FootNote:อุบัติแห่งกรรมการสมานฉันท์ กับสถานะ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หากการขานรับเข้าร่วม “คณะกรรมการสมานฉันท์” จากนายอานันท์ ปันยารชุน จาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชวะ ปรากฏเป็นจริง
ต้องนับว่าเป็นโชคดีอย่างสูงสุดสำหรับการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เพราะเท่ากับว่าในท่ามกลางปัญหาอันกำลังบานปลายกลายเป็นวิกฤต อยู่ๆ นายชวน หลีกภัย ก็เชื้อเชิญ 3 อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาทำหน้าที่ในการช่วยเหลือให้คำปรึกษา
หากรวม นายชวน หลีกภัย เข้ากับ นายอานันท์ ปันยารชุน เข้ากับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เข้ากับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เท่ากับได้ 4 อดีตนายกรัฐมนตรีมาแวดล้อม
ยิ่งหากมีการขยับเข้าไปยัง”อดีต”ประธานสภา ไม่ว่า นายอุทัย พิมพ์ใจชน ไม่ว่า นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ไม่ว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เข้ามาอีก
ยิ่งทำให้วิถีดำเนินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อบอุ่นและมั่นคงแข็งแกร่งขึ้นเป็นทวีคูณ
ในท่ามกลางความอบอุ่นและมั่นคงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในอีกด้านก็นำไปสู่คำถามที่จะต้องบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอนว่า เหตุปัจจัยอะไรทำให้ต้องเกิด”คณะกรรมการสมานฉันท์”
คำตอบ 1 ซึ่งตรงอย่างที่สุดก็คือ เพราะว่าได้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกในทางความคิด
รูปธรรมหนึ่งก็คือ ปรากฏการณ์แห่ง” คณะราษฎร 2563″
รูปธรรมหนึ่งก็คือ ข้อเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง ตามมาด้วยข้อเสนอให้ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ใหม่เนื่องจากเป็นต้นตอแห่งปัญหา
คำถามทั้งหมดนี้จึงแวดล้อมอยู่โดยรอบตัวของรัฐบาล โดยรอบตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวบยอดแล้วก็คือปัญหามีจุดเริ่ม มาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ปมเงื่อนอยู่ตรงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เคยยอมรับว่าตนเองเป็นปัญหาและยืนกระต่ายขาเดียวไม่ลาออก
อุบัติแห่ง”คณะกรรมการสมานฉันท์” วิถีดำเนินแห่ง”คณะกรรมการ สมานฉันท์” จึงเป็นเอกภาพแห่งด้านตรงกันข้าม และยากเป็นอย่างยิ่งในการหาบทสรุปอันเป็นทางออก
นั่นก็คือจะพูดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไร
นั่นก็คือจะทำอย่างไรให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับว่าปัญหามีรากฐานมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา