มีชัย เผย มีกฎหมายมาก ไม่ได้ทำสังคมสงบ รับวันหนึ่งสำนึกบาป เคย ‘มันมือ’ ทำออกมามหาศาล สุดท้ายไปตกอยู่ในมือคนมีอำนาจ

มีชัย – เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 ก.ค. ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย จัดสัมมนาเรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และประธานกรรมการพัฒนากฎหมาย บรรยายพิเศษตอนหนึ่ง ว่า ภูมิหลังมาตรานี้เกิดจากมองเห็นอันตรายของการมีกฎหมาย เดิมคิดว่ามันดี ทำให้สังคมยึดถือปฏิบัติเดินไปในทางเดียวกัน สร้างระบบระเบียบให้ประชาชนทำตาม ประเทศไทยมีกฎหมายกว่า 2,000 ฉบับ แต่ถามว่าสงบสันติเรียบร้อยหรือไม่ คำตอบคือไม่ นับวันยิ่งแย่ขึ้น ความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็น้อยลง ที่อันตรายคือ มันสร้างอำนาจให้เจ้าหน้าที่ ผลงานดีเด่นของสภาในการออกกฎหมายเยอะๆ ถูกต้องหรือไม่ จึงเป็นสิ่งเหล่านี้ต้องทบทวน

“ผมเป็นคนหนึ่งที่ทำกฎหมายมหาศาลออกมา แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ก่อนออกกฎหมาย เอาเข้าจริงกลับสร้างความไม่เป็นธรรม อึดอัดขับข้องต่อการดำรงชีวิตและการงาน การออกกฎหมายจำนวนมาก จึงไม่ใช่ของดี วันนึงผมก็สำนึกบาป กฎหมายที่ออกไปไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เพราะมันจะไปตกในมือคน ที่ใช้ระบบพรรคพวกตามวัฒนธรรมแบบไทยๆ ไม่บังคับใช้อย่างที่ควรเป็น ผมคิดแบบนี้มา 20 ปีแล้ว ปราชญ์กรีกท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า อันกฎหมายก็เสมือนใยแมงมุม คอยขยุ้มแมงตัวน้อยไม่ปล่อยหนี แต่แมงตัวใหญ่ผ่านไปได้ทุกที จึงนำไปสู่การวางกรอบในรัฐธรรมนูญ ให้ทำตามเงื่อนไขที่วางไว้ ห้ามขัดหลักนิติธรรม หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ต้องทำให้กฎหมายเหลือน้อยให้ได้” นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวว่า สนช.เคยพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการควบคุมการขอทาน ในปี 2559 ทำเป็นวาระแห่งชาติ แต่ผิดมาตรา 77 ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่จำเป็น ทั้งยังห้ามคนขอทานให้มีโทษอาญา ถามว่า พระเป็นขอทานหรือไม่ ถูกห้ามหรือไม่ มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ใช้อธิบดีครึ่งประเทศมาดูแล จึงเป็นตัวอย่างว่า ทำไมมาตรา 77 จึงละเอียดล้วงลึก ทั้งสำหรับกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่ ให้เลิกหรือปรับปรุงสอดคล้องกับสมัยใหม่ ไม่จำเป็นไม่ต้องใช้ระบบขออนุญาต เพราะ ทำให้เกิดความลักลั่น และช่องทางการทุจริตมโหฬาร และต้องไม่ใช้ระบบคณะกรรมการ เพราะไม่มีคนทำงาน พร้อมต้องกำหนดเวลาใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ถ้าไม่ทันให้มีการลงโทษทั้งทางอาญาหรือปกครองและแพ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน