วาระนายกฯ : บทบรรณาธิการ

ประเด็นทางวิชาการเกี่ยวกับการเมืองที่ได้รับความสนใจมากเรื่องหนึ่งขณะนี้คือ การคำนวณจำนวนปีที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นอยู่ว่าจะครบ 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างไร

อาจเพราะปีหน้า จะเป็นช่วงเวลาของการเลือกตั้ง และท่าทีของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้งผู้สนับสนุนขณะนี้มีแนวโน้มต้องการให้ลงสนามสู้ศึกเพื่อรั้งตำแหน่งผู้นำต่อไป

ดังนั้นจึงต้องเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า เมื่อถึงปี 2565 การดำรงตำแหน่งนี้ครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้”

เงื่อนไขพิเศษของการคำนวณระยะเวลาของนายกฯ ท่านนี้ มีนักวิชาการชี้ว่าเกี่ยวพันมาจากการรัฐประหาร 2557

ผู้ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งแรก เดือนสิงหาคม 2557 ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับที่เขียนขึ้นในช่วงรัฐประหารเริ่มต้นบังคับใช้ในปี 2560 และการเลือกตั้งที่ได้นายกฯ คนเดิมนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2562

จึงเป็นเรื่องซับซ้อนขึ้นมาว่าควรจะเริ่มนับจากจุดใด

แต่ไม่ว่าจะเริ่มจากจุดใด สิ่งที่ตัดสินได้ดี และดีที่สุดตามระบอบประชาธิปไตยคือฟังเสียงจากประชาชน

หากสังเกตจากชาติผู้นำประชาธิปไตยโลกอย่างเยอรมนี ที่เพิ่งมีการเลือกตั้งทั่วไปและเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต่อจากนางแองเกลา แมร์เคิล ผู้ดำรงตำแหน่งมายาวนาน 16 ปี ยิ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

รัฐธรรมนูญของเยอรมนีไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการเป็นนายกฯ แต่ให้สิทธิประชาชนตัดสินเองว่า จะเลือกผู้นำคนเดิมดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่

นายกฯ แมร์เคิลทำหน้าที่ได้นานถึง 16 ปี เพราะสร้างผลงานโดดเด่นในด้านเศรษฐกิจ จนมาถึงการรับมือวิกฤตโควิด-19

แม้จะมีผลงานที่ทำให้คนส่วนใหญ่พอใจถึงปัจจุบัน แต่นายกฯ หญิงต้องการยุติบทบาทนี้เองโดยให้ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้นำใหม่คนต่อไป

เป็นการจบที่สวยงามตามวิถีประชาธิปไตย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน