คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

พลังราษฎร – สงสัยบ้างหรือไม่ว่า สถานะของ “ม็อบมุ้งมิ้ง” เปลี่ยนมาถึง ณ วันนี้ได้อย่างไร

หากนับจากการปรากฏตัว ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม กับ การปรากฏตัว ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 8 พฤศจิกายน

ต้องยอมรับว่าเปลี่ยนจาก “หน้ามือ” เป็น “หลังมือ”

ในเชิงปริมาณ เมื่อเดือนกรกฎาคม มีคนเข้าร่วมเพียง “เรือนพัน” แม้จะมากเป็นอย่างยิ่งหากนับจากหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แต่ก็ถือว่ายังน้อยนิด

และ “สื่อ” ก็แทบไม่ได้ให้ความสนใจ

ตรงกันข้ามกับสถานการณ์การชุมนุมตลอดทั้งวันของวันที่ 8 พฤศจิกายน

สื่อให้ความสนใจตั้งแต่การปรากฏขึ้นของขบวนการ ซีไอเอ เมื่อเวลา 12.00 น. พร้อมกับรถปราศรัยที่มิได้ใหญ่โตอะไรนัก

ยิ่งเมื่อเคลื่อนขบวนไปยังท้องสนามหลวงยิ่งให้ความสนใจ

อาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มเคลื่อนขบวนในเวลา 17.00 น. สื่อได้มีการถ่ายทอดสดไม่ว่าจะเป็นไลฟ์ทางออนไลน์ หรือแม้กระทั่งสื่อโทรทัศน์ตามปกติ

เนื่องจาก “สาส์น” อันมาจาก “ราษฎร” นั้นมีความสำคัญ

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมนั่นแหละคือเส้นแบ่ง

เพราะหลังประกาศก็เข้าสลายการชุมนุม ณ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับการจับกุม ทนายอานนท์ จับกุม เพนกวิน จับกุม รุ้ง ปนัสยา

ยิ่งกว่ายังฉีดน้ำผสมสารเคมีสลายการชุมนุมที่ปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคม

การตัดสินใจในวันที่ 15 และ 16 ตุลาคม นั้นเองไม่เพียงแต่ทำให้การชุมนุมเติบใหญ่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นที่ใด หากยังได้รับความสนใจจาก “สื่อ”

ข่าวการชุมนุมได้ขึ้นหน้า 1 และมีการถ่ายทอดสด

มาถึง ณ วันนี้ การชุมนุมได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาอย่างปกติในสังคมไทย

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ข้อเสนออันมาจากผู้ชุมนุมยังได้กลายเป็นประเด็น สามารถยึดครองพื้นที่ข่าว พื้นที่ทางความคิด ทั้งระดับรัฐบาลและมีการถกเถียงอยู่ในรัฐสภา

กลายเป็นวาระทางการเมือง กลายเป็นวาระแห่งชาติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน