รธน.เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ : รายงานพิเศษ

หมายเหตุ : สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดเสวนา หัวข้อ ‘รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์’ วันที่ 13 มี.ค. ที่ TCDC อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก กทม.

อนุสรณ์ ธรรมใจ

ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์

รัฐธรรมนูญไม่สามารถทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยได้ แต่สามารถเป็นกติกาสูงสุดที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประชาชน และรัฐบาล หากมีรัฐธรรมนูญที่มีพื้นฐานประชาธิปไตย ก็จะทำให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 อย่าหวังว่าบ้านเมืองนี้จะดีขึ้น

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยชัดว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนอำนาจการสถาปนาเป็นของประชาชน เราจะไม่สนใจเจตนาของ ส.ว. และส.ส.ที่ยุบพรรคตัวเองเพื่อไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

เมื่อวินิจฉัยว่ารัฐสภามีสิทธิแก้ไขได้ หมายความว่าวันที่ 17-18 มี.ค. รัฐสภาต้องเดินหน้าวาระ 3 จะแก้ได้หรือไม่ได้ไม่เป็นไร ถ้าส.ว.คว่ำก็จะได้รู้ว่าใครมีจุดยืนแบบใด และพรรคที่ประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่กลับไปร่วมตั้งรัฐบาลนั้น จะทำอย่างที่ประกาศไว้หรือไม่

แม้ว่าคนจำนวนมากคาดว่ารัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำสูงมาก แต่เราก็จะรณรงค์ สู้ต่อให้รัฐบาลทำประชามติ ถามประชาชนว่าต้องการรัฐธรรรมนูญหรือไม่

หากมองโลกในแง่ดีว่าจะมี ส.ว. 1 ใน 3 เปิดทางให้แก้รัฐธรรมนูญ เพราะเห็นแก่สังคมไทยไม่ต้องขัดแย้งอีก ก็ขอคารวะอย่างยิ่ง จะมีไม่มีหรือไม่ไม่ทราบ แต่หวังว่าจะมีคนแบบนี้อยู่บ้าง

ส.ว.ไม่ต้องรู้สึกผิด ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เลือกมาเป็นส.ว. เพราะได้ตอบแทนไปตอนเลือกเป็น นายกฯ แล้ว ต่อจากนี้ให้มาทำหน้าที่เพื่อประชาชนได้หรือไม่

สิ่งที่เราหวังไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน เพราะถ้าง่ายไทยคงเป็นประเทศเจริญไปนานแล้ว จึงขอเสนอร่างโมเดลการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญอีก เราจะฉลองกัน 7 วัน 7 คืน เหมือนคณะราษฎรที่ฉลองตอนมีรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมาจากตัวแทนประชาชนโดยตรง และเปิดเวทีหารือพูดคุยด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งจะลดความขัดแย้งลงมาก เยาวชนคนหนุ่มสาวที่ออกมาเรียกร้องก็มาช่วยกันได้ สิ่งสำคัญคือการกำหนดกรอบเวลา เพราะมีคนชอบซื้อเวลา

กรณีของเมียนมา ประชาชนเชื่อว่าถ้าไม่สู้จะไม่มีทางไม่เปลี่ยนแปลง การลิ้มรสประชาธิปไตย 4 ปี เขาได้เรียนรู้ว่าประชาธิปไตยให้โอกาสพวกเขามากที่สุด การต่อสู้ในเมียนมามีผลต่อประชาธิปไตยไทย หากพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ล้มลง พลังประชาธิปไตยในอาเซียนจะเข้มแข็ง บรรดานักรัฐประหารทั้งหลายจะได้รู้สึกว่า อย่าประมาทพลังประชาชน

เราจะไม่ยอมแพ้ต่อการเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเคลื่อนไหวและต่อสู้อย่างสันติ เพื่อให้ประเทศนี้เป็นของประชาชน ให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน ได้รับการสถาปนา ให้เกิดขึ้นภายใน 2 ปีนี้

วรรณภา ติระสังขะ

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

รัฐธรรมนูญอาจจะเป็นเครื่องมือในการสร้างประชาธิปไตย แต่อย่าถูกใครหลอกว่ามีรัฐธรรมนูญแล้วจะเป็นประชาธิปไตย สิ่งสำคัญคือ รัฐธรรมนูญต้องเป็นฉันทามติของคนในสังคม ปัญหาของเราคือไทยยังไม่มีฉันทามติว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหน

แม้ว่าจะมีคนพยายามพูด แต่ก็มีคนปิดปากไม่ให้พูด แต่ถึงเวลาที่จะพูดคุยกันว่า ฉันทามติของคนในสังคมคืออะไร เพราะรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดโครงสร้างทางการเมือง ที่จัดสรรและวางตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองไว้อย่างสมดุล

รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่สอดคล้องกับภูมิสังคมของประเทศ ไม่ปรับตัว ไม่ยืดหยุ่น และไม่อยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจกัน กลายเป็นเพียงกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้มีอำนาจว่าจะอธิบายอย่างไร ประชาชนจึงไม่ศรัทธา หรือรู้สึกว่าเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ รวมถึงไม่เกิดดุลอำนาจที่สมดุล

รัฐธรรมนูญในอนาคตควรออกแบบให้เป็นทั้งเครื่องมือที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ รัฐธรรมนูญต้องเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร มีเนื้อหาก่อให้เกิดสิทธิพลเมือง เคารพสังคมพหุนิยม ที่มีความคิดหลากหลาย

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน จะทำให้การฉีกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป

แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของนายปรีดี สามารถนำมาปรับใช้ได้ให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน เพราะนายปรีดีพูดเรื่องการสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ผ่าน 1.การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย 2.เศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย และ 3.สังคมวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย

การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย คือมีระบบการเลือกตั้งที่คัดสรรคนที่จะเป็นตัวแทนประชาชน มีองค์กรทางการเมืองที่มีดุลยภาพ ถูกตรวจสอบได้ ซึ่งรวมถึงศาลด้วย พรรคการเมืองสามารถทำให้เกิดประชาธิปไตยได้เพราะเป็นตัวเชื่อมนโยบายกับประชาชน การยุบพรรคจึงเป็นการทำลายอุดมคติบางอย่างของคนในสังคม

เศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย สอดแทรกในรัฐธรรมนูญได้ เช่น การเก็บภาษีหลายรูปแบบ ค่าแรงที่เพียงพอ การมีรัฐสวัสดิการและการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่วนสังคมวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย ความเป็นพลเมืองเท่ากันไม่ได้หมายความในเชิงกฎหมายเท่านั้น และควรเคารพความแตกต่างหลากหลาย

แนวคิดสำคัญคือการทำให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่เกิดจากการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตย ผ่านระบบกฎหมายภายใต้หลักนิติรัฐ ภายใต้การตรวจสอบ และภายใต้โครงสร้างทางอำนาจของรัฐธรรมนูญที่สมดุล เพื่อให้ดุลยภาพการเมืองเดินต่อไปด้วย

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

เรามาถึงทางแยกอีกครั้งหนึ่ง ทางหนึ่งนำไปสู่โอกาสในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย อีกทางคือการเดินกลับถอยหลังทำลายหลักการ และหาทางไปต่อลำบาก ซึ่งยังไม่รู้ว่าพวกเราจะเดินไปทางไหน

คำวินิจฉัยที่มีเงื่อนไขต้องทำประชามติ 2 รอบ รอบที่ 1 ถามก่อน ว่าจะให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ รอบ 2 เมื่อร่างฉบับใหม่แล้วประชาชนเห็นชอบหรือไม่ แต่ตามกระบวนการปัจจุบัน มาตรา 256 (8) กำหนดให้ต้องทำประชามติ หลังผ่านวาระที่ 3

และตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้ต้องทำประชามติหลัง ส.ส.ร.จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ และค่อยลงประชามติ ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ออกมา

ส่วนตัวเรื่องนี้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ก็มีคนบอกว่ามีปัญหา คำที่มีปัญหาคือคำว่าก่อน มีกลุ่มคนตีความได้ 2 แบบ กลุ่มแรกเห็นว่า ก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ กลุ่มที่สอง ก่อนเริ่มเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

มีคนกลุ่มหนึ่งเกือบ 250 คน ที่แสดงเจตจำนงชัดเจนว่าไม่ชอบ ส.ส.ร. เพราะมองว่าเป็นการตีเช็คเปล่าให้ไปเขียนอะไรก็ได้ รวมถึงหมวด 1 หมวด 2 คนพวกนี้ก็วนอยู่แค่ว่าห้ามแตะหมวด 1 หมวด 2 เด็ดขาด ตอนหลังขยายห้ามไม่ให้แตะบทบัญญัติพระราชอำนาจ 38 มาตรา เป็นสิ่งที่คิดไปเอง กลัวไปเองว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่แก้ไม่ได้ เพราะกลัวไปแตะเรื่องเหล่านั้น

อยากเรียนท่าน ส.ว.ที่จะลงประชามติวันที่ 17 มี.ค.นี้ อำนาจอยู่ในมือของท่าน ถ้าพวกท่านมั่นใจว่าเหตุผลนี้ฟังขึ้นจะลงมติโหวตได้เลย แต่ต้องอธิบายต่อประชาชนด้วย

และอย่าลืมร่างปัจจุบันกำลังจะให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่ว่าระบบการเลือกตั้งจะดีจะร้ายอย่างไร ไม่มีทางที่ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งจะเขียนให้พวกคนเหล่านี้มีชีวิตอยู่ในการเมืองไทยต่อไปได้ หรือเขียนให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งจาก คสช.ยังอยู่

พริษฐ์ วัชรสินธุ

ผู้ก่อตั้งเครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ดี ฉบับที่ก้าวหน้า ควรมีองค์ประกอบ 3 เสาหลัก หรือมี 3 ก้าว 1.ก้าวพ้นจากวิกฤต ทำอย่างไรให้กติกาสูงสุดของประเทศเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย 2.ก้าวสู่ประชาธิปไตย เป็นรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับหลักสากล เพราะเห็นหลายครั้งใช้คำว่าประชาธิปไตยมาครอบเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

3.ก้าวทันโลกอนาคต รัฐธรรม นูญต้องออกแบบโครงสร้างรัฐที่คล่องตัว ว่องไวในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม และสามารถก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ย้อนดูรัฐธรรมนูญ 2560 การร่างประชาชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม เมื่อมีฝ่ายคัดค้านก็ถูกจับกุม แค่ก้าวแรกก็ตกม้าตายแล้ว

ก้าวที่สอง การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถดถอยในรายละเอียดบางสิทธิเสรีภาพ ฉบับ 2550 ระบุบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน แต่ฉบับ 2560 เขียนเพียงว่า บุคคลย่อมมีสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข

ก้าวที่สาม ก้าวทันโลกอนาคต รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นฉบับที่ยาวที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น รัฐธรรมนูญยิ่งยาวดัชนีประชาธิปไตยยิ่งต่ำลง ต่อให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คิดนโยบายใหม่แต่ไม่ตรงกับสิ่งที่ถูกเขียนในรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถดำเนินการได้ และยังลดความสำคัญของการกระจายอำนาจลง

เป็นสามก้าวที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถพาเราก้าวพ้นวิกฤต ก้าวสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์และก้าวเท่าทันโลกได้

สถานการณ์ปัจจุบันบีบให้เลือกระหว่างการร่างใหม่ทั้งฉบับ หรือแก้รายมาตรา แต่สองสิ่งนี้ต้องทำไปคู่ขนานกัน เพราะร่างใหม่ทั้งฉบับใช้เวลา นาน ระหว่างทางอาจมีการยุบสภาหรืออื่นๆ สุดท้ายก็จะกลับไปใช้เงื่อนไขเดิม ฉะนั้นต้องแก้ไขรายมาตราไปด้วย ต้องทำควบคู่กันและทำทันที

แต่กระบวนการจัดทำฉบับใหม่ต้องเจอ 5 ด่าน 1.ศาลรัฐธรรมนูญ เจอแล้ว 11 มี.ค.ที่ผ่านมา, 2.ส.ว.ในการโหวตวาระ 3, 3.การทำประชามติ รัฐบาลไม่รับส.ส.ร. กติกาประชามติจะเสรีเป็นธรรมหรือไม่, 4.เลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 เขต ระบบเลือกตั้งจะปิดกั้นผู้แทนที่หลากหลายหรือไม่ และ 5. เมื่อมีส.ส.ร. 200 คน แต่ล็อกไม่ให้แก้หมวด 1 หมวด 2 ร่างฉบับใหม่จะแก้วิกฤตทางการเมืองได้หรือไม่

ขณะที่ คสช.มีอาวุธ 1. วุฒิสภา, 2. ศาลและองค์กรอิสระ และ 3.ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นเหตุผลว่าต้องร่วมรณรงค์ให้แก้รายมาตราด้วย เพื่อปลดอาวุธ คสช. ปลดอาวุธที่ 1 วุฒิสภาคู่ ยุบให้เหลือสภาเดี่ยว, อาวุธที่ 2 ศาลและองค์กรอิสระ ต้องมีที่มายึดโยงสภาผู้แทนฯ ไม่ให้มาจากการแต่งตั้งของส.ว. อาวุธที่ 3 อย่าให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นอาวุธที่คสช.ใช้เล่นงานนักการเมืองฝั่งตรงข้าม ทั้งนี้ เมื่อเหลือสภาเดี่ยวอำนาจในการนำยุทธศาสตร์ชาติไปเล่นงานฝั่งตรงข้ามจะหายไปด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน