สัมภาษณ์พิเศษ

ฟันธงปีนี้รัฐบาล‘บิ๊กตู่’ฝีแตกนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ประเมินสถานการณ์การเมืองปี 2564 ศึกซักฟอกที่พุ่งเป้าไปที่ 3 ป โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม การทำงานของพรรคฝ่ายค้านและการเดินหน้าผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

มองว่าสถานการณ์การเมืองปี 64 มีทิศทางเป็นอย่างไร

วิเคราะห์จากต้นปี สิ่งที่รัฐบาลต้องเจอเรื่องแรก คือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งฝ่ายค้านมีข้อมูลในระดับที่สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจได้แล้ว คาดว่าช่วงต้นเดือน ม.ค. เราจะสรุปประเด็นทั้งหมดในกลุ่มของพรรคร่วมฝ่ายค้านเอง และจะยื่นญัตติช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค. จากนั้นประธานสภาจะใช้เวลาพิจารณาญัตติไม่เกิน 15 วัน และจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลช่วงกลางเดือน ก.พ.

ต่อมาคือเรื่องของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นมรสุมใหญ่ ขณะนี้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ตอนนี้ก็ยัง ไม่มีท่าทีจะจบลงง่ายๆ แถมยังมีสมาชิกของฝ่ายรัฐบาล ไปร่วมกับ ส.ว.ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องไปทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนแก้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น

เมื่อดูท่าทีของฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจนว่าอยากแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ดูแล้วเหมือนไม่อยากให้แก้มากกว่า เมื่อรัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้หรือแก้ช้า จะส่งผลให้สถานการณ์การเมืองตึงเครียดขึ้น เพราะประชาชน พรรคการเมือง รวมทั้งผู้ชุมนุมต่างเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ไข

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งที่รัฐบาลทำไป เช่น โครงการคนละครึ่งหรือเงินช่วยเหลือต่างๆ เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่ได้ส่งผลต่อจีดีพีรวมของประเทศเลย คิดเป็นเม็ดเงินน้อย ได้อารมณ์เพียงชั่วคราวว่า รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ไม่มีผลต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เมื่อสิ่งเหล่านี้หมดไป ปัญหาที่จะตามมาคือเรื่องการลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ภาคการท่องเที่ยวที่สะดุด ไม่กระเตื้องขึ้นเลย

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะคลุมไปตลอดปีนี้และจะลามไปถึงปี 65 คาดว่าจะเป็นตัวที่ทำให้การทำงานของรัฐบาลมีข้อจำกัดมาก แม้ดูเหมือนสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจะคุมได้ แต่ภาคการลงทุนไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะหนี้สาธารณะต่อจีดีพีวันนี้อยู่ที่ 59 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ไม่ควรเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ถ้ารัฐบาลไม่คิดอะไรใหม่ๆ ปัญหานี้จะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้

พูดง่ายๆ เลยว่าอาจมีคนออกมาไล่ เพราะรัฐธรรมนูญก็เหมือนไม่อยากแก้ ปัญหาเศรษฐกิจก็รุมเร้า ปัญหาการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ก็เหมือนไม่อยากทำสักข้อ แค่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่ส่งผลกระทบต่อใคร ก็ไม่ส่งสัญญาณที่จะแก้แถมยังไม่สร้างบรรยากาศอีก

ดังนั้นปี 64 ไม่ใช่ปีที่ดีของรัฐบาล ผมคิดว่าถ้ารัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้จริงๆ จะกลายเป็นความขัดแย้งของคนในสังคม เพราะทุกฝ่ายทั้งประชาชน นักวิชาการ นักการเมือง ต่างยอมรับว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ทำประเทศล้าหลัง แม้แต่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เคยพูดไว้

ดังนั้น ถ้ายังไม่แก้รัฐธรรมนูญก็จะถึงทางตัน คนออกจะมาไล่รัฐบาลแน่นอน และถ้ารัฐบาลจริงใจ เมื่อแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องไม่ใช้เวลานานเกินไป ไม่ใช่เตะถ่วงเอาคนออกมาคัดค้าน ต้องทำประชามติหลายรอบ หากเป็นแบบนี้ต้องใช้เวลาแก้รัฐธรรมนูญเกิน 1 ปี เพราะแค่พิจารณาให้มีการแก้ไขและตั้ง ส.ส.ร. เมื่อตั้ง ส.ส.ร.แล้วต้องมีการพิจารณา ทีละมาตรา รัฐธรรมนูญมีเกือบ 300 มาตรา

ดังนั้น หากใช้เวลานานเป็นปี รัฐบาลต้องบอกไทม์ไลน์ให้ชัด และควรประกาศยุบสภา เพื่อใช้กติกาใหม่ ปีนี้จึงไม่ใช่ปีที่สดใสของรัฐบาล

หากแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ จะเกิดการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ความรุนแรงหรือไม่

รัฐธรรมนูญจะเป็นประเด็นหลัก เพราะระหว่างการพิจารณามาตราต่างๆ จะมีประเด็นที่คนไม่เห็นด้วยและลงถนนแน่ เช่น มาตรา 272 ที่ให้ ส.ว.โหวตนายกฯ หากพิจารณาแล้วยังคงเดิม ผู้ชุมนุมไม่ยอมแน่ จะเป็นเหตุให้ ผู้ชุมนุมพูดได้ว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย

หรือเรื่องปฏิรูปประเทศ โลกเปลี่ยนไปทุกวันแต่ต้องมายึดแผนนี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยพูดเหตุผลแล้วก็ฟังขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลยังดื้อดึงก็จะเป็นประเด็นลงข้างถนนอีก

แก้เกมอย่างไรให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน เมื่อเสียงฝ่ายค้านใน กมธ.น้อยกว่า

มือเราไม่เท่าเขา ห่างกันเยอะด้วย แต่การแก้รัฐธรรมนูญควรใช้เหตุและผลเป็นหลักมากกว่าการใช้มือ เพราะเป็นกฎหมายใหญ่ของประเทศ เรื่อง ส.ส.ร.มีประเด็นว่าจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือจะมาจากการเลือกตั้ง 150 คนและแต่งตั้งอีก 50 คนตามร่างของรัฐบาล

ฝ่ายค้านแปรญัตติว่ามาจากเลือกตั้งทั้งหมด เพราะไม่อยากเห็นการแทรกแซงหรือชี้นำ เรามั่นใจว่า 50 คนที่แต่งตั้ง เข้ามาถูกชี้นำได้ ก็เหมือน ส.ว.ที่แต่งตั้งเข้ามาถามว่าอิสระหรือไม่ ดูเวลาโหวตเป๊ะเหมือนกันหมด ดังนั้นหาก ส.ส.ร.เลือกตั้งเข้ามาทั้งหมดก็จะมาจากเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง

อีกเรื่องคือการผ่านวาระรับหลักการวาระ 1, 2 และ 3 ก็เป็นประเด็นถกเถียงกัน วันนี้จะใช้เสียง 3 ใน 5 ก็มีคนเสนอแปรญัตติใช้เสียง 2 ใน 3 และต้องมีเสียง ส.ว. 1 ใน 3 ด้วยซึ่งยากขึ้น หินขึ้นไปอีก

ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายใหญ่ แต่ก็ไม่ควรจะถึงขั้นแก้ยากหรือแก้ไม่ได้ หาก ส.ว.มาจากการเลือกตั้งก็ยังพอรับฟังได้เพราะเป็นอิสระที่แท้จริง แต่อย่าลืมว่า ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง

ดูท่าทีแล้วเหมือนจะแก้ไม่ได้เลย ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นทางออกทางหนึ่ง ก็ควรจะหาช่องออก แต่เมื่อเราแพ้มือ เราทำได้เพียงให้ภายนอกมากดดัน กมธ.รวมทั้งรัฐสภา ต้องฟังเสียงประชาชน รวมทั้งนักวิชาการที่แสดงความเห็นด้วย อย่าใช้วิธีพวกมากลากไปอย่างเดียว

แนวทางการทำงานร่วมกันของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

เริ่มจากการยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้คุยกันแล้วและมีมติเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าต้องยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 ก.พ.

ช่วงต้น ม.ค. หลังจากฝ่ายค้านพูดคุยกำหนดวันยื่นญัตติ 27 ม.ค. จากนั้นจะมีการหารือพูดคุยกันในประเด็นต่างๆ ที่จะใช้อภิปรายว่าพรรคไหนมีเรื่องอะไร ซ้ำกันหรือไม่ จะบูรณาการร่วมกันว่าใครจะเป็นเจ้าภาพเรื่องไหน พรรคไหนมีหลักฐานเด็ดกว่าก็จะได้สิทธิในการอภิปราย ประเด็นจะได้ไม่ซ้ำและไม่เสียเวลาด้วย

เมื่อประธานสภาบรรจุระเบียบวาระไม่เกิน 15 วัน คาดว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ไม่เกินวันที่ 15 ก.พ.

ประเด็นซักฟอกของพรรคเพื่อไทย ที่จะเป็นหมัดน็อกรัฐบาล

บอกไม่ได้จริงๆ ยังเป็นความลับ เดี๋ยวรัฐบาลจะตั้งหลักทัน แล้วจะมาหาว่าฝ่ายค้านไปฮั้วกับรัฐบาลอีก จึงยังไม่ขอตอบตอนนี้ แต่พอจะได้บอกได้ภาพกว้างๆ ว่า ประเด็นที่จะใช้ซักฟอกรัฐบาล เมื่อรวมกับของทางพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วมีประมาณ 7 ประเด็น โดยจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องด้วย

ส่วนที่มีหลายฝ่ายมองว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ทำงานไม่ลงรอยกันนั้น จริงๆ แล้ว หลายเรื่องเราก็เห็น พ้องกัน บางเรื่องเห็นต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดา เช่น เรื่องการลงมติในสภา หากเห็นต่างก็ฟรีโหวต เราเคารพการตัดสินใจ

ทั้งนี้ การเกิดของสองพรรคต่างกัน พรรคเพื่อไทย มาจากส.ส.เขตทั้งหมด 134 คน ขณะที่พรรคก้าวไกลซึ่งก็คือพรรคอนาคตใหม่ มี ส.ส. 82 คน จนมาเหลือ 50 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ การทำงานของ ส.ส.ทั้งสองกลุ่ม จึงแตกต่างกัน แต่ไม่เป็นปัญหา เราเป็นขั้วการเมืองที่มีแนวคิดไม่แตกต่างกัน

ประเมินว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ครบเทอม หรือไม่

เชื่อว่าไม่ครบเทอม เพราะฝีจะแตกในปีนี้ ปีที่แล้วปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ คนแทบทั้งหมดมองว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลยัง ดื้อดึงจะเหนื่อยมาก

ผมมองว่าพรรคร่วมรัฐบาลเองก็มีข้อขัดแย้ง ดูได้จากกรณีการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไป อีก 40 ปี โดยให้กระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องเข้า แต่ถูกคัดค้านเป็นเอกสารจากกระทรวงคมนาคม ซึ่งเรื่องนี้ก็ยัง หยุดนิ่งอยู่

ทั้งนี้ ที่ผมบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ได้ไม่นานนั้น เพราะในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยืนยันว่าเรามีหลักฐานเด็ด โดยเราจะไม่พูดหลายประเด็น ไม่ใช้ผู้อภิปรายจำนวนมากเหมือนครั้งก่อน และต้องเอาให้ตาย คืออภิปรายเสร็จ จะยื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบต่อทันที เหมือนที่ผมอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องบ้านพักหลวง จากนั้นก็ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อทันที

พรรคเพื่อไทยยืนยันจะส่งสมัครผู้ว่าฯ กทม.อยู่หรือไม่

เรายังไม่ได้พิจารณาว่าจะส่งผู้สมัครหรือไม่ เพราะยังมีเวลา เนื่องจากช่วงเวลาที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นั้นก็ยังไม่ชัดเจน และมองว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านควรจะได้หารือกันในเรื่องนี้ ว่าควรจะส่งผู้สมัครในนามพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ เพื่อผนึกกำลังกันในการต่อสู้ จะได้ไม่ตัดคะแนนกันเองด้วย

กรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และแกนนำบางส่วนลาออกไป หลายฝ่ายมองว่าเพื่อไทยกำลังเลือดไหล มีผลกระทบหรือไม่

ที่มาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ตั้งก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 เน้นเลือกตั้ง ส.ส.เป็นหลัก ผ่านมาปีกว่าถึงมีเรื่องของยุทธศาสตร์มาเกี่ยวข้อง แต่ตอนนี้เรามี คณะกรรมการการเมือง ซึ่งครอบคลุมทุกด้าน รวมถึงเรื่องการเลือกตั้งด้วย คณะกรรมการชุดนี้ได้ผู้ใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมงานจำนวนมาก พร้อมขับเคลื่อนงานทุกภารกิจ และเน้นการกระจายอำนาจ

ที่ผ่านมาทุกอย่างไปรวมศูนย์อยู่ที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ครั้งนี้หากเป็นเรื่องวิชาการ จะเป็นนายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคดูแล ถ้าเป็นเรื่องกิจการสภา ก็เป็นนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ฐานะประธานวิปฝ่ายค้านดูแล ทำให้การทำงานง่ายขึ้น

หลังจาก คุณหญิงสุดารัตน์ ลาออกไปแล้ว ในจดหมายไม่ได้ระบุเหตุผลการลาออก ตอนนี้เวลาล่วงเลยมาพอสมควรก็ไม่เคยออกมาพูดต่อสาธารณะถึงเหตุผล รวมทั้งทางเดินและการกำหนดบทบาทในอนาคต ต้องดูว่าท่านจะตั้งพรรคใหม่หรือไม่ เรื่องนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน