คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

สภาเทคนิค – น่าเสียดายแต่ไม่เหนือความคาดหมายว่าการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ ไม่ได้เป็นที่คาดหวังตั้งแต่ต้น ว่าจะช่วยให้สถานการณ์ความขัดแย้งของกลุ่มคนในบ้านเมืองคลี่คลายได้

จุดสำคัญมาจากท่าทีของรัฐบาลที่คุมทั้งเสียงพรรครัฐบาลราว 250 เสียง และยังมีคะแนนบวกมาจากสมาชิกวุฒิสภาอีกถึง 250 เสียง

การคุมเสียงอย่างเด็ดขาดด้วยลักษณะดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักด้านหนึ่งของความขัดแย้ง ณ วันนี้

เพราะเสียงที่มากล้นในรัฐสภาไม่สามารถสะท้อนเสียงส่วนใหญ่ที่แท้จริงและไม่เป็นตัวแทนประชาชนในสัดส่วนที่ควรจะเป็น

เพียงชนะในเชิงเทคนิคที่วางไว้ในรัฐบาลจากการก่อรัฐประหารเท่านั้น

การใช้เสียงข้างมากทางเทคนิคดังกล่าวก่อให้เกิดบรรยากาศอึดอัดและคับข้องใจในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

กระทั่งกลายเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล รวมถึงข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก

แม้นายกฯ ประกาศแล้วว่าไม่ลาออก พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิด เนื่องจากมาตามเส้นทางการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง

แต่กติกาและกลไกที่วางไว้ชัดเจนในช่วงรัฐบาลคสช. โดยเฉพาะการดำรงอยู่ของส.ว.ที่ไม่ใช่ตัวแทนประชาชน ไม่อาจซ่อนเร้นเป้าหมายการสานต่ออำนาจที่ยึดไปจากประชาชนตั้งแต่ปี 2557

ทุกคนเห็น ทุกคนรู้ และทุกคนทราบว่า เส้นทางนี้ย่อมทอดไปสู่ทางตัน เพียงแต่จะยอมรับ หรือจะใช้การเอาชนะทางเทคนิคไปวันๆ เท่านั้น

หากยอมรับความจริงว่า รัฐสภาที่มีส.ว.ทั้ง 250 เสียงไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับซ้ำเติม ควรเลือกทางออกด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบที่ผิดให้เป็นถูก

ไม่ใช่เอาชนะทางเทคนิคเพื่อจะชนทางตันต่อไป โดยไม่สนใจเสียงประชาชนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล

ที่สำคัญคือต้องไม่ฉวยความได้เปรียบจากกติกาที่สร้างขึ้นเองกล่าวหาให้ร้ายกลุ่มคนที่กำลังเรียกร้องความชอบธรรม และการให้เกียรติประชาชนอย่างเท่าเทียม

อย่าทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาอย่างที่เคยใช้กล่าวหาพรรคการเมืองที่ชนะขาดในการเลือกตั้ง เพราะการใช้กลวิธีแบบนี้จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน