ประชาชนกว่า 60 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ประสบความเดือดร้อนหนักจากเหตุอ่างเก็บน้ำแตก ส่งผลให้มวลน้ำทะลักท่วมพื้นที่ทางการเกษตร และที่อยู่อาศัยเป็นบริเวณกว้าง

เป็นผลสืบเนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกัน และขณะนี้ทางจังหวัดระดมเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องจักรเร่งซ่อมอุดรอยขาด ช่วยเหลือผู้ประสบภัย อพยพไปอยู่ศูนย์พักพิง

ขณะเดียวกัน จ.ชัยภูมิ ฝนตกต่อเนื่อง 2 วัน น้ำป่าจากเทือกเขาไหลหลากลงมาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ฝายน้ำล้นพังทลายเสียหายเป็นวงกว้าง ประชาชนเดือดร้อนกว่าพันหลังคาเรือน

ทั้ง 2 เหตุการณ์เป็นสัญญาณเตือนเข้าสู่ฤดูน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และเริ่มทวีความรุนแรง

ประเทศไทยและประเทศร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้สภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เป็นแบบร้อนชื้น อยู่ภายใต้ของลมมรสุมและพายุ ซึ่งส่งผลต่อฤดูฝน

ยิ่งขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว จะกินระยะเวลาไปอีก 2-3 เดือน เป็นประจำทุกปีเกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก โดยเริ่มตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ จากนั้นน้ำเหนือไหลหลากลงสู่ที่ราบลุ่มภาคกลาง กทม. และปริมณฑล ก่อนออกทะเลอ่าวไทย

ดังนั้น ในระยะนี้ตั้งแต่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก และ กทม. จึงต้องจัดเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนหนัก และน้ำท่วมฉับพลัน

เพราะจะสร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง สาธารณูปโภค พื้นที่เพาะปลูกต้องสูญเสียงบประมาณแก้ปัญหา ช่วยเหลือ และฟื้นฟูหลังน้ำลด

ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำ จัดเตรียมความพร้อมรับมือ และการช่วยเหลือประชาชน พร้อมประกาศยกให้เป็นวาระแห่งชาติ

สาระหลักของการประชุมเน้นย้ำการทำงานอย่างมีเอกภาพ ตั้งศูนย์ฉุกเฉินบริการประชาชน ต้องมีแผนเร่งระบายน้ำ จุดที่น้ำท่วมซ้ำแล้วซ้ำอีกต้องไม่ให้เกิดน้ำเน่า

รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนเมืองต้องป้องกันน้ำเข้าท่วมอย่างฉับพลัน การขุดลอกคูคลองระบายน้ำ การพยากรณ์และแจ้งเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยาต้องแม่นยำ คาดหวังว่าแผนปฏิบัติการเหล่านี้จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

เรื่องของฤดูกาลและภัยธรรมชาตินั้นยากแก่การคาดเดา แต่ถ้าวางแผนรับมือได้ดีพอก็จะช่วยทุเลาบรรเทาให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน