การแก้ไขปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ได้รับการประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2562 จวบจนปัจจุบันปัญหายังไม่หมดไป การแก้ไขเป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาลทุกชุด จะทำอย่างไรให้ปัญหาเบาลง เหลือน้อยที่สุด

จากการไปเป็นประธานประชุมติดตามปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพรายงานสถานการณ์

นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ระบุว่า ผลจากมาตรการเชิงรุกของหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน ทำให้ปีนี้ค่าฝุ่นควันลดลงเฉลี่ย 16% ทั่วประเทศ บางพื้นที่ลดลงมากกว่า 20% ถึงกระนั้นฝุ่น PM 2.5 ยังคงมีความหนาแน่นในโซนภาคเหนือ เนื่องจากฝุ่นควันพัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

ในช่วง 60 วันข้างหน้านี้จะเป็นช่วงอันตราย เนื่องจากฝนลดลง อาจส่งผลให้ค่าฝุ่นเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง

ปัญหาฝุ่นภาคเหนือมีมานานนับสิบปี รุนแรงมากขึ้นในช่วง 4-5 ปีมานี้ ภาคเหนือจะถูกปกคลุมด้วยฝุ่น PM 2.5 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

ในระยะเวลาดังกล่าวทำให้ จ.เชียงใหม่ ติดอันดับต้นๆ เมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในโลก ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงด้านเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวที่เสียหายไม่น้อย

วันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ค่าฝุ่นเชียงใหม่ทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี สิ่งที่น่าห่วงคือก่อนเข้าสู่ช่วงสงกรานต์เดือนเมษายน ค่าฝุ่นเคยสูงถึงระดับ 200 มคก./ลบ.ม. มาแล้ว จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 37.5

นอกจากนี้ยังมี เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ฯลฯ ที่ค่าฝุ่นพุ่งสูงเกินมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

แม้ปีนี้ในภาพรวมไทยจะสามารถควบคุมปัจจัยภายในที่เป็นสาเหตุการเกิดฝุ่น PM 2.5 ได้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าการงดเผาพื้นที่ทำการเกษตร หรือการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า

แต่กับปัจจัยภายนอก ฝุ่นควันที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ยังเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ฝุ่น PM 2.5 คงระดับความหนาแน่นในโซนภาคเหนือของไทย

ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมชี้ชัดว่า ถึงจุดความร้อนในไทยจะลดลงมาก แต่ในประเทศเพื่อนบ้านยังพบอยู่อย่างหนาตา บางประเทศอยู่ในระดับเกิน 1,000 จุด และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ

ฉะนั้นสิ่งที่ไทยต้องทำคือ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประสานหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไข เพราะ PM 2.5 เป็นปัญหาใหญ่ไม่เฉพาะกับไทย แต่เป็นปัญหาใหญ่ระดับภูมิภาค ที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน