ครม.เห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ในกรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี

โครงการนี้เป็นการดำเนินการตามร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ

ครม.ชุดที่ผ่านมามีมติเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2560 อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-หนองคาย ระยะที่ 1 กทม.-นครราชสีมา ระยะทาง 253 ก.ม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (2560-63)

แต่ปัจจุบันโครงการล่าช้ากว่ากำหนด มีความคืบหน้าโดยรวมร้อยละ 35.74 คาดจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571

สำหรับโครงการระยะที่ 2 ที่ครม.อนุมัติล่าสุด ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากจ.นครราชสีมาไปถึงจ.หนองคาย ระยะทาง 357.12 ก.ม. วงเงิน 335,665.21 ล้านบาท

ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย จะเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2568 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2575

ส่วนที่ 2 ก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า วงเงิน 5,686.21 ล้านบาท ที่ จ.หนองคาย เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟของรถไฟไทย และของรถไฟลาว-จีน ในรูปแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ

รัฐบาลระบุว่าโครงการระยะที่ 2 มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 13.23 และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์

รถไฟความเร็วสูงเริ่มอย่างจริงจังยุครัฐบาลปี 2554-2556 ผ่านโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งมูลค่า 2 ล้านล้านบาท แต่ด้วยอคติและความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้โครงการสะดุด ก่อนมาเริ่มต่อในยุครัฐบาลรัฐประหาร แต่ก็ช้าและสูญเสียโอกาส

กระทั่งมาถึงรัฐบาลปัจจุบันที่อนุมัติเดินหน้าต่อระยะที่ 2 โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้เร่งรัดระยะที่ 1 แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากล่าช้ากว่าแผนมานาน และในการเดินทางไปเยือนประเทศจีน นายกฯ จะหารือถึงเรื่องนี้ด้วย

รถไฟความเร็วสูงจะพลิกโฉมการขนส่งคมนาคมครั้งใหญ่ของประเเทศ นอกจากความสะดวกรวดเร็วและขนถ่ายสินค้าแล้ว ยังส่งผลต่อการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นตามเส้นทางรถไฟ

มีตัวอย่างมาแล้วในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาค ดังนั้น ไทยต้องไม่ควรที่จะสูญเสียโอกาสนี้อีก ดังนั้นโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้จะต้องเดินหน้าให้ลุล่วงไม่มีสะดุดอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน