“บิ๊กตู่” งัดมาตรา 44 อีก ออกคำสั่งคุ้มครอง-ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ยึดทรัพย์โครงการรับจำนำข้าวไม่ต้อง รับผิด ด้าน “วิษณุ” ย้ำให้อำนาจกรมบังคับคดีดำเนินการ เพราะมูลค่าเสียหายมาก กระทรวงรับมือไม่ไหว กกต.ซีเรียสใบดำเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต เพราะถูกสังคมโจมตี ยันไม่ได้คิดคำนี้เอง นักการเมืองไม่ติดใจให้ว่าที่นายกฯดีเบต ขณะที่ณัฐวุฒิย้อนถามกลับต้องรวมถึงนายกฯคนนอกด้วยหรือไม่ อุตตมพ้นตำแหน่งรมว.ไอซีที โพสต์ขอบคุณเจ้าหน้าที่-ข้าราชการให้ความร่วมมือทำงาน

“ตู่”แถลงผลงาน2ปี ออกจอ-ครึ่งวัน
เมื่อ เวลา 11.30 น. วันที่ 14 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการแถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 2 ปี ในวันที่ 15 ก.ย. ว่าประชาชนสามารถรับฟังได้จากการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ครึ่งวัน ตนจะพูดในหลักการ ที่ผ่านมาก็พูดจนไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว ส่วนการคาดหวังว่าประชาชนจะติดตามนั้น ขนาดตนพูดวันศุกร์ยังไม่ฟังเท่าไรเลย แต่ถ้าไม่ฟังก็ไม่รู้เรื่อง ไม่ร่วมมือ มีการต่อต้านมากขึ้น ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรถ้าไม่ช่วยกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะ มีนโยบายอะไรเซอร์ไพรส์ในวันแถลงหรือไม่ นายกฯกล่าวว่าไม่มี จะต้องเซอร์ไพรส์อะไร การที่ประเทศชาติจะต้องเปลี่ยนแปลงในอนาคตไม่เซอร์ไพรส์หรือ คิดว่าธรรมดาเหรอที่จะต้องทำในอีก 20 ปีข้างหน้า วันนี้หยุดมากี่ปีแล้ว โดย 2 ปีที่ผ่านมาก็ประกาศนโยบายพอแล้ว จะเอาอะไรใหม่ทุกวัน ทั้งของรัฐบาล คสช. และความคิดเห็นอื่นๆ อีก ตรงนี้หล่ะเซอร์ ไพรส์ในวันหน้าที่จะเกิดผล

“สื่อ ต้องดูทุกด้าน การเมือง เศรษฐกิจ การลงทุน ถ้าเขียนตรงนี้ไม่ดี ไม่ดูทุกด้าน ก็จะเขียนการเมืองไปอีกแบบ เศรษฐกิจมันก็เลวลง ในประเทศไม่เกิดความเชื่อมั่น มันก็ติดที่เดิม นี่คือข้อเท็จจริงไม่ได้ตำหนิสื่อ แต่ต้องคิดใหม่ แต่อะไรที่ติติงได้ก็ยอมรับถ้ามีหลักการและเหตุผลเพียงพอ อย่าทำให้คนใช้ความรู้สึกในการใช้ชีวิต และเปิดพื้นที่ให้คนไม่ดีมาพูดส่งเดชไปเรื่อย ผมไม่เห็นคุณค่าอะไรขึ้นมา แล้วจะให้ไปบังคับใช้กฎหมายเมื่อผ่อนคลายให้ก็กลายเป็นว่าอย่างนี้อย่างนั้น ผมไม่ฟังหรอกขี้เกียจ ไร้สาระ วันหน้าติดคุกก็ติดไป คดีความก็เยอะแยะ สื่อจะไปช่วยเขาก็ตามใจ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

แจงคุณสมบัติรมต.ดิจิทัล
ผู้ สื่อข่าวถามว่าที่นายกฯพูดมานี้เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงคำสั่งมาตรา 44 ให้ยกเลิกการขึ้นศาลทหารใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่าแล้วมันเสียหายตรงไหน มันดีหรือไม่ดี แต่ไม่ใช่ว่าตนถูกกดดันมา ตนไม่กลัวใครทั้งนั้น เพราะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเข้ามาแล้ว แต่รับผิดชอบประเทศชาติบ้านเมืองให้สงบสุข นึกถึงตนบ้าง ส่วนฝ่ายที่ระบุว่ายังต้องขึ้นศาลทหารอยู่ ก็เพราะเป็นคดีเดิม ยกเลิกย้อนหลังได้ไหมหรือ มีกฎหมายฉบับไหนเขายกเลิกย้อนหลังได้ ไม่มีก็จบ มาถามอะไร เหมือนจะไปเป็นตัวแทนพูดให้เขา ให้ยกเลิกของเก่า แล้วทำความผิดทำไม จริงๆ แล้วไม่ได้สำคัญว่าจะต้องขึ้นศาลอะไร สำคัญว่าทำความผิดหรือเปล่า ถ้าไม่มีคดีก็ไม่ต้องขึ้นศาลอะไรทั้งนั้น ศาลพระภูมิยังไม่ต้องขึ้นเลย

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึง คุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่า ที่ผ่านมานายอุตตม สาวนายน อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ก็ทำงานอยู่แล้ว ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามามีการปรับปรุงมาตั้งแต่คณะรัฐมนตรีชุดแรก เริ่มมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนภายในและการทำงานทั้งหมด เพียงแค่มีการปรับชื่อกระทรวงแล้วมีการปรับส่วนราชการภายในใหม่ สิ่งเหล่านี้เขาก็ทำงานกันอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่ต้องมีคุณสมบัติภายในใหม่ เพราะเป็นคุณสมบัติที่ทำมากับตน เขาก็อยู่ในกระบวนขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงแก้ไขกระทรวงไอซีทีมาตลอด ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร แล้ววันข้างหน้ามันจะเป็นอะไรไปเล่า ไม่ใช่เปลี่ยนชื่อแล้วต้องเปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่ มันไม่ใช่ เพราะเขาทำงานมาตั้งนานแล้ว และต้องเข้าใจว่าทุกอย่างที่ทำมาไม่ใช่ทำได้ปุ๊บปั๊บ กฎหมายมีหลายฉบับซึ่งรัฐมนตรีคนเดิมก็ทำทั้งนั้น รวมทั้งกระบวนการการประมูลต่างๆ ก็เป็นคนทำทั้งหมด ตนไม่ได้มานั่งทำเสียเมื่อไร

เปิดใจทำงานดีไม่แพ้อดีตผู้นำคนใด
ต่อ มาเวลา 14.45 น. ที่พื้นที่ก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานในพิธีเริ่มงานก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ตนทำทุกวันนี้ ไม่อยากพูดอะไรให้เกิดความเสียหาย ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีปัญหาอยู่บ้าง ส่วนจะดีหรือไม่ดี จะถูกหรือผิด ก็เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม ขอบคุณทุกคนที่อดทนมาร่วมกับตน ซึ่งทุกอย่างที่ทำไม่ใช่เพื่อตน แต่ทุกอย่างทำเพื่อประเทศไทยและคนไทยทุกคนต้องมีส่วนร่วม วันนี้รัฐบาลทำงานในทุกมิติ แต่ยอมรับว่ามันยาก และปัญหามีมาก แต่ก็แก้ได้ถ้าทุกคนร่วมมือและอดทน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนไปต่างประเทศขณะนี้เขาไว้เนื้อเชื่อใจประเทศไทยมากขึ้น รวมทั้งชื่นชม เสียอย่างเดียวว่าตนไม่ได้มาแบบคนอื่น แต่การทำงานต้องยอมรับว่าไม่น้อยหน้ากว่าใครเลย ตนไม่ได้อวดอ้าง แต่หลายอย่างกำลังเดินหน้า คนไทยต้องมีจิตใจเผื่อแผ่แบ่งปัน รวยมากตายไปก็เอาไปไม่ได้ จึงอยากให้ทุกคนดูในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และความพอเพียง ขอให้ทุกคนตั้งมั่นทำความดีเพื่อส่วนรวม ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งจะสูง และพอมีคนมาบิดเบือน ปลุกปั่นสถานการณ์ก็ไปกันใหญ่ ตนภูมิใจที่วันนี้ทุกคนร่วมมือกันและยืนยันว่าจะเร่งดำเนินงานตามโรดแม็ปที่ วางไว้ โดยมองอนาคตและแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ให้ระวังตัว-ยันมีมาตรการเข้มอีก
เมื่อ เวลา 18.30 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2559 พร้อมกล่าวเปิดงานว่า วันนี้ตนมีความเสี่ยง ทำอะไรที่เป็นปัญหาก็จะเสี่ยงทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนลดน้อยลง วันนี้ขออย่าต่อต้านในการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เพราะไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และสิ่งที่ทำวันนี้เพื่อวันหน้าจะได้เดินไปไหนมาไหนอย่างมีเกียรติ ตนไม่ได้ต้องการอำนาจบาตรใหญ่กับใครทั้งสิ้น เพียงแต่เดินไปไหนไม่ให้มีคนมารังเกียจก็พอ คนไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร แต่มักใช้สมองไปสร้างความขัดแย้ง แตกแยก ทะเลาะกันอยู่ข้างนอก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ตนพูดมากแต่หลายคนกลับไม่เข้าใจ กลับไปเชื่อคนที่พูดยุแยงเพียงเล็กน้อย จึงทำให้เป็นปัญหาทั้งหมด วันนี้จึงต้องเดินหน้ากันใหม่ เริ่มจากปฏิรูปตัวเองให้ได้ โดยไม่ต้องให้รัฐบาลสั่ง หรือใช้มาตรา 44 เพราะหากไม่ปฏิรูปตอนนี้ก็จะล้มทั้งหมด วันนี้ต้องวางแผนอนาคตและบูรณาการร่วมกันให้ได้ รัฐบาลและคสช. กำลังดำเนินงานปี 2559-60 ซึ่งจะมีความเข้มข้นออกมาเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องกฎหมายและมาตรการต่างๆ จึงขอให้ทุกคนระมัดระวัง ตนไม่ได้ขู่ เพราะคนคิดแปลกและไม่วางใจ

บินลงใต้-เปิดภูเก็ตสมาร์ทซิตี้
พ.อ.อธิ สิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 ก.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์จะลงพื้นที่จ.ภูเก็ต ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนโครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ และประชุมร่วมกับกรอ.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ และตรัง รวมทั้งพบปะประชาชนในพื้นที่ภูเก็ต

พ.อ.อธิ สิทธิ์กล่าวว่า ในช่วงเช้านายกฯเป็นประธานพิธีเปิดอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ที่ชานชาลาชั้น 3 อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จากนั้นเวลา 10.00 น. จะเปิดงาน “Startup Thailand & Digital Thailand ภูมิภาค 2016” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การส่งเสริมภูเก็ตสู่ศูนย์กลางธุรกิจสตาร์ตอัพและเมืองอัจฉริยะ” ที่ห้องประชุมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา เพื่อเน้นย้ำจุดยืนของรัฐบาลที่มีความตั้งใจสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น รวมทั้งเพื่อสร้างต่อเนื่องของกิจกรรมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติ อย่างแท้จริงและทันเหตุการณ์ และในช่วงบ่ายนายกฯเป็นประธานประชุมร่วมกับกรอ.ส่วนกลาง และกรอ.กลุ่มจังหวัดภาคใต้อันดามัน จากนั้นเดินทางกลับกทม.ในเวลา 17.30 น.

นายกฯระงับระบายข้าวในสต๊อก
ที่ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 5/2559 ภายหลังการประชุม นายกฯให้สัมภาษณ์ว่าการประชุมเพื่อทราบมาตรการช่วยเหลือที่ทำไปแล้ว เป็นการติดตามในส่วนของเกษตรกรและโครงการต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่วนการระบายข้าว มีมติให้ระงับไปก่อน เพื่อรองรับผลการผลิตการระบายข้าวในฤดูกาลใหม่ในเดือนพ.ย.เป็นต้นไป ต้องดูสถานการณ์ข้าวที่คงเหลือในคลังจะโครงการอะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดคือปัญหาถ้าเราปล่อยราคาในท้องตลาดก็ตกลง ราคาตลาดโลกลดลง ข้อสำคัญทำอย่างไรจะไปทำความเข้าใจเกษตรกรให้ได้มากที่สุด เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด ซึ่งภาระเรื่องนี้ยังมีอยู่มากหนี้สินที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าส่วนเรื่องคดีความเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม อย่าเพิ่งโทษกันไปกันมาจะเป็นผลเสียต่อการตรวจสอบ ในส่วนของรัฐบาลมีหน้าที่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมา 2 คณะ เป็นคนละหน้าที่กัน ฝ่ายหนึ่งตรวจสอบทางบัญชี ประเมินล่วงหน้าในแต่ละปี และอีกส่วนคือตรวจสอบความผิดทางละเมิดซึ่งมีกฎหมายอยู่ต้องไปดูว่าเป็นอย่าง ไรในอนาคต

แจงมาตรา 44 คดีข้าว-คุ้มครองจนท.
เมื่อ ถามว่าคำสั่ง 56/2559 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้รับผิดชอบเพื่อระงับความเสียหายของรัฐ ออกมาเพื่อให้กรมบังคับคดีสามารถดำเนินการยึดทรัพย์ได้เลยถ้ามีคำสั่งทาง ปกครองออกมาใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าให้คำสั่งทางปกครองออกมาก่อน ไม่ใช่ใช้คำสั่งมาตรา 44 เพื่อยึดทรัพย์เขา ให้เข้าใจตรงกันว่าเมื่อมีผลสรุปหรือมีมติออกมาแล้วก็ดำเนินการยึดทรัพย์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์รู้อยู่ว่าเขาไม่มีขีดความสามารถยึดทรัพย์ตรงนี้ คำสั่งมาตรา 44 เพียงแต่ให้กรมบังคับคดีเข้าไปดำเนินการในส่วนนี้ อย่าไปบอกว่าใช้มาตรา 44 ไม่ใช่ ตนไม่ทำอย่างนั้นอยู่แล้ว จะผิดจะถูกคณะกรรมการสอบสวนมาก็ตามนั้น ขณะเดียวกันทางคดีอาญาก็ว่ากันต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง เป็นคนละเรื่อง

เมื่อ ถามถึงความคืบหน้าคำสั่งทางปกครองในคดีรับจำนำข้าว นายกฯกล่าวว่าเรื่องคดีต้องไปถามอัยการกับศาล เดี๋ยวทำให้ทันมันมีระยะเวลาอยู่แล้วต้องเสร็จไม่เกินเดือนก.พ. ขณะนี้คณะกรรมการที่รับผิดชอบกำลังพิจารณาข้อสรุปออกมา เรื่องนี้ตนจะไม่ไปทาบทับ เพราะเป็นเรื่องของคณะกรรมการต้องสรุปมาตามกฎหมาย ตามระเบียบการ วิธีปฏิบัติ ก็ฟังเหตุผลเขาบ้างอย่าใช้ความรู้สึก ไม่อย่างนั้นเจ้าหน้าที่จะทำงานลำบาก

วิษณุชี้ต้องกรมบังคับคดีจัดการ
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 56/2559 ว่าการออกประกาศเป็นการเพิ่มการคุ้มครองการตรวจสอบพืชอีก 2 ชนิด คือมันสำปะหลังและข้าวโพดที่ต้องคุ้มครองให้ได้มาตรฐานเดียวกัน และให้อำนาจกรมบังคับคดีดำเนินการ จะไม่มีการใช้มาตรา 44 ไปตัดสินว่าใครผิดแล้วยึดทรัพย์เด็ดขาด แต่จะใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ ขณะที่การออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเรื่องข้าวกับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ในการซื้อขายข้าวแบบจีทูจี และคดีรับจำนำข้าวในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายวิษณุ กล่าวว่า หลักการปกติเป็นหน้าที่ของกระทรวงต้นสังกัดรับผิดชอบต้องยึดทรัพย์กันเอง แต่ครั้งนี้มูลค่าทรัพย์จำนวนมากกระทรวงไม่มีคนและไม่มีที่จะเก็บจึงต้องให้ กรมบังคับคดีเข้าไปจัดการ จึงต้องใช้มาตรา 44 กำหนดให้กรมบังคับคดีเป็นผู้เข้าไปดำเนินการแทนกระทรวง โดยยึดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539 แต่ไม่ใช่ว่าใช้มาตรา 44 ไปยึดทรัพย์ ส่วนจะยึดได้มากหรือน้อยเพียงใดเป็นไปตามกฎหมาย สำหรับกรณีมันสำปะหลังและข้าวโพด เมื่อมีคำวินิจฉัยแล้วกระทรวงของใครต้องไปยึดทรัพย์กันเอง ซึ่งเคยใช้คำสั่งลักษณะนี้ดำเนินการมา 3,000 คดี เมื่อถึงเวลายึดทรัพย์เจ้าหน้าที่กระทรวงจะเข้าไปยึดทรัพย์ มูลค่าหลักร้อยล้านบาท แต่เรื่องข้าวนั้นอาจยึดจำนวนมาก กระทรวงไม่มีเจ้าหน้าที่ไปยึด จึงต้องใช้มาตรา 44 ให้อำนาจกรมบังคับคดีเป็นผู้ปฏิบัติการเข้าไปทำหน้าที่ยึดทรัพย์ตามกฎหมาย

อ้างมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก
เมื่อถามว่าการยึดทรัพย์นายบุญทรงกับพวกใกล้เข้ามาแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าไม่ถึงขนาดนั้น เพราะยังไม่ถึงขั้นออกคำสั่งในเวลานี้ และเมื่อออกคำสั่งแล้วต้องดูว่าจะมีการอุทธรณ์หรือไม่ หากเป็นคำสั่งของรัฐมนตรีจะไม่สามารถอุทธรณ์ได้ เรื่องจึงจะไปที่ศาลปกครองเลย และหากศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราวการยึดจะไม่เกิดขึ้น แต่จำเป็นต้องตั้งเจ้าหน้าที่เอาไว้ เพราะเมื่อรู้ผลของคดีแล้วจะมีการยึดทรัพย์จริง กรมบังคับคดีจะเป็นผู้ดำเนินการ การออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ไม่มีผลต่อการพิจารณาของศาลปกครอง เพราะศาลปกครองจะดูในส่วนเหตุของการรับผิด และการรับผิดนั้นเป็นมูลค่าความเสียหายตามเวลาขณะนั้นหรือไม่ รวมทั้งดูวิธีพิจารณาอื่นๆ เช่น การตรวจสอบ ไต่สวน เป็นธรรมหรือไม่

“นี่ เป็นบทเรียน ถามว่าทำไมพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ถึงไม่ได้กำหนดหน่วยงานที่จะยึดทรัพย์ไว้ เพราะคิดว่าหน่วยงานใครหน่วยงานให้ยึดทรัพย์กันเอาเอง ไม่คิดว่าชาตินี้จะมีการยึดอะไรใหญ่โตมโหฬาร เพราะลำพังแค่ 10-20 ล้าน เขายึดได้ แต่เรื่องข้าวนั้นเป็นการยึดค่าเสียหาย ซึ่งต้องดูละเอียดมาก มืออาชีพมีอยู่แค่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) กับกรมบังคับคดี แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการฟอกเงิน จึงไม่ใช่หน้าที่ของปปง. เพราะชื่อกรมบังคับคดีก็บอกแล้วว่ามีหน้าที่ไปยึดทรัพย์ แม้จะมีคนบอกว่ามีอำนาจยึดทรัพย์เฉพาะที่ศาลสั่ง ถ้าหัวหน้าคสช.สั่งจะตกไปเราจึงออกมาตรา 44” นายวิษณุกล่าว

รอง นายกฯกล่าวว่า เรื่องนี้ที่เอาผิดผู้คุมนโยบายก่อน เพราะผู้คุมนโยบายถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลก่อน ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องรัฐบาลได้ดำเนินการอยู่ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน ส่วนการเรียกค่าเสียหายกับผู้ควบคุมนโยบายแทรกแซงมันสำปะหลังและนโยบายแทรก แซงข้าวโพด ไม่ทราบว่าเรื่องไปถึงไหน เพราะไม่เหมือนกับโครงการรับจำนำข้าว แต่จะหนักไปตรงที่นำผลิตภัณฑ์การเกษตรเข้ามาและเกิดความเสียหาย เนื่องจากระบายไม่ทัน อย่างค่าเสียหายในนโยบายแทรกแซงมันสำปะหลังจะอยู่ที่ 300-400 ล้านบาทเท่านั้น

“อุตตม”โพสต์ขอบคุณขรก.ไอซีที
ด้าน นายอุตตม สาวนายน อดีตรมว.เทค โนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงถึงการลาออกจากตำแหน่งว่า เป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับ ขั้นตอนของการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมใหม่ที่กำลังเกิด ขึ้นแทนกระทรวงไอซีทีปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายและแผนแม่บทการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของ รัฐบาล หรือดิจิทัลไทยแลนด์ ที่ได้วางไว้แล้ว ซึ่งขอขอบคุณข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของไอซีที หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และทุกคนที่ร่วมกันทำงานเป็นอย่างสูง ให้ดิจิทัลไทยแลนด์ก้าวหน้าต่อเนื่องเป็นรูปธรรม มีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืนก้าวทันเวทีโลก

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องรัฐมนตรีลาออก ตามที่นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.2559 ความเป็นรัฐมนตรีของนายอุตตมจึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.2559 ตามความในมาตรา 20 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 9 (2) ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกาศวันที่ 14 ก.ย. ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์

3 สปท.รุดชี้แจงกรธ.-กม.พรรค
ที่ รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจงของสมาชิก สปท. ต่อร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า การเชิญสปท.เข้าชี้แจงร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะอยากทราบว่าสิ่งที่ สปท.ได้อภิปรายมาตลอด 2 วันนั้น มีอะไรบ้าง แต่ร่างของ สปท. ยังไม่ได้ส่งเข้ามา เพราะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย (วิป 3 ฝ่าย) ก่อน

นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนมาตรา 276 ที่กำหนดให้ในการทำมาตรฐานทางจริยธรรมทางการเมือง องค์กรอิสระจะต้องรับฟังของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภานั้น ขณะนี้ยังไม่มี ส.ส.และส.ว. ดังนั้น เป็นหน้าที่สนช. เป็นผู้ให้ความเห็น แต่หากอดีต ส.ส.และอดีตส.ว. คนใดมีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวก็ยินดี เพราะศาลรัฐธรรมนูญเปิดกว้างพร้อมรับฟังอยู่แล้ว กรธ. จะรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่นๆ จะร่างออกมาอย่างไร

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ สปท. ได้ส่งผู้ชี้แจงร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง ต่อกรธ. 3 คนคือ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง นายวิทยา แก้วภราดัย และนายสมพงษ์ สระกวี

ไม่มีเซ็ตซีโร่สมาชิก-โยนสนช.
เวลา 17.00 น นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกันระหว่าง กรธ.กับกมธ.การเมือง สปท. ว่า กมธ.ได้เสนอหลักการของร่างพ.รบ.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยจะทำอย่างไรให้พรรคเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และในวันที่ 28 ก.ย.นี้ กรธ.จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย รวมถึงพรรคการเมือง และนำความเห็นต่างๆ มารวมกับความเห็นจากกกต.ที่เคยเสนอมาแล้ว ก่อนที่กรธ.จะลงมือร่างกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จเป็นฉบับแรก และจะแถลงให้ทราบต่อไป

นายอุดมกล่าวว่า หลักการเบื้องต้นของการส่งผู้สมัคร จะต้องหาวิธีให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด แต่คงไม่ถึงการใช้ไพรมารี่โหวต เพราะอาจวุ่นวายเกินไป ขณะที่เรื่องเงินบริจาคพรรคอาจจะต้องควบคุมเพดานเงินบริจาคเพื่อป้องกันนาย ทุนเข้ามาครอบงำพรรค รวมถึงจะกำหนดหลักเกณฑ์บางอย่าง เช่น ห้ามรับเงินบริจาคจากองค์กรต่างประเทศ ส่วนการก่อตั้งพรรค ต้องไม่ยากเกินไป แต่ต้องมีจำนวนสมาชิกและเงินทุนก่อตั้งเพื่อให้พรรคที่ตั้งขึ้น สามารถขับเคลื่อนได้ ไม่ใช่หวังพึ่งเงินจากกกต.อย่างเดียว

นาย อุดมกล่าวว่า ส่วนที่กมธ.การเมือง เคยเสนอให้มีเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคนั้น ไม่มีการพูดถึง และกรธ.ยังไม่มีแนวคิดเรื่องนี้ ทั้งหมดเป็นแนวทางเบื้องต้นที่กรธ.จะใช้ยกร่างกฎหมายพรรคการเมือง ส่วนจะเปลี่ยนแปลงประเด็นใดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสนช. และหากสนช.แก้ไขเปลี่ยนแปลงเกินหลักการของกรธ.ที่เสนอ จะต้องตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกรธ.กับสนช. ในสัดส่วนเท่าๆ กัน หากตกลงกันได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ายังเห็นขัดแย้งกันอยู่ สนช.ต้องใช้เสียงจากที่ประชุม สนช.เห็นชอบ 2 ใน 3 เพื่อผ่านกฎหมายดังกล่าวต่อไป

ศาลรธน.ได้แนวทาง-นัดถกอีก
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมเพื่อพิจารณา เรื่องที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งร่างรัฐธรรมนูญซึ่งแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียง ประชามติในประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับให้สมาชิกรัฐสภามีส่วนร่วมโหวตชื่อนายก รัฐมนตรี โดยที่ประชุมได้มีคำสั่งรับความเห็นและข้อมูลที่เกี่ยวข้องในประเด็นเพิ่ม เติมจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมไว้ในสำนวน และมีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย แต่ยังไม่เสร็จสิ้น จึงนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยต่อในวันที่ 21 ก.ย. เวลา 13.30 น. ทั้งนี้ คาดว่าในวันนั้น ที่ประชุมตุลาการจะนัดวันเพื่อลงมติในคำร้องดังกล่าว

รายงาน ข่าวแจ้งว่า ประเด็นการพิจารณาคำร้องของกรธ.นั้น ที่ประชุม นำรายละเอียดและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคำถามพ่วง ซึ่งสนช. สปท. และครม. ส่งให้ศาลมาพิจารณา โดยทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นำเนื้อหาของเอกสารมาพิจารณาและอภิปรายประเด็นที่มีข้อถกเถียง อาทิ ประเด็นร่วมพิจารณาในกระบวนการที่มาของนายกฯ อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณายังมีประเด็นต้องหารือในเชิงลึกและต้องนำร่างรัฐธรรม นูญฉบับผ่านประชามติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ มาพิจารณาร่วมด้วย ทำให้ที่ประชุม เห็นว่าเพื่อให้การพิจารณารอบคอบ จึงนัดอภิปรายต่อในวันที่ 21 ก.ย. เวลา 13.30 น. โดยไม่ร้องขอเอกสารหรือขอให้ผู้ใดมาชี้แจงเพิ่มเติม ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าในวันดังกล่าวจะได้ข้อยุติเบื้องต้น เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นและกรอบพิจารณาแล้ว

กกต.ถก”ใบดำ”-หันใช้ชื่ออื่น
รายงาน จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกต.เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ซึ่งมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่ คณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายของสำนักงานกกต. เป็นผู้เสนอ นอกจากที่ประชุมจะเห็นชอบและปรับแก้ร่างตามข้อเสนอการปฏิรูปการเลือกตั้งใน 4 ด้านตามที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เสนอแล้ว ยังมีการถกเถียงในประเด็นเรื่องใบดำ หรือการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการลงประชามติกำหนดไว้ในมาตรา 226 และยังมีการกำหนดไว้เป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ทางการเมืองและกรรมการองค์กรอิสระตามมาตราต่างๆ โดยที่ประชุมเห็นว่าการที่คณะทำงาน สร้างคำเรียก การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งว่าใบดำนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่นวัตกรรมที่กกต.สร้างขึ้น ทำให้กกต.ถูกโจมตีจากสังคม ทั้งที่โทษการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนั้นกรธ.เป็นผู้กำหนดขึ้นและ เขียนบัญญัติไว้ในมาตรา 226 ของร่างรัฐธรรมนูญ

รวมทั้งยัง เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 226 วรรคสามที่ให้ศาลฎีกาสั่งลงโทษผู้ที่กระทำทุจริตโดยสั่งเพิกถอนสิทธิสมัคร รับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปีนั้น ไม่ชัดเจนว่าหมายถึงแต่ละชนิดโทษนั้นมีระยะเวลา 10 ปี หรือโทษ 10 ปี เฉพาะการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและโทษเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นโทษ ตลอดชีพ เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (11) ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามการลงสมัครส.ส.ไว้ว่า ต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือก ตั้ง มีความหมายครอบคลุมให้ผู้ทุจริตที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับ เลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือกรรมการองค์กรอิสระได้ตลอดชีพอยู่แล้ว

ย้ำต้องเขียนปมเพิกถอนสิทธิสมัคร
การ เขียนร่างรัฐธรรมนูญของกรธ.จึงมีลักษณะเหมือนซ้อนทับกันอยู่ ซึ่งกกต.เป็นเพียงผู้ยกร่างกฎหมายลูกเท่านั้น จึงมีมติให้คณะทำงานไปแก้ไขร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. โดยไม่ให้เขียนเรื่องการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ในร่างกฎหมายดัง กล่าว แล้วทำเป็นข้อสังเกตของ กกต. แนบถึงกรธ.แทนว่า เรื่องนี้ไม่จำเป็นที่เขียนในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้ศาลเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากผลตามมาตรา 98(11) ทำให้เป็นการตัดสิทธิตลอดชีพอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้คณะทำงานไปปรับแก้โดยตัดอำนาจกกต.กรณีสามารถเสนอศาล ฎีกาสั่งเลือกตั้งใหม่อย่างเดียว หรือใบเหลือง หลังการประกาศผลการเลือกตั้งได้หากมีหลักฐานว่าการเลือกตั้งนั้นไม่สุจริต แต่ความผิดไม่สามารถเชื่อมโยงไปยังผู้สมัครได้ โดยเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 225 และ 226 ไม่เปิดโอกาสให้กกต.ดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายของสำนักงาน ยังเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเขียนเรื่องการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ ในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาในทางปฏิบัติกรณีหากเกิดความผิดขึ้นกกต.จะไม่สามารถ ตั้งเรื่องเสนอต่อศาลฎีกาได้ว่าจะให้ลงโทษผู้กระทำผิดในบทความผิดใด ซึ่งคณะทำงานจะเสนอเหตุความจำเป็นดังกล่าวอีกครั้งให้กกต.แต่ละคนทราบในวัน ที่ 15 ก.ย. หากกกต.ยังยืนยันตามมติที่ให้มีการปรับแก้ตัดการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือก ตั้งออกจะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังกรธ.ต่อไป

ส่วนแนวทาง ของ กกต.ที่เสนอว่าจะให้ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะเป็นนายกฯ ต้อง ดีเบตออกโทรทัศน์ 5-6 ครั้งนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้า กกต.กำหนดรูปแบบกติกาต่างๆ ที่เหมาะสม ก็คงเป็นประโยชน์ ส่วนที่กกต.จะเสนอให้มีการออกใบแดง ใบส้ม ใบเหลือง ใบดำ เพื่อกำหนดโทษในการเลือกตั้งนั้น เรื่องนี้เป็นไปตามร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

พท.เห็นด้วยให้ว่าที่นายกฯดีเบต
นาย นพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอในการร่างกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ของฝ่าย ต่างๆ ว่า ตอนนี้แนวคิดถูกโยนออกมาหลากหลาย แต่ยังไม่นิ่งและตกผลึก จึงไม่อยากวิจารณ์ แต่ส่วนตัวเห็นว่าการปฏิรูประบบการเมืองต้องเดินหน้าเพื่อให้การเมืองสุจริต และประสิทธิภาพมากขึ้น แม้เนื้อหาจะเข้มขึ้น แต่ถ้าประชาชนและประเทศได้ประโยชน์ คิดว่าน่าจะยอมรับกันได้ แต่กฎเกณฑ์ควรเป็นธรรม เท่าเทียมและได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด มีความชัดเจนและอย่าสุดโต่งจนเกินไป เพราะการกำหนดโทษสูงอย่างเดียวยังแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องมีมาตรการอื่นเสริมด้วย เช่น มาตรการทางสังคม ทราบว่ากรธ.จะเชิญทุกฝ่ายร่วมหารือเรื่องกฎหมายลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะได้ทราบปัญหาหลายมุม และหวังว่า กรธ.จะเปิดใจกว้างรับฟังความเห็นต่างมากขึ้น

นายนพดลกล่าว ว่า ส่วนที่ กกต.เสนอให้มีการดีเบตแคนดิเดตนายกฯ ก่อนเลือกตั้งนั้น ตนเห็นว่าการดีเบตเพื่อให้ประชาชนรับทราบนโยบาย และความคิดของแคนดิเดตนายกฯ เป็นสิ่งที่ดีและควรทำ แต่อาจไม่ต้องเป็นกฎหมาย เพราะหลายเรื่องควรให้เป็นธรรมชาติและเป็นวัฒนธรรมทางการเมือง แม้ในสหรัฐ หรืออังกฤษที่ดีเบตก่อนเลือกตั้งเขาทำกันเป็นปกติ แต่ไม่ใช่บังคับโดยกฎหมาย

เต้นถาม-นายกฯคนนอกดีเบตไหม
นาย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า เชื่อว่าไม่มีใครคัดค้านเรื่องให้แคนดิเดตนายกฯ ดีเบตออกโทรทัศน์ แต่ถ้าจะออกเป็นกฎหมายนั้น กกต.ต้องตอบให้ได้ว่านายกฯ คนนอกซึ่งไม่ผ่านการดีเบตจะทำอย่างไร เพราะด้วยกติกาและสิ่งแวดล้อมทางการเมืองขณะนี้ แน่นอนว่าจะมีนายกฯ ที่ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง เท่าที่ดูเนื้อหาร่างกฎหมายลูกหลายประเด็น เน้นระบบตรวจสอบเข้มข้นสำหรับนักการเมือง แต่ไม่พูดถึงคนที่ซุ่มรอจังหวะอยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจ ซึ่งคนบางกลุ่มนั่งรอสบายๆ คอยชุบมือเปิบจากหมากการเมืองที่วางไว้ วิธีแบบนี้ไม่ใช่การพัฒนาประชาธิปไตย แต่เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ระบอบเผด็จการมีอิทธิพลเหนืออำนาจอธิปไตยของ ประชาชน

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า สปท.ใช้เวทีประชุมพูดทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมืองตลอดเวลา ล่าสุดกล่าวหาว่าห้องประชุมกรรมาธิการคือห้องตบทรัพย์ เป็นการทำตั๋วโดยสารรอขึ้นรถไฟขบวนลากตั้งหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ เพราะยุทธศาสตร์ของอำนาจนอกระบบ คือการทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมืองจากการเลือกตั้ง คนพวกนี้จึงเร่งสร้างผลงานให้เข้าตาเพื่อให้ถูกหยิบไปใช้

ที่ วัดพระธาตุดอยคำ จ.เชียงใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางไปไหว้พระขอพรจากหลวงพ่อทันใจ เพื่อเป็นสิริมงคล โดยมีประชาชนมาให้กำลังใจและขอถ่ายรูปจำนวนมาก และในวันที่ 15 ก.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปร่วมทำบุญงานสลากย้อมและสลากภัต ที่วัดพระธาตุหริภุญ ชัยวรมหาวิหาร จ.ลำพูน ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวล้านนา ปัจจุบันเหลือที่ จ.ลำพูนเพียงแห่งเดียว และเป็นแห่งเดียวในโลกที่ยังคงประเพณีนี้อยู่

ม.44-คุ้มครองจนท.คดีจำนำ
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 ก.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 56/2559 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดํา เนินการต่อผู้ต้องรับผิด ตามที่ได้ดําเนินการโครงการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจํานําข้าวเปลือก โครงการแทรกแซง มันสําปะหลัง หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปรากฏว่าปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรดังกล่าวคงเหลือในการดูแลของรัฐ ที่เก็บอยู่ทั่วประเทศจํานวนมาก รัฐต้องจัดสรรงบประมาณจํานวนมาก เพื่อไม่ให้การบริหารจัดการและการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่คงเหลือ เกิดความเสียหาย

ดังนั้น หัวหน้า คสช.จึงอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ให้บุคคล คณะบุคคล คณะทํางาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย หรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคสช. บริหารจัดการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหรือข้าวโพด ที่อยู่ในโครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 จนถึงปีการผลิต 2555/2556 โครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2551/2552 ยังคงมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการดังกล่าวต่อไปเช่นเดิม เพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องดําเนินการเพื่อให้ทราบตัวผู้ต้องรับผิดและเรียกให้ผู้นั้นชดใช้ ความเสียหายแก่รัฐตามกฎหมาย และการกระทำการถือว่าไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น

ทั้งนี้ เมื่อได้มีคําสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือคําสั่งหรือคําพิพากษาของ ศาลแล้วแต่กรณี ให้มีการบังคับทางปกครองต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของ รัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2548/2549 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 โครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐ หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้กรมบังคับคดีมีอํานาจหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคําสั่งหรือคําพิพากษา และให้ได้รับความคุ้มครองด้วย

ในกรณีเห็นสมควร นายกฯอาจเสนอให้คสช.แก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้

คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่งวันที่ 13 ก.ย.2559

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคสช.

ตั้งกก.สอบหน.อุทยานเกาะเสม็ด
เมื่อ วันที่ 14 ก.ย. นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามในคำสั่งย้ายนายธนิต จันทะเดช หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง ไปประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) ที่ 2 (ศรีราชา), นายประยูร พงศ์พันธ์ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส สบอ.ที่ 12 (นครสวรรค์) เป็นหัวหน้าอุทยานฯเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด, นายวสันต์ ปิ่นเงิน หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา จ.ศรีสะเกษ ไปประจำ สบอ.ที่ 9 (อุบลราชธานี), นายตระกูล อาจอารัญ ผช.หัวหน้าอุทยานฯ เขาใหญ่ เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ ห้วยศาลา จ.ศรีสะเกษ, นายวิบูลย์ คำสัมฤทธิ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทับทัน-ห้วยสำราญ จ.สุรินทร์ ไปประจำ สบอ.ที่ 9 (อุบลราชธานี), นายวุฒิกุล งามปัญญา หัวหน้าจัดการต้นน้ำห้วยสวาย ส่วนจัดการต้นน้ำ สบอ.ที่ 9 (อุบลราชธานี) เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ ทับทัน-ห้วยสำราญ

นายธัญญากล่าวว่า การย้ายหัวหน้าอุทยานฯ เขาแหลมหญ้า-เกาะเสม็ด มาประจำ เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีร้องเรียนพฤติกรรมหลายเรื่องมาถึงตนและพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรฯ จึงตรวจสอบเชิงลึกพบว่ามีมูล รวมทั้งไม่สามารถแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ปล่อยให้มีการต่อเติมและก่อสร้างใหม่ในเขตอุทยานฯ ส่วนที่เขตรักษาพันธุ์ฯ ห้วยศาลากับเขตรักษาพันธุ์ฯ ทับทัน-ห้วยสำราญ ก็เพื่อตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงทั้งเรื่องรถ เรื่องไม้พะยูงที่ถูกลักลอบตัดหลายครั้ง

ด้านนายธนิศ จันทะเดช หัวหน้าอุทยานฯ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด กล่าวว่ายังไม่ทราบว่าถูกเรื่องอะไร แต่น้อมรับคำสั่งตามวิถีทางของข้าราชการ 1 ปีที่ผ่านมาทำงานอย่างมุ่งมั่น ทั้งการจัดระเบียบร้านค้า ระเบียบหาดจนสามารถเก็บเงินนักท่องเที่ยวได้ถึง 19 ล้านบาท แต่บนเกาะเสม็ดมีมาเฟียหลายพวก ตนต้องถูกร้องเรียนอยู่เสมอเมื่อต้องไปแตะอะไร เชื่อว่าจะมีผู้สูญเสียอำนาจ ผู้ประกอบการที่ทำผิดระเบียบต้องเป็นผู้ร้องเรียน ตนทำสิ่งที่ถูกต้องขัดขวางมาเฟียจึงถูกร้องเรียน ช่วงนี้ฤดูโยกย้ายก็เล่นรุนแรง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน