การแพร่ระบาดของไวรัสโรคฝีดาษลิง โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ยุโรป และอีกหลายประเทศที่มีแนวโน้มลุกลามไม่หยุดนั้น

องค์การอนามัยโลก มีการเฝ้าระวังและติดตามในระดับสูงสุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ได้ตัดสินใจประกาศให้โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม

การระบาดของโรคฝีดาษลิง จึงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุขของโลก ต้องเร่งป้องกันไม่ให้แพร่กระจาย ทวีความรุนแรง จนเป็นการระบาดใหญ่

สําหรับสถานการณ์ในประเทศไทย กรมควบคุมโรคระบุว่าขณะนี้พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิงจำนวน 4 ราย เป็นชาว ต่างชาติ 2 ราย และสัญชาติไทย 2 ราย

จากการเฝ้าระวังติดตามอาการผู้ป่วยพบว่า อาการไม่รุนแรง แม้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่โรคนี้สามารถหายได้เองในระยะ 2-4 สัปดาห์ โดยให้ยารักษาตามอาการ

พร้อมกันนี้ยังยืนยันว่าโรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ ความเสี่ยงที่จะติดโรค ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสรอยผิวหนัง เช่น ผื่น ตุ่มหนอง สารคัดหลั่ง หรือสัมผัสใกล้ชิดมากๆ กับผู้ป่วย

รวมทั้งติดต่อผ่านทางละอองทางเดินหายใจ จากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากๆ เช่น หน้าแนบหน้า หรือสัมผัสทางกายที่แนบชิดกัน ดังนั้น จึงต้องระมัดระวัง

ขณะนี้ ประเทศไทยมีแผนการป้องกันการแพร่ระบาดโดยจัดซื้อวัคซีนเฉพาะไปแล้ว คาดว่าในช่วงปลายปีนี้จะได้รับการส่งมอบ

กลุ่มเป้าหมายเบื้องต้นที่ต้องได้รับวัคซีน ได้แก่ กลุ่มก่อนสัมผัส คือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยง เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และกลุ่มเสี่ยงหลังสัมผัสโรคไม่เกิน 14 วัน

ส่วนมาตรการอื่นนั้น กำหนดให้ทุกด่าน เข้าเมือง เฝ้าระวัง และคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ที่มาจากพื้นที่ระบาด

กระทรวงสาธารณสุขระบุจะใช้มาตรการ เดียวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 แม้โรคฝีดาษลิงจะยังไม่แพร่กระจายในประเทศมาก แต่การเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นก็จะเป็นปราการด่านแรกที่ป้องกันอย่างดี

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน