เทียบคดีต่อคดี! จำนำข้าว จีที200 ความกระตือรือร้นขององค์กรปราบทุจริต

เทียบคดีต่อคดี! จำนำข้าว จีที200 / เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์จัดเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี คณะรัฐศาสตร์ หัวข้อ “Anti-Corruption Politics สู้กับทุจริตเพื่ออะไร” บรรยายโดย นายโยชิฟูมิ ทามาดะ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินรายการโดย นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

นายโยชิฟูมิกล่าวว่า การต่อต้านทุจริตในไทยรุนแรงขึ้นหลังตั้งองค์กรปราบปรามต่างๆ อย่าง ป.ป.ช. ที่เน้นด้านการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ ปัญหาคือการต่อต้านทุจริตไทยเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง ขบวนการยุติธรรมมีลักษณะเลือกปฏิบัติ การทุจริตเป็นข้ออ้างต่อต้านประชาธิปไตยและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และมีการปราบปรามการทุจริตที่ไม่เท่าเทียมกันและไม่เสมอกันเมื่อเทียบกับต่างชาติ

สองมาตรฐาน

รถดับเพลิงกทม.ที่บริษัทออสเตรีย ติดสินบนให้ซื้อในราคาแพง ไทยลงโทษหนัก แต่ที่ออสเตรียไม่เอาผิดบริษัทที่ติดสินบน แต่สั่งให้จ่ายค่าชดเชยกทม. หรือคดีมิตซูบิชิ MHPS ทำสัญญารับงานโรงผลิตไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช จ่ายสินบน 20 ล้าน อัยการญี่ปุ่นฟ้องพนักงานผู้ใหญ่ 3 คน ไม่โทษพนักงานพื้นที่ แต่ป.ป.ช. เผยว่าคนรับเงินคือข้าราชการกรมเจ้าท่า นักการเมืองท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจน้ำ 4-5 คน

โดยอธิบายว่าจับมือกับฝ่ายญี่ปุ่นมาหลายปีแล้วจึงทราบว่าอะไรเป็นอะไร แต่ไม่นานนี้กรรมการป.ป.ช. ตั้งใจพูดว่าการรับสินบนคดีเกิดขึ้นในการควบคุมของรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

กรณี จีที200 รัฐบาลไทยซื้อมาจำนวนมากโดยเฉพาะกองทัพบก สมัยพล.อ.อนุพงษ์ เป็นผบ.ทบ. การใช้งานเกิดปัญหาตั้งแต่ปี 2551 มีผู้บริสุทธิ์ถูกจับจากการตรวจจับของเครื่องนี้ จนอังกฤษห้ามส่งออกปี 2553 และลงโทษผู้ผลิตปี 2556 มีคนร้องเรียนเอาผิดรวม 12 คดี ตั้งแต่ปี 2556 แต่ป.ป.ช.ทำงานช้ามาก ล่าสุดกรรมการป.ป.ช.บอกว่าเครื่องนี้เป็นความเชื่อเหมือนพระเครื่อง ฉะนั้นมีประโยชน์

บทความของบีบีซีเทียบคดี จีที200 กับจำนำข้าว ว่าท่าทีป.ป.ช.ต่างกันมาก จีที200 อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน แต่จำนำข้าวคืบหน้าเร็วมาก ลงโทษไปแล้ว กรณีการขายข้าวแบบจีทูจีปลอมที่ซื้อแพงขายถูกแล้วรัฐบาลขาดทุน ถ้าคิดแบบญี่ปุ่นไม่ผิดกฎหมาย เพราะถือเป็นนโยบายสังคม ค่าข้าวถึงมือชาวนาแล้วเรียกค่าเสียหายกับนายกฯได้อย่างไร

หรือคดีโรงพัก 396 แห่ง สร้างไม่เสร็จตามสัญญาแต่บริษัทได้ค่าชดเชยจากรัฐบาล ดีเอสไอเห็นควรสั่งฟ้อง แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง

โยชิฟูมิ ทามาดะ มหาวิทยาลัยเกียวโต

ทุจริตกับประชาธิปไตย คนละเรื่องกัน

การเล่นการเมืองกับการทุจริต คือการตราหน้าว่าทุจริตเพื่อเรียกความชอบธรรมต่อการกระทำที่ผิดกติกา มีอะไรก็ตราหน้าว่าการทุจริตหมด ไม่ชอบนักการเมืองก็ว่าทุจริต โดยมีปัจจัยเสริมคือกระบวนการยุติธรรมที่ขาดความยุติธรรม แล้วองค์กรต่อต้านการทุจริตเชื่อถือได้แค่ไหน เมื่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นไทยแถลงว่าให้คะแนนร้อยเปอร์เซ็นต์ในความตั้งใจปราบปรามทุจริตในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์

ต้องแยกเรื่องการทุจริตกับเรื่องประชาธิปไตย เพราะการบอกว่าขจัดทุจริตแล้วจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั้นไม่จริง หรือบอกว่าเป็นประชาธิปไตยจะมีการทุจริตมากขึ้นก็ไม่เกี่ยวกัน ไม่มีการเลือกตั้งก็มีการทุจริต เราควรไว้ใจประชาชนมากขึ้น การเลือกตั้งเป็นวิธีที่ตรวจสอบอำนาจที่ดีอันดับหนึ่ง

การต้านทุจริตคือทุจริต

ด้านนายพิชญ์กล่าวว่า กระแสต้านทุจริตมีอยู่ในหลายกลุ่มหลายพวก ทั้งจากการเคลื่อนไหวของประชาชน จากนักธุรกิจที่เสียประโยชน์ และจากองค์กรอิสระที่ต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างเป็นทางการ เช่นป.ป.ช. ซึ่งถูกลากเข้ามาหรือมีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางการเมือง

แทนที่จะเป็นองค์กรยับยั้งความขัดแย้งทางการเมือง การไม่ตัดสินของป.ป.ช.อาจน่ากลัวยิ่งกว่าการตัดสิน เพราะการลากยาวทำให้มีผลทางการเมืองมากกว่าการที่ป.ป.ช.ตัดสินเสียด้วยซ้ำ เช่นหลายคดีในฝ่ายปชป. หรือกปปส. ยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้น นำไปสู่คำถามว่าใครสามารถตรวจสอบ ป.ป.ช.ได้บ้าง

Anti-Corruption Politics สู้กับทุจริตเพื่ออะไร

4 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่เราเห็นคือปัญหาคอร์รัปชั่นถูกฝังลงไปในรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรัฐที่ไม่ว่าจะประชาธิปไตยหรือเผด็จการก็ไม่ได้ทำให้รูปแบบการคอร์รัปชั่นเปลี่ยนแปลงไปนัก มีหลายกรณีในโลกที่การคอร์รัปชั่นลดลงในสังคมเผด็จการที่ต้องการการยอมรับจากประชาชน แต่ไม่ใช่เงื่อนไขอัตโนมัติว่าประชาธิปไตยหรือเผด็จการทำให้เกิดคอร์รัปชั่น แต่โครงสร้างรัฐต่างหากที่ทำให้คอร์รัปชั่นเฟื่องฟู จึงต้องแก้ที่โครงสร้างของรัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน