พูดอย่างโหวตอีกอย่าง

บทบรรณาธิการ

ร่างพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทมีกำหนดเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 9 มิ.ย. โดยไม่มีความตื่นตัวใดๆ มากนักในหมู่ประชาชน

เพราะสุดท้ายแล้วร่างกฎหมายนี้จะผ่านความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนฯ รวมไปถึงวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง

แม้ว่าเงินกู้ 5 แสนล้านบาทเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก เท่าๆ กับจำนวนเงินใช้หนี้โครงการจำนำข้าวที่ผู้นำรัฐบาลมักใช้เป็นเหตุผลอ้างมาตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร จนเกิดการโต้แย้งในมุมเศรษฐศาสตร์และการเมืองอย่างกว้างขวาง

แต่หากมองจากการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาทที่ผ่านฉลุย

แม้มีสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลออกมาอภิปรายไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายผลการลงมติรับร่างก็เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจฝ่ายบริหารไว้

 

หากการประชุมร่างพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทสัปดาห์นี้ มีส.ส.พรรครัฐบาลอภิปรายไม่เห็นด้วยอีก ประชาชนย่อมคาดหมายได้ทันทีว่า การลงคะแนนเห็นชอบจะเป็นเหมือนการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณ 2565

กรณีนี้ไม่ได้สื่อว่าส.ส.ต้องรักษาวินัยของพรรค แต่กำลังทำให้ประชาชนสับสนว่า เหตุใดจึงพูดอย่างแต่โหวตอีกอย่าง

แม้ว่าส.ส.รัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้เต็มที่เหมือนกับส.ส.ฝ่ายค้าน

แต่อย่างน้อยต้องเป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างชัดเจนในประเด็นต่างๆ มีอิสระต่อการแสดงจุดยืนทางการเมืองมากกว่านี้

 

การทำหน้าที่ของส.ส.ที่อภิปรายอย่างแต่ลงคะแนนอีกอย่าง จึงเป็นเรื่องที่แปลกสำหรับกระบวนการประชาธิปไตย

ปกติแล้ว ส.ส.ควรต้องสะท้อนเสียงจากประชาชนที่สนับสนุนตนเองมา โดยเฉพาะเมื่อเป็นประเด็นการจัดแผนใช้เงินจำนวนมหาศาลทั้งที่มาจากภาษีประชาชน และเป็นภาระหนี้ที่ประชาชนต้องร่วมกันแบกรับและชดใช้ต่อไปในอนาคต

การลงคะแนนที่สวนทางเพื่อรักษาความอยู่รอดของพรรคในการร่วมรัฐบาล จึงดูไม่สง่างามทางการเมือง

และน่าจะทำให้ประชาชนตัดสินนักการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ว่าควรเข้าไปทำหน้าที่ในสภาอีกหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน