ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2568 พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อแทนนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
โดยมีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา คือ นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ
จากการประชุมและลงมติลับ นางสิริพรรณได้คะแนนเห็นชอบ 43 เสียง ไม่เห็นชอบ 136 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง และนายชาตรี เห็นชอบ 47 เสียง ไม่เห็นชอบ 115 เสียง งดออกเสียง 22 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง
ทั้ง 2 คนได้คะแนนเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก จึงไม่ได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
จากการลงมติดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งขึ้นไปอีก ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่ 13 จำนวน 200 คน ที่มาจากกระบวนการเลือกตามรัฐธรรมนูญ 2560
โดยเฉพาะสว.ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มก้อนมากกว่า 100 คน ถูกตั้งข้อสงสัยมีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากท่าที หรือการลงมติใดๆ สอดคล้องประสานกับพรรคการเมืองนั้น
ที่สำคัญคือกระบวนการได้มาซึ่งสว.กลุ่มดังกล่าว ถูกกล่าวหาร้ายแรงเข้าข่ายทุจริต สมคบฮั้วกัน เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน อั้งยี่ซ่องโจร และความมั่นคงแห่งรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือไม่
จากข้อสงสัยดังกล่าวนำไปสู่การร้องเรียน และเป็นคดีพิเศษภายใต้การสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
นอกจากดีเอสไอดำเนินคดีแล้ว ล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและไต่สวน 7 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของดีเอสไอร่วมเป็นกรรมการด้วย
เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานแสวงหาข้อเท็จจริง เนื่องจากมีมูลเหตุทุจริตการเลือกสว. หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรม
โดยมีหลักฐานเชื่อมโยงผู้ที่ได้รับเลือกเป็นสว. 138 คน สำรองสว.อีก 2 คน และเมื่อสำนวนเข้าสู่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งรับคำร้องไว้แล้ว ผู้เกี่ยวข้องที่เป็นสว.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้การสอบสวนของดีเอสไอและกกต. สมควรได้รับการสนับสนุน เพื่อสร้างความสง่างามให้แก่องค์กรวุฒิสภา ซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญ และทรงเกียรติ