คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

คณะรัฐมนตรีมีกำหนดอนุมัติมาตรการเยียวยาโควิดอย่างเป็นทางการ วันที่ 11 พ.ค.นี้ เพื่อรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดระลอกสาม

เป็นกรอบการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมวงเงิน 2.35 แสนล้านบาท

หลายคนทั้งภาคเอกชนและฝ่ายการเมืองมองว่า เงินจำนวนนี้อาจไม่พอ ด้วยการระบาดระลอกสามรุนแรงกว่าสองรอบแรกมาก

เพียงแค่ดูจากสถิติผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน รวมกับมาตรการที่เพิ่มความเข้มข้นในความพยายามควบคุมเชื้อระบาดในหลายพื้นที่

ผลกระทบครั้งนี้ทั้งสาหัสและซึมลึกที่สุด

มาตรการที่รัฐประกาศใช้ได้ทันทีคือการสานต่อโครงการเดิมที่เคยออกมาแล้ว ไม่ว่าโครงการเราชนะ เพิ่มวงเงินให้ผู้มีสิทธิ์คนละ 2,000 บาท โครงการ ม33 เรารักกัน เพิ่มวงเงินให้ผู้มีสิทธิ์อีกคนละ 2,000 บาท ทั้งสองโครงการใช้จ่ายได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564

ส่วนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 สนับสนุนค่าครองชีพเดือนละ 200 บาท 6 เดือน จะมีผลเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป

ทั้งหมดล้วนเป็นมาตรการประคองการดำรงชีวิตให้ประชาชนในระยะสั้นซึ่งมีความจำเป็น

แต่ที่จำเป็นสำหรับการบริหารจัดการเศรษฐกิจต้องครอบคลุมถึงการเยียวยาธุรกิจรายย่อยอย่างเร่งด่วน เพราะหลายรายหมดลมหายใจไปแล้ว หากจะปั๊มขึ้นมาใหม่ต้องมีออกซิเจนที่เพียงพอ

เสียงจากภาคเอกชนส่วนหนึ่งมองว่า แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์นี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณของรัฐ หลังจากรัฐบาลกู้เงินด้วยพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้วจำนวน 1 ล้านล้านบาท ปัจจุบันยังเหลือประมาณ 2.4 แสนล้านบาท

แรงอัดฉีดที่ต้องใช้จึงควรมีอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หมายถึงต้องกู้เงินเพิ่มอีกอย่างน้อย 7-8 แสนล้านบาท

แต่กระทรวงการคลังประเมินว่า มาตรการใหม่ที่ครม.จะอนุมัติจะทำให้มีเงินไหลเข้าระบบเศรษฐกิจปีนี้ 4 แสนล้านบาท มากพอที่จะผลักให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เกิน 1%

การคำนวณของรัฐกับเอกชนที่ยังแตกต่างกันมาก น่าจะทำให้รัฐบาลต้องทำแผนที่มีทางเลือกมากกว่าเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน