ย้อนไปเมื่อ 26 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 17-24 พ.ค.2535 ตรงกับเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาล ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ชนวนเหตุของการเกิดพฤษภาทมิฬนั้น ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2534 คณะ รสช. ได้ทำการรัฐประหาร รัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยหัวหน้าคณะรัฐประหารในเวลานั้น คือ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในขณะนั้นภายหลังการรัฐประหารได้เลือกนาย อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และ ได้ร่างรัฐธรรมนูญจนมีการเลือกตั้งผลปรากฏว่า นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ที่ตั้งขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากคนในคณะรัฐประหารในขณะนั้น ได้คะแนนมากที่สุด แต่สุดท้ายไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากมีการอ้างว่า ถูกรัฐบาลสหรัฐขึ้นบัญชีดำ จากความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด (อ่านต่อได้ที่นี่)

/AFP/Getty Images

ทำให้ พล.อ.สุจินดา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งเป็นการตระบัดสัตย์ที่เคยกล่าวไว้ว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนได้รับฉายา “เสียสัตย์เพื่อชาติ” จากสื่อมวลชนต่างๆในเวลาต่อมา

พล.อ.สุจินดา คราประยูร

จากคำกล่าวของ พล.อ.สุจินดานั่นเอง สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนอย่างเป็นวงกว้าง กับการขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.สุจินดา ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย จนนำไปสู่การประท้วงตั้งแต่หลังการรัฐประหารเป็นต้นมา ทั้งการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง การเดินขบวน และชุมนุมในสถานที่ต่างๆในกรุงเทพมหานคร และการอดอาหาร ของ เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และในช่วงเดือนเมษา-พฤษภาคม 2535 มีการชุมนุมใหญ่ ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2535 ผู้ชุมนุมเข้าร่วมครั้งแรกในเวลานั้นหลักแสนคน

และการชุมนุมครั้งสำคัญ คือการชุมนุมใหญ่ช่วงวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 โดยเริ่มตั้งแต่การชุมนุมใหญ่ของประชาชนนับแสนที่ท้องสนามหลวง และเคลื่อนขบวนเพื่อไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่โดนสกัดมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-สะพานผ่านฟ้าลีลาศ

และในวันเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลในขณะนั้น ก็ได้จัดคอนเสิร์ตต้านภัยแล้งสกัดการชุมนุมที่สนามกีฬากองทัพบกและวงเวียนใหญ่ ส่วนในบริเวณพื้นที่การชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน มีการใช้คำสั่งสลายการชุมนุม มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน ตามจุดต่างๆในบริเวณโดยรอบถนนราชดำเนิน

18 พ.ค. 2535 ทหารได้ จับกุม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จากบริเวณที่ชุมนุม รัฐบาลในขณะนั้นได้ออกแถลงการณ์หลายฉบับและรายงานข่าวทางโทรทัศน์ของรัฐบาลทุกช่องยืนยันว่าไม่มีการเสียชีวิตของประชาชน แต่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนส่อบานปลาย มีประชาชนออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพ พร้อมมีการตั้งแนวเตรียมสลายการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ รัฐบาลได้ออกประกาศจับแกนนำอีก7คน คือ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล , นายแพทย์เหวง โตจิราการ , นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ , นายสมศักดิ์ โกศัยสุข , นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ , นางสาวจิตราวดี วรฉัตร และนายวีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์ โดยรัฐบาลในขณะนั้นให้เหตุผลว่าบุคคลเหล่านั้นยังไม่เลิกชุมนุม จึงต้องออกหมายจับ และยังปรากฏข่าวรายงานการปะทะกันระหว่าง เจ้าหน้าที่ กับประชาชน ในหลายจุดและเริ่มเกิดการปะทะกันรุนแรงมากขึ้นในคืนวันนั้นในบริเวณถนนราชดำเนิน

AFP PHOTO / FRANCIS SILVAN

เช้าวันที่ 19 พ.ค. 2535 ภาพการสลายการชุมนุมและปราบปรามประชาชนได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก ผู้รอดชีวิตบางส่วน ย้ายไปชุมนุมต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

จตุพร พรหมพันธุ์ บนเวทีการชุมนุม พฤษภา2535 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ต่อมา เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2535 รัฐบาลในขณะนั้น ได้ประกาศเคอร์ฟิวส์ ห้ามประชาชนออกจากบ้านในเวลา 21.00 น.-04.00 น. แต่กลุ่มผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังคงชุมนุมปักหลักและเพิ่มจำนวนขึ้นกว่าแสนคน จนกระทั่งในช่วงเวลา 23.00น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้แพร่ภาพ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้นำ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นแกนนำการชุมนุม และ พล.อ.สุจินดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่ามกลางความยินดีของกลุ่มผู้ชุมนุม และประชาชนทั่วประเทศ

และในวันที่ 23 พฤษภาคม พล.อ. สุจินดา ได้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่ตนเองและคณะรัฐประหาร และวันต่อมา 24 พฤษภาคม พล.อ.สุจินดา จึงได้ประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และนายอานันท์ ปันยารชุน ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้งในเวลาต่อมา

การชุมนุมในครั้งนี้ยังเป็นการชุมนุม ที่ผู้ประท้วงมีโทรศัพท์มือถือใช้สื่อสาร จนถูกเรียกว่าเป็น “ม็อบมือถือ” และรวมถึงการเรียกชื่อฝั่งพรรคการเมือง ซึ่งแตกออกเป็น2ฝั่งจากผู้สื่อข่าว โดยเรียกฝั่งพรรคที่เข้าไปทางรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา ว่า “พรรคมาร” ซึ่งประกอบด้วย พรรคสามัคคีธรรม – พรรคชาติไทย- พรรคกิจสังคม – พรรคประชากรไทย – พรรคราษฎร ส่วนฝั่งพรรคที่คัดค้านการสืบทอดอำนาจพล.อ.สุจินดา เรียกว่า “พรรคเทพ” ซึ่งประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ – พรรคประชาธิปัตย์ – พรรคพลังธรรม – และพรรคเอกภาพ

โดยหลังจากเหตุการณนี้ ยังมีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก (โดย พล.อ.สุจินดา ได้แถลงว่ามีผู้เสียชีวิต 40คน และบาดเจ็บกว่า600คน โดยมีข้อโต้แย้งในเวลาต่อมาอีกว่า ที่จริงแล้ว ยังมีผู้สูญหายกว่าอีก40คน และจำนวนผู้บาดเจ็บก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ถึงทุกวันนี้เช่นกัน)

หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้นเอง ก็ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย คือ

การได้มาซึ่ง “นายกรัฐมนตรี” ต้องมาจากการเลือกตั้ง เท่านั้น!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน