FootNote:ถนนทุกสาย ของ “ยืน หยุด ขัง” เป้าหมาย ปักตรึง ไปยัง “ศาล”

ยิ่งปฏิบัติการ “ยืน หยุด ขัง” แพร่กระจายออกไปมากเพียงใด คำถาม ต่อดุลพินิจของศาลในการไม่ให้ประกัน “จำเลย” ทั้งๆที่ยังไม่พิจารณา คดีและยังไม่มีคำพิพากษาจะยิ่งแหลมคม

ปัญหามิได้อยู่ที่ว่า “จำเลย” ต้องการอภิสิทธิ์ หากเพียงแต่ต้องการให้มีการปฏิบัติตาม “รัฐธรรมนูญ”เท่านั้น

ยิ่งกลไกอำนาจรัฐเข้าไปสกัดขัดขวางดังในกรณีที่มีพระบางรูป ประท้วงด้วยการอดการฉันภัตตาหาร ประสานกับประชาชนที่อดอา หาร ยิ่งทำให้คำถามกระจายออกไป

เพราะในความเป็นจริง การประท้วงบนพื้นฐาน “ปล่อยเพื่อนเรา” เป็นปฏิบัติการทางการเมืองในหลักการสันติ อหิงสา สงบและ ปราศจากอาวุธอย่างเด่นชัด

ความไม่พอใจทั้งหมดจึงปรากฏผ่านการออกมา “ยืน หยุด ขัง” อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ในพื้นที่บริเวณหน้าศาลฎีกาเท่านั้น หากแต่ทำท่าว่าจะเป็นบริเวณหน้าศาลหลายแห่งทั่วประเทศ

คำถามนี้เป็นคำถามถึงบรรทัดฐานแห่งการใช้กฎหมาย เป็นคำถามถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นคำถามถึงศาลสถิตยุติธรรม

หากติดตามการเคลื่อนไหวนับแต่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ณ พื้นที่บริเวณหน้าศาลฎีกาเป็นต้นมา ก็จะเห็นได้ว่ามีการเคลื่อนไหวในลักษณะประสานสอดคล้องหลายรูปแบบ

รูปแบบหนึ่งเป็นการประท้วงโดยคนที่รู้สึกว่าถูกคุมขัง ถูกปฏิบัติอย่างไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เป็นการประท้วงด้วยการอดอาหารอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน

รูปแบบหนึ่งเป็นการประท้วงผ่านปฏิบัติการ “ยืน หยุด ขัง”ในพื้นที่หน้าศาลและตามสถานศึกษา ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด

กระบวนการเคลื่อนไหวเช่นนี้กำลังกลายเป็นรูปแบบที่มีการขานรับอย่างกว้างขวาง และพัฒนาเป็นการประท้วงหน้าบ้าน ในบ้านแล้วถ่ายรูปเผยแพร่ผ่านโซเชียล มีเดีย

ตราบใดที่ยังไม่มีการพิจารณาเพื่อนำไปสู่ “ปล่อยเพื่อนเรา”การเคลื่อนไหวนี้จะกลายเป็นด้านหลักของสังคมอย่างแน่นอน

จุดละเอียดอ่อนที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดก็คือ จะทำอย่างไรหากการเคลื่อนไหวได้พัฒนาและกลายเป็น “กระแส”ด้านหลักขึ้นมา ในสังคม

และจะทำอย่างไรหากการอดอาหารของผู้ถูกคุมขังบางคนได้นำไปสู่การสูญเสียร้ายแรง ถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

นับวัน “คำถาม”นี้จะยิ่งดังขึ้นและด้วยความแหลมคม

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน