คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

หลังการแจกเงิน

คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดค่าครองชีพ วงเงิน 92,027 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการลด ค่าครองชีพ 4 โครงการ

ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง (ระยะ 3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ระยะ 3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (เข้าไม่ถึงระบบอินเตอร์เน็ต) และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

การแจกเงินครั้งนี้เป็นจังหวะที่มาพร้อมกับการเปิดประเทศตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป หลังจากเศรษฐกิจเผชิญภาวะซึมลึกมานานตลอดปีจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด

จึงต้องเฝ้าจับตาต่อไปว่าโครงการเหล่านี้จะช่วยได้มากน้อยเพียงใด

แม้ว่าการแจกเงินจะเป็นหนทางที่สั้นและง่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลใช้มาตลอดนับจากสถานการณ์โควิดเริ่มต้นเมื่อปี 2563

แต่คำถามเดิมที่ยังค้างคาและได้คำตอบไม่ชัด คือรัฐบาลจะหารายได้อย่างไร จะเปิดโอกาสให้ประชาชนลืมตาอ้าปากอย่างไร โดยเฉพาะกับ คนที่มีโอกาสขับเคลื่อนน้อยกว่าทุนใหญ่

หลังจากการแจกเงินเป็นมาตรการที่มีลักษณะประคองตัวไปก่อนในระยะสั้น แต่หลายคนที่มีธุรกิจขนาดเล็กและสายป่านไม่ยาวไม่อาจเอาตัวรอดได้

จากการประเมินของนักวิเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เศรษฐกิจไทยอาจมีสภาพล้าหลัง จากการฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว

เพราะการฟื้นตัวของไทยยังไม่แน่นอนจากปัจจัยโรคระบาด และมาตรการควบคุมโรค รวมถึงปัจจัยภายนอกประเทศ

การที่รัฐบาลย้ำกับประชาชนว่าจะต้องอยู่กับ โควิด-19 ให้ได้ ควรต้องมีรายละเอียดด้วยว่าจะให้อยู่กันอย่างไร

หลังจากการเปิดประเทศแล้ว ประชาชนจะได้รับหลักประกันความเชื่อมั่นใดว่า เมื่อลงทุนเปิดกิจการแล้ว จะไม่ถูกปิดกะทันหันอีก

ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทก่อสร้างเริ่มกลับมาเร่งดำเนินการ มีแรงงานจากชาติเพื่อนบ้านกลับมาแล้ว จะไม่เผชิญสถานการณ์เชื้อระบาดภายในแคมป์ก่อสร้าง หรือลามระบาดออกไปยังพื้นที่ต่างๆ อีก

รัฐบาลได้ถอดบทเรียนจากการระบาดระลอกที่สามให้ประชาชนรับทราบแล้วหรือยัง หลังจากการแจกเงิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน