สุนทรพจน์ที่โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวในการรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มด้วยวาทะ อเมริกาต้องมาก่อน ถูกมองว่าเหมือนการแถลงนโยบายฉบับย่อ ที่ทำให้นานาประเทศรวมถึงไทย ต้องเตรียมตั้งรับ

แม้ว่าสารสั่นสะเทือนแรกในการกลับมาดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ยังไม่เปิดศึกเดือดด้านภาษีกับจีน มหาอำนาจคู่แข่งเดิมอย่างโจ่งแจ้ง

แต่การระบุว่าจะจัดการกับการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยให้หน่วยงานเกี่ยวข้องไปตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ นั้น เป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังประเทศคู่ค้าทุกรายของสหรัฐ

รวมถึงประเทศที่มีกลุ่มทุนจีนเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิต สำหรับเลี่ยงสงครามการค้า

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย แต่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยที่ครองสัดส่วนราว 18% จากมูลค่าส่งออก 54,956.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2567

การที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ 35,427.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดอยู่ในอันดับ 12 ของโลก จึงทำให้น่าหวั่นไหวว่าจะไม่พ้นจากการตรวจสอบของรัฐบาลทรัมป์

กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นหน่วยงานโดยตรงที่จะต้องรับมือกับเรื่องนี้เผยแพร่ข้อมูลที่ประเมินว่า ไทยมีกลุ่มสินค้า 29 รายการที่มีความเสี่ยงอาจถูกสหรัฐพิจารณาใช้มาตรการทางภาษี เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ โซลาร์เซลล์ และเครื่องประดับอัญมณี เป็นต้น

นอกจากต้องเตรียมการให้ผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มนี้รับมือยังเตรียมส่งคณะไปเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจากับผู้บริหารระดับสูงชุดใหม่ของสหรัฐ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ นี้ ตรงกับข้อเรียกร้องจากภาคเอกชน รวมถึงหอการค้าไทยที่มีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นหลังจากได้ยินคำกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีทรัมป์

อย่างไรก็ตาม สปีชของทรัมป์ก็บ่งบอกถึงแนวทางการทำงานเหมือนสมัยแรกที่เคยดำรงตำแหน่ง นั่นคือจะต้องผ่านการเจรจาต่อรองเพื่อให้สหรัฐอเมริกาไม่เสียเปรียบ เพราะการค้าสำหรับรัฐบาลทรัมป์จะไม่แนบการทำบุญทำกุศลเข้ามาด้วย

แต่จะพิจารณาผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นปัจจัยแรก การที่ไทยเป็นประเทศพันธมิตรที่ยาวนานที่สุดของสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย ก็จะต้องแสดงให้เห็นด้วยว่าเอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกาอย่างไร

เป็นโจทย์ที่ไทยต้องอาศัยความมั่นคง ควบคู่ไปกับการเจรจาเศรษฐกิจและการค้ากับสหรัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน