เปิดผัง! เลือดข้นคนกลาง ผู้อยู่เบื้องหลัง ดัน บิ๊กตู่ เป็นนายกฯได้อีกครั้ง

เปิดผัง! บิ๊กตู่ เป็นนายกอีกครั้ง / เพจ iLaw ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองกำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ใกล้จะลงจากอำนาจและเปิดทางให้เกิดการเลือกตั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า (24 กุมภาพันธ์ 2562) ขณะที่พรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่า เริ่มทยอยจัดประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค ผู้บริหารพรรค และเตรียมตัวเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง

ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” อันทรงอำนาจ เกียรติยศ และผลประโยชน์ ผู้นำฝ่ายบริหารของรัฐไทย กำลังจะว่างลงอีกครั้ง พรรคการเมืองทั้งหลายที่เตรียมลงชิงชัยก็จ้องกวาดเสียงในสนามเลือกตั้งเพื่อชิงเก้าอี้ตัวนี้กันอย่างเต็มที่ หลังอดทนรอกันมานานกว่า 4 ปี แต่ถ้าใครยังไม่รู้ ลุงตู่ ยังมีโอกาสจะกลับมารับตำแหน่งนายกฯ รอบ 2 ได้

ไอลอว์ทำแผนผังอธิบายว่า ลุงตู่จะกลับมาเป็นนายกฯ ได้อย่างไร

เริ่มแรก รัฐธรรนูญฉบับปัจจุบันซึ่งร่างโดยคนของ คสช. กำหนดให้รัฐสภามี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 500 คน และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน รวม 750 คน และคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติก็ให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ ได้ด้วย (ปกติเป็นหน้าที่ส.ส.เท่านั้น) โดยนายกฯ จะต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรือ 376 เสียง

จุดพีคของแผนนี้ก็คือ ส.ว. ชุดแรก 250 คน ประกอบด้วย ผบ.เหล่าทัพเป็นส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คนและที่เหลืออีก 244 คน คัดเลือกมาโดยคสช. แค่นี้ก็เป็น 1 ใน 3 ของเสียงที่ใช้เลือกนายกฯ แล้ว และเหลืออีกเพียงแค่ 126 เสียงจาก ส.ส. เท่านั้น

ภาพจาก iLaw

ถ้าหาก “ลุงตู่” สนใจที่จะเล่นการเมืองตามที่ประกาศไว้และลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย พรรคการเมืองของลุงตู่ก็ต้องหา ส.ส. อีกไม่มากนัก และชวนพรรคการเมืองที่สนับสนุนแนวทางเดียวกันมารวมกันอีกไม่กี่พรรค จัดสรรผลประโยชน์ตำแหน่งรัฐมนตรีให้ดี ส.ส. 126 คนที่จะลงคะแนนเสียง เลือกลุงตู่กลับมาเป็นนายรัฐมนตรี ให้นั่งเก้าอี้ต่อเนื่องยาวนานไปเรื่อยๆ คงไม่ไกลเกินฝัน

ซึ่งไม่ต้องห่วงเลย เพราะถึงช่วงกลางปี 2561 ก็มีอย่างน้อย 9 พรรคการเมืองและ 1 กลุ่มการเมืองแล้วที่ประกาศกร้าวพร้อมสนับสนุนลุงตู่ให้กลับเป็นนายกฯ อีกรอบ เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งมีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำคนสำคัญ พรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่ง ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นแกนนำพรรค และกลุ่มสามมิตร ซึ่งประกอบด้วย 3 ส. ได้แก่ สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สองอดีตนักการเมือง และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช.

แต่ถ้าหาก ลุงตู่ สงวนท่าทีไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเสียเอง ก็ไม่ได้หมายความว่า จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญยังเปิดช่องสำหรับ “นายกฯ คนนอก” ที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งก็ได้ แต่กระบวนการอาจจะซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีกหน่อย เพราะต้องอาศัย ส.ส. ถึงครึ่งสภาที่เห็นด้วยว่า จะให้มีนายกฯ คนนอกได้

แค่นั้นยังไม่พอ คสช. ยังได้ออกแบบระบบการนับจำนวนที่นั่ง ส.ส. อันพิสดารที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA สร้างวิธีการคำนวนที่นั่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่พรรคการเมืองใดจะชนะและมี ส.ส. ครองเสียงได้เกินครึ่งสภา ไม่ต้องพูดถึงเลยว่า จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาหรือ 376 เสียงเอาไว้ใช้เลือกนายกฯ ระบบนี้จึงทำให้ผู้สนับสนุนลุงตู่หายห่วงไปได้ว่า “อำนาจเก่า” จะไม่มีทางกลับมาเป็น “เผด็จการรัฐสภา” และโหวตเอาลุงตู่กับพรรคพวกออกไปจากอำนาจได้

ระบบ MMA ที่ว่านี้ นอกจากจะตัดโอกาสของพรรคขนาดใหญ่ที่จะครองที่นั่งจำนวนมากในสภาได้แล้ว ยังเกลี่ยคะแนนเสียงไปคิดคำนวนเป็นจำนวนที่นั่งเพิ่มให้กับพรรคขนาดกลางๆ และพรรคขนาดเล็ก ที่มีโอกาสจะได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตเลือกตั้งระหว่าง 10-30 คน ให้ได้ที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกโดยไม่ต้องลงแรงอะไรมากมาย เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังชล พรรคภูมิใจไทย และถึงวันนี้พรรคการเมืองเหล่านี้ก็ยังไม่มีพรรคไหนที่ประกาศว่า จะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.

เมื่อมีองค์ประกอบทั้งพรรคการเมืองที่จะมาเป็นกองหนุน และระบบกลไกที่เอื้อประโยชน์ให้พร้อมเสร็จสรรพแบบนี้แล้ว ไม่ว่า สนามเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคการเมืองจะต่อสู้แย่งชิงความนิยมกันอย่างเข้มข้นเพียงใด เส้นทางการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง ของคนที่อ้างตัวว่า “เป็นกลาง” อย่างลุงตู่ ก็คงไม่ได้ยากเย็นเกินที่จะไปให้ถึง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน