สิทธิมนุษยชนปกป้องโจร?

ใบตองแห้ง

 

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ รู้ตั้งแต่ยังไม่ทันอ้าปากด้วยซ้ำ ว่าพอแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกมาประท้วงโทษประหารชีวิต จะต้องถูกสังคมไทยรุมยำ ทั้งชาวเน็ตชาวบ้านและสื่อ แทบไม่เลือกข้างเลือกสีอีกต่างหาก

บ้างก็บอกให้พวกแอมเนสตี้เอานักโทษประหารไปเลี้ยงที่บ้าน ไม่ต่างจากบอกให้ฐปนีย์ เอียดศรีชัย เลี้ยงโรฮิงยา สนุกปากเฮฮากับการเย้ยหยัน เรียกเพื่อนกดไลก์กระหน่ำ (แต่พอ UNHCR เอาดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็ช่วยกันบริจาคตังค์เพื่อผู้อพยพ ซาบซึ้งจัง เมืองไทยเมืองพุทธ)

มองย้อนการเมืองแต่ละข้าง UN นักสิทธิมนุษยชน ก็โดนด่ามาทั้งนั้น ไม่ว่ายุคทักษิณ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีฆ่าตัดตอน กรือเซะ ตากใบ หรือยุคอภิสิทธิ์ ที่สั่งใช้กระสุนจริง 99 ศพ มากระทั่งยุคนี้ ที่ชาวโลกเรียกว่าเผด็จการ

เพียงแต่บางช่วงก็จะมีพวกช่วยอ้างสิทธิมนุษยชนเป็นอาวุธ เช่นด่าทักกี้อุ้มฆ่า 3 จังหวัดใต้ แต่ที่ไหนได้เชียร์รัฐประหาร หนุนการกระชับพื้นที่แล้วบิ๊กคลีนนิ่ง นักสิทธิมนุษยชนตัวจริงที่วิจารณ์ทุกฝ่ายก็กลายเป็นหมาหัวเน่าไป

ยังจำได้ไหม ปี 47-48 หลังคดีปล้นปืน “โจรใต้” ฆ่าคนบริสุทธิ์ นักสิทธิวิจารณ์การใช้ความรุนแรงกรือเซะ ตากใบ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใช้กฎอัยการศึกคุมตัวผู้ต้องสงสัย ก็ถูกตอบโต้ “สิทธิมนุษยชนไม่ได้มีไว้ปกป้องโจร” นักสิทธิคำนึงถึงหัวอกครอบครัวคนบริสุทธิ์ที่ถูกฆ่าไหม

คำถามคือการใช้ความรุนแรง ใช้อำนาจเกินกฎหมาย ทำให้คนบริสุทธิ์ถูกฆ่าตายมากขึ้นหรือน้อยลง ทำให้สถานการณ์ลดลงหรือเปล่า ซึ่งยังคงมีคำถามถึงทุกวันนี้

ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดใต้อาจมีหลายมิติ ประวัติศาสตร์ การเมือง ศาสนา อัตลักษณ์ ฯลฯ แต่หลักการเบื้องต้น ถ้ารัฐมุ่งปราบปรามโดยไม่แยแสสิทธิมนุษยชน ไม่คำนึงความยุติธรรม ก็ยิ่งผลักคนไปเป็น “โจร” ยิ่งทำให้คนบริสุทธิ์ตายมากขึ้น

โทษประหารก็คล้ายกัน แม้เป็นการลงทัณฑ์ผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่ที่ UN แอมเนสตี้ รณรงค์ให้ยกเลิก เพราะเขาเชื่อว่าไม่ช่วยลดอาชญากรรม ดังมีสถิติในหลายประเทศ แม้ลงโทษอย่างรุนแรง อาชญากรรมก็ยังแรง แต่ประเทศที่ยกเลิกโทษประหาร แล้วหันไปควบคุมสาเหตุด้านอื่นๆ กลับมีคนบริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อน้อยลง

ซึ่งถ้าจะแย้งว่า Thailand Only สิ่งที่ประเทศอื่นทำได้ผล ใช้กับเมืองไทยไม่ได้หรอก ฯลฯ ก็โต้แย้งกันได้ แต่นี่คนไทยกลับด่า UN แอมเนสตี้ ว่าปกป้องโจรปล้นฆ่า ข่มขืนเด็ก สวยหั่นศพ ฯลฯ พร้อมกับย้อนว่าถ้าพ่อแม่พวกมึงโดนฆ่ามั่ง จะโลกสวยใจพระอย่างนี้ไหม

ก็เป็นวาทกรรมเท่ๆ ของสังคมที่ไม่เคยมองกว้างไปกว่าใช้ยาแรงลงโทษคนเลว ยิ่งพูดได้สะใจ ยิ่งทำให้ตัวเองเป็นคนดี แบบข่มขืนประหาร เฆี่ยนต่อหน้าสาธารณะ แต่ไม่เคยวิเคราะห์ว่า โทษประหารลดอาชญากรรมได้จริงหรือ ยาแรงปราบโกงได้จริงไหม

ที่น่าอนาถใจคือคนอีกข้างที่เคยโวยความยุติธรรมสองมาตรฐาน กลับมีไม่น้อยที่เห็นด้วยกับโทษประหาร การใช้ยาแรง ทั้งที่ประเด็นสำคัญกว่ายกเลิกโทษประหารหรือไม่ คือทำอย่างไรจะให้ประชาชนเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม ว่าไม่มีจับแพะ ยัดข้อหา หรือคนทำผิดเชื่อว่าตัวเองสามารถหลุดคดีได้ กระบวนการลดโทษทำอย่างไรให้สังคมมั่นใจว่าเสมอภาคเที่ยงธรรม นั่นต่างหาก ที่จะทำให้คนทำผิดหลาบจำ

ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ไม่ได้อยู่ที่โทษประหารชีวิต หากอยู่ที่ความยุติธรรมศักดิ์สิทธิ์ สังคมเชื่อมั่น

สิ่งที่คนไทยไม่ทันมอง ก็คือท่าที UN แอมเนสตี้ “ผิดหวัง” เพราะในที่ประชุม UPR เมื่อเดือน พ.ค.59 เราไปยอมรับ ข้อเสนอทบทวนการยกเลิกโทษประหารชีวิต ไว้ในแผนสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3

แม้ยังไม่รับปากยกเลิก แต่วิษณุ เครืองาม ก็เคยพูดเองว่า “เราได้รับปากในที่ประชุมกรรมการสิทธิมนุษยชนที่กรุงเจนีวา ซึ่งเขาขอร้องให้เรายกเลิก ซึ่งเรายังทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ความผิดใหม่จะไม่กำหนดโทษประหารชีวิต และจะทยอยเปลี่ยนจากโทษที่บังคับให้ประหารชีวิตอย่างเดียว ให้มีทางเลือกจำคุกตลอดชีวิตได้”

คือถ้าไทยมีการลงโทษประหารมาต่อเนื่อง UN แอมเนสตี้ก็ไม่ท้วงหรอกว่า ผิดคำมั่น โดยพอดีกันเลยที่ลุงตู่จะไปยุโรป เห็นข่าวคนไทยที่นั่นจะประท้วงหัวหน้าคณะรัฐประหาร เผลอๆ จะมีแอมเนสตี้ยุโรปออกมาคัดค้านด้วย

แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็หายห่วง รับประกันคนไทยส่งกำลังใจให้ลุงตู่ล้นหลาม ตอบ UN ไปเลยว่าคดีข่มขืนเรายังจะเพิ่มโทษตัดหำด้วย

(หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน