ธนาคารโลกเปิดผลการติดตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยล่าสุด คาดการณ์ว่าภาพรวมปี 2568 เติบโตประมาณ 2.9% เพิ่มจาก 2.6% ในปี 2567 เพิ่มขึ้นประมาณ 0.3 เปอร์เซ็นต์

ระบุแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ มาจากการลงทุนที่ฟื้นตัวของภาครัฐและการท่องเที่ยวที่กระเตื้องและคึกคัก กลับเข้าสู่ระดับเท่ากับก่อนการระบาดของโควิด-19

อีกทั้งไตรมาสที่ 2 รัฐบาลจะมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 เติมเงิน 10,000 บาทแก่ประชาชนประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนระลอกใหม่

แต่จีดีพีของประเทศไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ควรจะเป็น เพราะยังต้องเผชิญกับกับความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกซึ่งต้องฝ่าฟันไปให้จงได้

การคาดการณ์ดังกล่าว มาจากรายงาน Thailand Economic Monitor ฉบับล่าสุด ที่เปิดเผยโดยนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย

ชี้ว่าแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ มาจากการลงทุน โดยเฉพาะภาครัฐที่สนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงขึ้นและการดำเนินโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในแผนการ

แม้ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนที่สูง แต่เสถียรภาพยังอยู่ในอันดับดี ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาบวกจากการส่งออกที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น และการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก

เงินเฟ้อต่ำแต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับของธนาคารแห่งประเทศไทย แม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจะดีกว่าที่คาดไว้ แต่จีดีพียังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพ คาดการณ์ว่าปี 2569 จีดีพีอยู่ที่ 2.7%

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลวางเป้าหมายว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งโอกาสของประชาชนคนไทยทุกคน ในทุกๆ ด้าน ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะแม่นยำ ตรงเป้าหมายขนาดไหน

อีกทั้งเครื่องยนต์ตัวใหม่ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศที่ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว ได้แก่โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 นครราชสีมาถึงหนองคาย ทะลุไปยังสปป.ลาวเชื่อมถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน

รวมถึงเมกะโปรเจ็กต์โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ สถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งถ้าหากสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ประเมินว่าประเทศจะมีรายได้ส่วนนี้มากกว่าสิงคโปร์

แต่ที่รัฐบาลต้องตระหนักและส่งเสริมไปพร้อมๆ กัน คือเครื่องจักรภาคเกษตรกรรม ทั้งข้าว พืชผัก ผลไม้ ประมง ที่ต้องเน้นเกษตรทันสมัย ครบวงจร ใช้ระยะเวลาที่สั้นลง แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน