คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การทูตพลาด? – เสียงวิจารณ์เชิงกล่าวหาว่า ชักศึกเข้าบ้าน มักถูกใช้บ่อยๆ โดยฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการตำหนิฝ่ายค้าน หรือนักกิจกรรมการเมืองที่ตีแผ่ประเด็นปัญหาทางการเมืองไทยสู่สื่อต่างประเทศ

แต่เหตุการณ์เปิดห้องที่ท่าอากาศยานทหาร บน.6 พบปะตัวแทนรัฐบาลทหารของเมียนมา เมื่อสัปดาห์ก่อนอาจทำให้ข้อกล่าวหานี้สลับ ฝั่งได้

เพราะขณะที่สื่อมวลชนไทยถูกปรามการพบปะดังกล่าว เช้ารุ่งขึ้น สื่อของทางการเมียนมานำเสนอข่าวอย่างเอิกเกริก จนมีประชาชนชาวเมียนมาจำนวนมากไปชุมนุมประท้วงหน้าสถานทูตไทยในนครย่างกุ้ง

ทางการไทยถูกมองว่าพยายามเอื้อให้รัฐบาลทหารเดินหน้าต่อไปได้ สวนทาง กับท่าทีของประชาคมโลก

 

เหตุการณ์สำคัญต่อมาที่เอกอัครราชทูต เมียนมาผู้ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลพลเรือนกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ยิ่งตอกย้ำถึงข้อเรียกร้องให้โลกร่วมกันต่อต้านคณะรัฐประหาร

แม้ว่าทูตคนดังกล่าวจะถูกกองทัพปลดในเวลาต่อมาตามความคาดหมาย แต่สารที่สื่อออกมานั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าสหประชาชาติและประเทศประชาธิปไตยยืนอยู่จุดใด

หากการทูตของไทยยังจับกระแสนี้ไม่ได้และถลำลึกไปยังเส้นทางเดิม จะยิ่งตอกย้ำถึงประวัติที่มาของบุคคลในรัฐบาลไทยที่เชื่อมโยงมาจากการรัฐประหารเช่นกัน

ศึกที่อยู่ใกล้ๆ บ้านจึงอาจทำให้ไทยติดร่างแหไปด้วย

 

แม้ว่าการส่งเสริมให้ชาติสมาชิกอาเซียนหาทางออกจากวิกฤตเป็นเรื่องที่เพื่อนสมาชิกควรต้องยื่นมือช่วยเหลือ แต่ขณะเดียวกันอาเซียนยึดถือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน

ฉะนั้นการแสดงออกทางการทูตจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ต้องพิจารณาว่าบุคคลระดับใดที่จะร่วมเจรจาลักษณะนี้ได้ และข่าวที่ออกสื่อจะเป็นลักษณะใด

ผลการเจรจาล่าสุดที่ไทยมีคนระดับนายกรัฐมนตรีไปพูดคุยเอง และภาพข่าวที่นำเสนอออกสื่อเมียนมานั้น ไม่เป็นผลดีใดๆ กับฝ่ายไทยเลย

โดยเฉพาะเมื่อหลังจากการพูดคุย เจ้าหน้าที่เมียนมากลับยกระดับการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมที่รุนแรงขึ้นทำให้ฝ่ายประชาชนสูญเสียมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน