คดีสลายชุมนุมปี’53 ยังไม่จบ! ย้อนดู 2 ช่องทางสู้ต่อ “ฟ้องทหารวัดใจ-ชงตั้งชุดไต่สวนอิสระ” อ้างผลไต่สวนชันสูตรพลิกศพเหยื่อมือเปล่าไม่มีอาวุธ

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่คณะกรรมการป.ป.ช. มีมติไม่รื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุมกลุ่มนปช. ระหว่างเดือนเม.ย.-พ.ค. 53 จนมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน ที่ให้เอาผิดกับ นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในปี 2553 กับกรณีที่ ศาลมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4288-4289/2560 ที่โจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ โดยยืนตามศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลอาญา แต่อยู่ในเขตอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.61 ที่ผ่านมานั้น ก็เคยมีการนำเสนอช่องทางในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ญาติเหยื่อปี’53 เพื่อนำทั้งคนสั่งการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เบื้องต้น 2 ช่องทางคือ

1.นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะทำงาน ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายกาารชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 2 ก.ย.60 เสนอให้ ใช้ประโยชน์จากคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ต่อคดีนี้เมื่อเดือนธ.ค. 2558 ที่ชี้ช่องให้ ดีเอสไอ ไปเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ เท่ากับเสนอให้อัยการและผู้เสียหายเอาทหารเข้ามาเป็นคู่ความโดยตรงนั่นเอง แม้ว่าจะฟ้องเจ้าหน้าที่ระดับล่าง แต่ก็น่าสนใจว่านักการเมืองและผู้นำกองทัพจะทอดทิ้งกำลังพลของตนเองหรือไม่ ทั้งนี้ ข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วงไต่สวนการตาย 21 ศพ ไม่มีกรณีใดที่ศาลชี้ว่าผู้ที่เสียชีวิตมีอาวุธ และยังระบุชื่อของเจ้าหน้าที่ทหาร และหน่วยทหารที่ประจำอยู่ในจุดนั้นๆ

2.นางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการป.ป.ช.และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ให้ความเห็นเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 60 ที่ผ่านมา ใจความว่า คำพิพากษาดังกล่าว เป็นการเปิดทางให้ ญาติผู้เสียหาย จากการสลายการชุมนุมกลุ่มนปช. ระหว่างเดือนเม.ย. – พ.ค. เมื่อปี 2553 สามารถนำเรื่องดังกล่าว ยื่นร้องต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ตามมาตรา 275 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ และหากเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีมูล ก็จะมีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการไต่สวนอิสระ ที่จะมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับป.ป.ช. หรือสั่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนคำร้องนั้น

 

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ประชาไท

“สิ่งที่จะมีน้ำหนักให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีการับคำร้องของญาติผู้เสียหาย คือ ข้อเท็จจริงจาก ผลการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ของผู้เสียชีวิต 21 ราย ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการในศาลชั้นต้น ที่ชี้ชัดว่า ผู้เสียชีวิตเกิดจากกระสุนปืนฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร และไม่พบคราบเขม่าดินปืนหรือาวุธบนตัวผู้เสียชีวิต คำพิพากษาศาลฎีกาที่ยืนตามศาลอุทธรณ์ว่า คดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ไม่อยู่ในอำนาจศาลอาญา เป็นเพียงแง่มุมทางกฎหมาย จึงไม่ใช่เรื่องหมดหวัง” อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและอดีตป.ป.ช.ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน