ความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีผลใช้บังคับทันการเลือกตั้งครั้งหน้าปี 70 มาถึงจุดที่มีความเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย
รัฐธรรมนูญปัจจุบันฉบับปี 60 จัดทำขึ้นหลังการทำรัฐประหารโดย คสช.ในปี 57 จึงทำให้มีปัญหาทั้งที่มา และเนื้อหา ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย
ที่สำคัญยังมีการจัดวางกลไกกับดักไว้อย่างสลับซับซ้อน จุดมุ่งหมายเพื่อทำให้การแก้ไขเป็นไปได้ยาก เมื่อผสมรวมเข้ากับจุดยืนของนักการเมือง พรรคการเมืองซีกฝ่ายอนุรักษนิยม
ยิ่งทำให้กระบวนการนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทดแทนฉบับมรดก คสช. ยากขึ้นมากมายหลายเท่า
ในการเลือกตั้งปี 66 หลายพรรคการเมือง รวมทั้งเพื่อไทย และก้าวไกล ชูการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง
หลังเลือกตั้งผ่านพ้น ประเทศไทยมีรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 57 พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน
ซึ่งแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติ ที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงหารือแนวทางการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้อย่างมั่นคง
ต่อมาได้รับการสืบสานโดยนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ว่า รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการประชาธิปไตย
ในการประชุมร่วมรัฐสภา สส.-สว. สังคมจับจ้องไปที่วาระพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ต่างยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1
เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าการวอล์กเอาต์ของสส.รัฐบาลบางพรรค และสว.กลุ่มใหญ่ จนทำให้องค์ประชุมล่ม
ความเห็นต่างในการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตอกย้ำให้เห็นว่าปฏิบัติการไล่รื้อมรดก คสช.รอบนี้ นักการเมือง สส. สว.ทุกคนทุกพรรคต้องมีสำนึกประชาธิปไตยร่วมกัน
การผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อันมีเนื้อหาและที่มาเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงออกมาบังคับใช้จึงจะสำเร็จ