FootNote : มาตรการฟ้องปิดปาก ประชาชน บานปลาย ฟ้องร้อง “ออทิสติก”

อาการเมาหมัดทางการเมืองอันมีจุดเริ่มมาจากข้อเรียกร้องที่ให้ประชาชน “ล็อกดาวน์” ตนเองเป็นเวลา 14 วัน กระทั่งบานปลายกลายเป็นคดีความโยงไปยัง “ออทิสติก”
กำลังกลายเป็น “กรณีศึกษา” ทางการเมืองอันแหลมคมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
เพราะตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้องมิได้มีแต่ ส.ส.คนดังของพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น หากแต่ยังมีดาราขวัญใจวัยรุ่น หากแต่ยังมีทนายความ หากแต่ยังสมาคมผู้มีลูกเป็นออทิสติก
พลันที่ ส.ส.คนดังของพรรคพลังประชารัฐปรารภที่จะค้าความไม่ว่าต่อดาราขวัญใจวัยรุ่น ต่อทนายความและต่อสมาคมผู้มีลูกเป็นออทิสติกก็ต้องยอมรับว่าจะกลายเป็นเรื่องบานปลายแน่นอน
แม้เป้าหมายการฟ้องร้องเช่นนี้จะเป็นความถนัดอย่างยิ่งของนักการเมืองที่ต้องการจะปิดปากคู่กรณี แต่เมื่อมาเป็นเรื่องของโควิด เป็นเรื่องของล็อกดาวน์ที่คิดว่าง่ายๆอาจไม่ง่ายๆเสียแล้ว
เพราะในที่สุดแล้วเรื่องนี้ก็จะต้องโยงไปยัง “ครูอังคณา” หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจนได้

ท่วงทำนองการฟ้องปิดปากอาจเป็นกระบวนท่าหนึ่งซึ่งไม่เพียงแต่นักการเมืองในปีกของรัฐบาลจะถนัดในการงัดมาใช้เป็นอาวุธ เป็น เครื่องมือต่อฝ่ายตรงกันข้าม
หากแม้กระทั่งรัฐบาลเองก็ใช้กระบวนท่านี้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากกรณีการฟ้องร้องมาตรา 112 และมาตรา 116
ไม่ว่าจะกรณีของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ไม่ว่าจะกรณีของ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ภายหลังสถานการณ์รัฐประหาร ยืดเยื้อ ยาวนานกระทั่งในที่สุดศาลสถิตยุติธรรมก็ยกฟ้อง
กระนั้น ในกรณีที่ใช้กระบวนท่านี้เพื่อปิดปากนักการเมือง นักเคลื่อนไหวสังคมอาจเห็นเป็นขนมพอสมกับน้ำยา แต่เมื่อนำมาใช้กับชาวบ้านหรือกลุ่มคนที่มีลูกเป็นออทิสติกก็อาจไม่ใช่เสียแล้ว
แทนที่จะได้รับเสียงสนับสนุนกลับอึงคนึงด้วยเสียงไม่เห็นด้วย
และยิ่งเป็นกรณีอันมีจุดเริ่มมาจากคำพูดของนายกรัฐมนตรียิ่งเห็นชัดถึงการพยายามปกป้องที่ขาดความชอบธรรม

ต้องยอมรับว่าจุดเริ่มมาจากคำพูดของนายกรัฐมนตรีในเรื่องการเรียกร้องให้ประชาชนล็อคดาวน์ตนเอง ขณะที่ปฏิกิริยาของดาราวัยรุ่นแยกจำแนกระหว่างข้าราชการกับประชาชน
เป็นการวิพากษ์วิจารณ์จากมุมของประชาชนอันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องผิดในสังคมประชาธิปไตย

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน