FootNote:ข้อเรียกร้อง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง”

กิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” 112 นาที หน้าศาลฎีกา สนามราษฎร์ อันริเริ่มโดย #พลเมืองโต้กลับ เมื่อ 20 วัน ก่อนสะท้อนพัฒนาการการ เข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง

จากที่มีเพียงไม่กี่คนในวันแรกเมื่อเดือนมีนาคมเมื่อมาถึงวันที่ 20 ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30 คน

ไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง กิจกรรมนี้ก็ดำเนินไม่มีหยุดยั้ง

บางวันอาจจะมีคนเพียง 10 กว่าๆ บางวันก็ทะยานไปถึงหลัก 40 กว่าคน แต่ในระยะ 10 วันไม่เคยต่ำกว่า 30 นั่นก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในทางการเมือง

เด่นชัดยิ่งว่าเป็นกิจกรรมที่ประสานกับการชูป้าย “ปล่อยเพื่อนเรา” บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษ แม้จะไม่ดำเนินไปอย่างอึกทึกครึก โครมเพราะเป็นการนัดชุมนุม ยกป้าย ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ

กระนั้น ภายใน”ความเงียบ”นั้นเองได้ก่อให้เกิดผลสะเทือนและกำลังกลายเป็น”พลานุภาพ”ขึ้นมาเป็นลำดับ

ยิ่งล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน ได้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ราษมัม” ไม่ว่าจากแม่เพนกวิน แม่เอมมี่ แม่ไมค์ แม่ไผ่ เสริมเข้ามา ยิ่งเร้าความสนใจเป็นอย่างสูง

ปมเงื่อนอยู่ที่ว่า กิจกรรม “ยืน หยุด ขัง 112 นาที” จะสร้างความรู้สึกและความเข้าใจอย่างไรต่อสังคม ในเมื่อกิจกรรมนี้มิได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว

ตรงกันข้าม ได้มีการประสานกับการเคลื่อนไหวหลายอย่างของผู้ถูกคุมขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอดอาหาร

เด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่า การอดอาหารของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กำลังจะกลายเป็นประเด็นและสามารถสร้างกระแสขึ้นมาประสานกับการอดของผู้ต้องขังคนอื่นๆ

พลันที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พ้นโทษจากที่คุมขังประเด็นแรกที่มีการหยิบขึ้นมาเสนอต่อสังคม คือการให้ความสนใจต่อบรรดาเยาวชนที่ถูกคุมขังทั้งๆที่ยังไม่มีคำพิพากษา

เมื่อถึงวาระรำลึก 11 ปีของเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ก็ได้รับการตอกย้ำกระทั่งกลายเป็นคำถามในทางสังคม

สถานการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายนทำให้กิจกรรม “ยืน หยุด ขัง 112 นาที” อันเคยเป็นการเคลื่อนไหวเงียบๆ แทบไม่ได้รับความสนใจกลายเป็นประเด็น เริ่มเป็นวาระ

คำถามก็คือ การคุมขังจำเลยอย่างทนายอานนท์ เพนกวิน โดยไม่ยอมให้ประกันทั้งๆที่มิได้มีคำพิพากษามีเหตุผลหนักแน่นเพียงใด

เป็นคำถามในทางสังคมอันกึกก้องบริเวณหน้า”ศาลฎีกา”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน