สิบวันหลังรัสเซียบุกยูเครน มีประเด็นข่าวสำคัญมากมาย โควิดพุ่งครึ่งแสน น้ำมันแพง ไข่แพง ทหารไทยซื้อเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ ฯลฯ แต่คนไทยไม่สนใจ ต่อให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก ก็อดตาหลับขับตานอน ดูทีวี ดูยูทูบ เฟซบุ๊กไลฟ์ โหนกระแสหิวกระแส “ใครฆ่าแตงโม”

ชาวเน็ตนับล้านๆ แปลงร่างเป็นลูกขุน ติดตามการสืบสวนสอบสวนของสื่อ ที่ตั้งตัวเป็นตำรวจอัยการ กวาดต้อนพยานหลักฐานมาสอบเค้นหน้าจอ ตั้งข้อกล่าวหาซักปากคำผู้อยู่ในเหตุการณ์ ควานหาพิรุธ หาจุดที่ตอบไม่ได้ แล้วเชือดสดๆ สะใจคนดู

จริงอยู่ว่าคนบนเรือ 5 คน มีปัญหาการแสดงออกหลังโศกนาฏกรรม ให้สัมภาษณ์ให้ปากคำสับสน จนมิตรสหายบางท่านเปรียบเปรยว่านี่คือ “วิธีสัมภาษณ์อย่างไรให้ตัวเองดูเป็นฆาตกร” วิธีพูดอย่างไรให้ตัวเองฉิบหาย

แต่ก็เป็นได้ว่ามาจากความไม่สามารถรับมือวิกฤต ตกใจ คุมสติไม่ได้ กลัวสังคมตีตรา “พาแตงโมไปตาย” ยิ่งแก้ตัวก็ยิ่งไปใหญ่

แพทย์ท่านหนึ่งชี้ว่า เวลาคนเราอยู่ในภาวะอ่อนแอทางอารมณ์ จะมีตัวตนต่างๆ แสดงออกมา ซึ่งอาจไม่เหมือนกับตัวตนปกติ มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถเทียบคนอื่นได้ว่าอะไรคือมาตรฐาน ดังนั้น ที่พิธีกรบอกว่าเวลาเสียใจต้องร้องไห้ ถ้าอยากร้องไห้ต้องร้องออกมา จึงเป็นการตัดสินคนอื่นโดยไม่เว้นที่ให้ความเป็นมนุษย์

พูดอีกอย่างคือ สังคมตัดสินคนจากปฏิกิริยาตอบสนองต่อความสูญเสีย จากท่าทีไม่สลด เกรี้ยวกราด หรือเย็นชา ทำไมกลับบ้านก่อน ฯลฯ โดยตั้งมาตรฐานไว้แล้วว่า ถ้าเพื่อนตายควรจะแสดงออกอย่างนี้ๆ พอไม่เป็นอย่างที่คิดก็ = มึงผิด

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ปกป้องว่าไม่ผิด แต่พยานหลักฐานยังเป็นแค่อุบัติเหตุ ขณะที่ลูกขุนตัดสินไปแล้ว สื่อร้อยสำนักแห่เอานักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญ หมอดู หมอผี หมอหัวฟู อดีตตำรวจ ทนายความ มาคอมเมนต์ในทางที่เป็นผลร้าย ยิ่งร้ายยิ่งถูกใจชาวเน็ต ทำให้คดีแตงโมกลายเป็นคดีพิสดารเกินพยาน หลักฐาน พนักงานสอบสวนตัวจริงปิดคดีไม่ลง

ถ้าสรุปเป็นอุบัติเหตุ ชาวเน็ตก็ถล่มตำรวจ ถ้าสรุปเป็นฆาตกรรมโดยไม่มีหลักฐานเพียงพอ ก็เท่ากับตำรวจบิดเบือนความยุติธรรมเพื่อเอาตัวรอดไม่ให้ถูกด่า

แน่ละว่า กระบวนการยุติธรรมไทย ตำรวจไทย มีปัญหาความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าพลัง Public Opinion เข้ามาชี้นำ ก็บิดเบือนความยุติธรรมเช่นกัน สังคมพึงระวังการตั้งแง่ที่ไร้เหตุผล เช่น ตำรวจเข้าข้างคนมีเงิน ทั้งที่บางกรณีเช่นให้ประกัน ความผิดฐานขับรถขับเรือโดยประมาททำให้คนตาย จะรวยหรือจนก็ได้ประกันเกือบทั้งนั้น ไม่ใช่เลือกปฏิบัติเลย

สิ่งที่สังคมควรระวังคือตำรวจจะบิดคดีเอาใจสังคมต่างหาก เพราะทั้งได้หน้า ได้โล่ ได้ใจคน ได้ผลงานเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง

ตลกร้ายที่กระแสโซเชี่ยลวันนี้ต้องอาศัยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ พรีเซ็นเตอร์แว่นตา ออกมาดึงสติ เช่น ล่าสุดบอกว่า คดีนี้เลยเถิดไปไกลมากจากเหตุผล จากกระบวนการทางกฎหมาย จากสามัญสำนึก แม้คดียังไม่จบ “กระติก” ก็ยืนบนแดนประหารแล้ว ถึงรอดก็ไม่มีแผ่นดินอยู่ เพราะคนเกลียดทั้งประเทศ ราวกับผลักแตงโมตกน้ำ ยิ่งสังคมบ้าคลั่งยิ่งกดดันกระบวนการยุติธรรม แล้วการสูญเสียจะไม่แค่แตงโม แต่สูญเสียหมดทุกคนทั้งกระบวนการยุติธรรม

มองกว้างไปกว่าคดีแตงโม เราเห็นพลังโซเชี่ยลอย่างไร ในมุมหนึ่งโซเชี่ยลมีเดียทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย การแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐและผู้ใช้อำนาจซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ

โซเชี่ยลมีเดียวิพากษ์กระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่ ได้สิ เป็นเรื่องสำคัญเลยละ แต่ต้องระมัดระวังการตัดสินปัจเจกบุคคลที่ไม่มีอำนาจ ใช้สติใช้เหตุผล ไม่ใช่เฮโลสาระพา หรือใช้อารมณ์ความรู้สึก สีหน้าอย่างนี้ท่าทางอย่างนี้ผิดแหงๆ

คดีแตงโมก็คล้ายคดีลุงพล แทนที่จะว่าตามพยานหลักฐาน กลับตัดสินด้วยกระแสสังคม พอคนเห็นใจลุงพลโด่งดัง ตำรวจก็ไม่อยากแตะ รอลุงพลเพลี่ยงพล้ำ ค่อยประดังข้อหา กระทั่งเจ้าแม่ตะเคียนก็โดนข้อหาครอบครองไม้หวงห้าม

ในทางการเมือง จำได้ไหมใครโดนมาก่อน พี่โทนี่ที่แตงโมเคยส่งไลน์ไปขอโทษ ปี 49-50-51 ทักษิณถูกกระแสสื่อกระแสสังคมที่ยุคนั้นยังไม่มีโซเชี่ยลมีเดียด้วยซ้ำ ขึงพืด “เลวชั่วโกง” “ทุนสามานย์” จนถูกรัฐประหารตุลาการภิวัตน์เล่นงาน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกี่คดีก็แพ้ “ไม่ทุจริตแต่ติดคุก” มูลค่าหุ้นชินคอร์ปเพิ่มขึ้นระหว่างเป็นนายกฯ ก็ยึดทรัพย์ เพราะใช้กระแสม็อบพันธมิตรพิพากษาล่วงหน้าไปแล้ว

ซึ่งพูดแล้วก็ขำ ฉลองวันนักข่าว หลังปี 49 สื่อกระแสหลักก็ตกต่ำ บทบาทอิทธิพลที่เคยชี้นำสังคมจางหายไป วันนี้สื่อหลักต้องมาไล่ทำข่าวโซเชี่ยล ตาม IG ดารา ตามประเด็นสังคมในรายการแบบโหนกระแส ตั้งแต่ พส.ถึงแตงโม

สังคมไปไกลแล้ว สื่อหมดบทบาทชี้นำ ยังจะออกพ.ร.บ.ควบคุมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ให้สื่อคุมกันเองในกะลา แต่ไม่มีปัญญาคุมโซเชี่ยลหรอก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน