม่ถึงขั้นปลุกม็อบใหญ่ ซึ่งครั้งนี้จะยิ่งกว่า 19 กันยา

ประเมินผิด? คิดว่าม็อบฝ่อ? ก็อาจเป็นได้ แต่ร้ายกว่านั้น เครือข่ายอนุรักษ์นิยมอาจมองว่าคนรุ่นใหม่ “อันตราย” เอาไว้ไม่ได้ ต้องปราบ ต้องเด็ดแกนนำเข้าคุก ก่อนจะลุกลาม

ซึ่งก็ประเมินผิดอยู่ดี เพราะ “สภาปาหี่” ทำให้คนรุ่นใหม่ยิ่งโกรธ ยิ่งพุ่งเป้าไปที่ศูนย์อำนาจ จนแฮชแท็กในทวิตภพทะลุเพดาน คิดได้อย่างไรว่าเด็ดหัวแกนนำแล้วพลังคนรุ่นใหม่จะถอย เพราะปรากฏการณ์ “แผ่นดินไหว” ที่เกิดขึ้น สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ตั้งแต่อายุ 14-15 ไปถึง 30 ไม่ยอมรับโครงสร้างอำนาจนี้แล้ว

ขณะที่คนปกป้อง ก็น้อยเต็มที ถ้าจะนับรายชื่อจาก google sheet ก็ตามใจ

ปรากฏการณ์นี้คือ ไม่ใช่แค่คนเสื้อแดง คนเหนืออีสานที่เคยเป็นฐาน “ประชาธิปไตยกินได้” แต่คนชั้นกลางรุ่นใหม่ ไม่ยอมรับอำนาจนี้แล้ว ส่วนคนรุ่นเก่าแม้เสียงแตก แม้บางคนไม่เห็นด้วยกับคนรุ่นใหม่ ก็เบื่อหน่ายหมดศรัทธา “คนดีย์ปกครองบ้านเมือง” จนกระอักกระอ่วนใจที่จะปกป้อง

ฝ่ายอำนาจจะจัดการอย่างไร ในหนึ่งเดือนจากนี้ไปคงเห็นชัด แนวโน้มคือการปราบปราม โดยอ้างกฎหมาย ใช้ตำรวจ ใช้หมายศาล จะเป็นการปะทะกันอย่างรุนแรง ระหว่างพลังประชาชน กับเครือข่ายอำนาจที่คุมหมดทั้งตำรวจทหาร รัฐราชการ กระบวนการยุติธรรม

ซึ่งแน่ละ ประชาชนไม่มีอะไรไปสู้กับอำนาจ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่อำนาจจะปราบคนไม่ยอมรับไม่ศรัทธาได้หมด หรือกดไว้ได้ตลอดไป การปราบพลังคนรุ่นใหม่จะใช้ต้นทุนสูงมาก เพราะอาจต้องกวาดจับนักเรียนนักศึกษาเป็นพันๆ ต้องปิดกั้นสื่อออนไลน์ ไม่เพียงสูญเสียความชอบธรรม ความยุติธรรม จะยิ่งเกิดความปั่นป่วนทางสังคมทางเศรษฐกิจ จนวิบัติไปพร้อมกัน

แต่อำนาจที่ควบคุมประเทศอาจไม่แคร์อะไรสักอย่าง เหลือแต่ซาก เหลือแต่ความพังพินาศ ก็ต้องรักษาอัตลักษณ์ของชาติไว้

ช่วงต่อไปนี้จึงเป็นหัวเลี้ยวสำคัญ ว่าประเทศจะมีหนทางคลี่คลาย หรือไปสู่ยุคมืด มิดมิดยิ่งกว่าที่ผ่านมา แล้วผู้คุมอำนาจพาเราลงเหวไปด้วยกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน