รายงานพิเศษ

ส่องทิศทางสภาถกแก้รธน.7ญัตติ – วันที่ 17-18 พ.ย. รัฐสภาจะพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน รวม 7 ฉบับ

ซึ่งเป็นเงื่อนไข 1 ใน 3 ของผู้ชุมนุม

การพิจารณาร่วมของ 2 สภา จะมีร่างฉบับใดผ่านบ้าง หรือตกไปทั้งหมด และผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร

มีมุมมองจากนักวิชาการ และตัวแทนของรัฐบาล ฝ่ายค้าน

สุทิน คลังแสง

รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน

คาดเดายากว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ท่าทีของส.ว.ก็ยังไม่ตกผลึกเท่าที่ควร ยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้ส.ว.ยังโลเล เช่น สถานการณ์บ้านเมือง รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการเคลื่อนไหวชุมนุมกดดันมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจน เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ส.ว.ยังโลเล

ส่วนตัวมองว่าญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลมีโอกาสผ่านเป็นลำดับแรก จากนั้นจะเป็นญัตติที่นำเสนอโดยฝ่ายค้านในส่วนของการแก้ไข มาตรา 256 ที่เรามั่นใจเพราะมีหลักการเดียวกันกับญัตติของรัฐบาล จึงไม่มีเหตุผลหากที่ประชุมรับร่างของรัฐบาลแล้วจะไม่รับร่างของฝ่ายค้าน และยากจะหาเหตุผลมาอธิบาย

ต่อมาคือญัตติที่เสนอโดยไอลอว์ ซึ่งมีทั้งปัจจัยบวกและลบ ปัจจัยบวกร่างนี้เสนอโดยภาคประชาชน ซึ่งนักการเมืองต้องให้ความเคารพไม่มากก็น้อย ถ้าจะไม่ให้ผ่านก็ต้องหาคำอธิบายที่ดีพอสมควรเช่นกัน ปัจจัยลบคือหลักการของร่างขัดกับร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงขึ้นกับสถานการณ์ รวมถึงการส่งสัญญาณจากพล.อ.ประยุทธ์

ส่วนอีก 4 ญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอแก้เป็นรายมาตรา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.ให้ความสนใจน้อย โอกาสจะผ่านจึงยาก

แต่หากร่างไม่ผ่านทุกฉบับ ยุ่งแน่ น่าเป็นห่วงมาก จะทำให้ความหวังของคนในประเทศดับวูบลง มองไม่เห็นทางออก ประเทศเดินหน้าต่อไม่ได้ จะกลายเป็นปัญหาหนัก แต่ถ้าญัตติผ่านบ้าง ไม่ผ่านบ้าง ตามที่ปรากฏเป็นข่าว คือถ้าญัตติแก้ไข มาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านผ่าน ญัตติของไอลอว์ไม่ผ่าน เชื่อว่าสถานการณ์จะเบาลง ไม่มีเหตุรุนแรง เพราะทุกคนยังมีความหวังว่าอย่างน้อยสองญัตติสามารถนำไปสู่การตั้งส.ส.ร.ได้

มีช่องทางที่จะนำสาระและหลักการของร่างฉบับ ไอลอว์ที่ตกไป กลับเข้าไปพิจารณาในชั้นส.ส.ร.ได้ แต่ถ้าไม่มี ส.ส.ร.เลยก็จะถึงทางตันแน่นอน

ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีทั้งทำให้สถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถ้าเกิดผลอีกทางหนึ่ง สถานการณ์ประเทศจะเข้าสู่ภาวะตีบตัน จึงเป็นไปได้ทั้งสองทาง

ส่วนที่ ส.ส.พลังประชารัฐบางส่วนผนึกส.ว.ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างรัฐธรรมนูญกรณีตั้งส.ส.ร.ขัดรัฐธรรมนูญนั้น ทำให้เราสงสัยในเจตนารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์พูดในสภา ประกาศชัดเจนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเสร็จภายใน ธ.ค. แต่อีกด้านให้ ส.ส.และ ส.ว.กระทำสวนทางกัน

ไม่มีใครเชื่อหรอกว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสั่งหรือห้าม ส.ส.และส.ว.ไม่ได้ ปัญหาจึงอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพูดออกมาให้ชัดว่าจะเอาอย่างไร

 

ยุทธพร อิสรชัย

ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มสธ.

เนื่องจากก่อนหน้านี้เดือนก.ย.ก็มีความพยายามตั้งกมธ.ศึกษา ทำให้สังคมมองว่าเป็นเรื่องของการยื้อเวลาแก้ไข กระทั่งวันนี้ก็ไม่มีผลออกมาสู่สาธารณะอย่างชัดเจนว่าตกลงแล้วผลการพิจารณาเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันมี 72 ส.ส. ส.ว. เข้าชื่อผลักดันยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องการตั้งส.ส.ร.

เมื่อเห็นลักษณะเกมการเมืองอย่างนี้แล้ว โอกาสที่จะผ่านหรือไม่ผ่านมีเท่าๆ กัน 50:50

ที่จริงสังคมตกผลึกแล้วว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ควรแก้ไข แต่การแก้ไขเกิดยากมากเพราะเงื่อนไขมาตรา 256 กำหนดให้มีทั้งส.ส. ส.ว. เห็นชอบทั้งวาระที่ 1 และวาระ 3 หมายความว่าฝ่ายรัฐบาลซึ่งถือเสียงข้างมากในสภาต้องสนับสนุน ประกอบกับ ส.ว.

ส.ว.ชุดแรกมาจากบทเฉพาะกาลที่แต่งตั้งโดยคสช. สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสที่เสียงของรัฐบาล และแกนหลักคือพรรค พลังประชารัฐ กับ ส.ว. จะเห็นสอดคล้องต้องกันมีความเป็นไปได้สูง

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลแสดงออกถึงความจริงจัง ตั้งใจ ในการแก้ไขก็จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการชุมนุมนอกสภา แต่เมื่อเกิดการพยายามดึงเรื่องเป็นคำรบที่สอง หลังจากเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 24 มิ.ย. ทำให้การเมืองเป็นเงื่อนปมที่ถูกสะสมเพิ่มขึ้น เป็นประเด็นให้การแก้ความขัดแย้งต่างๆ ยากและซับซ้อนมากขึ้น

ยิ่งถ้าร่างแก้ไม่ผ่านสภาเลยก็มีโอกาสทำให้สถานการณ์ยิ่งประทุ อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม และตรงนี้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเปิดเวทีการมีส่วนร่วม

แต่ถ้าร่างแก้ไขไม่ผ่าน การเปิดเวทีไม่เกิด โอกาสจะเห็นสถานการณ์ไปในทิศทางลบมากขึ้นก็เป็นไปได้ เพราะวันนี้แม้แต่การเปิดเวทีพูดคุยก็ยังไม่มี แล้วถ้ารัฐธรรมนูญซึ่งควรจะเป็นเวทีของการมีส่วนร่วมไม่เกิดขึ้นอีก ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการนำไปสู่การเมืองโดยมวลชน ซึ่งผมเรียกว่า มวลชนาธิปไตย ก็จะเกิดขึ้น และมีโอกาสเผชิญหน้าของมวลชนแต่ละกลุ่ม

ฉะนั้นวันนี้เวทีรัฐธรรมนูญ คือเวทีของการมีส่วนร่วมที่ต้องเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามาได้อย่างกว้างขวาง

ร่างแก้ไขในญัตติของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ในญัตติ 1 และ 2 เป็นญัตติที่จะนำไปแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 และนำไปสู่การตั้งส.ส.ร. คิดว่าโอกาสที่รัฐสภาจะผ่านคือ 2 ร่างนี้

ส่วนญัตติที่ 3-6 เป็นญัตติที่ว่าเรื่องการแก้มาตรา 272 ปิดสวิตช์ส.ว. การใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ การห้ามคสช.จัดให้มีประกาศ-คำสั่งที่ถูกรับรอง การผ่านคงเป็นไปได้ยาก

เช่นเดียวกับญัตติที่ 7 ของไอลอว์ที่เพิ่มเข้ามา คิดว่ายากมากเพราะญัตตินี้เสนอแก้ในหลายประเด็น

ทั้ง 7 ญัตติ ญัตติที่ 1 และ 2 เป็นจุดร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน แต่ต่างกันอยู่ในเรื่องเทคนิคและวิธีการได้มาซึ่งส.ส.ร. ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกญัตติยังให้น้ำหนักอยู่ที่ 50-50 แต่ญัตติที่ 1,2 น่าจะมีโอกาสมากกว่าญัตติอื่น

ถ้าไม่มีร่างไหนผ่านเลย พรรคประชาธิปัตย์ที่ใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขร่วมรัฐบาลควรทบทวนการร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น พรรคประชาธิปัตย์มีภารกิจสองอย่างคือการร่วมรัฐบาลและสร้างผลงาน โดยนำไปสู่การฟื้นฟูเรื่องความนิยม ความเชื่อมั่นของพรรค

ภารกิจทั้งสองอย่างนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเล่นบทหรือมีท่าทีทางการเมืองในลักษณะทั้งดึงและผลัก จึงเห็นบทบาทของแกนนำพรรคสนับสนุนรัฐบาล ขณะที่บุคคลในพรรคหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ เป็นต้น

แต่อย่าลืมว่าหนึ่งในเงื่อนไขที่เข้าร่วมรัฐบาลก็คือการแก้ไขธรรมนูญด้วย ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ต้องมีจุดยืนเรื่องนี้

องอาจ คล้ามไพบูลย์

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ร่างที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะออกมาอย่างไร คงประเมินไม่ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละพรรคและส.ว.จะลงคะแนนอย่างไร แต่ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะนัดประชุม ส.ส.วันที่ 16 พ.ย. เพื่อปรึกษาหารือว่าส.ส.คิดเห็นอย่างไรในร่างที่เสนอแก้ไขแต่ละร่าง และเสียงส่วนใหญ่จะสนับสนุนร่างไหน

พรรคจะฟังเสียงส่วนใหญ่ของส.ส.เป็นหลัก เห็นว่าควรไปทางไหนก็ไปทางนั้น แต่คงไม่ถึงขั้นลงมติ ยกเว้นเสียงก้ำกึ่งกัน ขณะเดียวกันก็ต้องฟังเสียงจากวิปรัฐบาลด้วยว่าเห็นอย่างไร ในฐานะที่เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

ส่วนแนวโน้มทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านจะเห็นชอบเฉพาะ2ร่างที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 256 และจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น เนื่องจาก 2 ร่าง ดังกล่าว มีมานานหลายเดือน และผ่านการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภามาแล้ว ตรงนั้นในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์มีมติให้ลงมติเห็นชอบใน 2 ร่างไปแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีร่างของไอลอว์เข้ามาจึงยังไม่มีเนื้อหา ดังนั้นในวันที่ 16 พ.ย.ที่ประชุมส.ส.พรรค จะพิจารณาร่างไอลอว์ด้วยว่าเป็นอย่างไร และจะสนับสนุนหรือไม่ เพราะตอนนี้เรายังไม่เห็นเนื้อหาของร่างดังกล่าว ซึ่งต้องฟังเสียงจากส.ส.เป็นหลัก และฟังจากวิปรัฐบาลด้วย

ร่างแก้ไขทั้งหมดจะผ่านกี่ร่างขึ้นอยู่กับเหตุผล ต้องชี้แจงต่อสาธารณชนให้ได้ เชื่อว่าทุกฝ่ายต้องมีเหตุผล และมั่นใจส.ว.แต่ละคนมีเอกสิทธิ์ที่จะพิจารณา และหากส.ว.ไม่ให้ผ่านก็ต้องตอบคำถามสาธารณชนให้ได้ว่าเพราะอะไร ต้องไม่ลืมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นที่สนใจของสาธารณชน

เชื่อว่า ส.ว.จำนวนไม่น้อยน่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ เห็นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก โดยเฉพาะสถานการณ์ในปัจจุบันควรพิจารณาให้รอบคอบเป็นพิเศษ หากพิจารณาโดยคำนึงถึงเหตุผลเพียงด้านใดด้านหนึ่งอาจไม่เพียงพอ ต้องมีหลายด้านมาประกอบการตัดสินใจ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมอย่างถ่องแท้

ส่วนท่าทีของพรรคพลังประชารัฐที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่จริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้านี้ก็เสนอตั้งกมธ.ขึ้นมาพิจารณาก่อนรับหลักการ มาวันนี้ร่วมกับส.ว.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างที่ตัวเองลงชื่อเสนออีก ก็เป็นเอกสิทธิ์ของส.ส., สว. ที่จะยื่นตีความ

แต่ต้องไม่ลืมสถานการณ์การเมือง ปัจจุบันการสร้างความไว้วางใจจะมีส่วนแก้ความขัดแย้ง ประเทศเดินหน้าได้ ในขณะที่การยื่นให้ตีความครั้งนี้ก่อให้เกิดความไม่ใว้วางใจเพิ่มขึ้น

เพราะการพิจารณา 6 ร่างแรกจะลงมติกันอยู่แล้ว อยู่ดีๆ ก็ให้ตั้งกมธ.พิจารณาก่อนรับหลักการ ทำให้เกิดความไม่วางใจขึ้นมาทันที่ว่าแกนนำรัฐบาลกำลังเล่นเกมอะไรอยู่ ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น และเป็นเงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาล

ส่วนการทบทวนท่าทีของพรรคนั้นเราจะรอดูความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นก่อนดีกว่าว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน