เปิดภาพ ‘หมอ กปปส.’ เผยตำแหน่งก่อน-หลังรัฐประหาร หลายคนโดนทหารเด้ง!

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. เพจ Gossip สาสุข รวบรวมภาพแพทย์ที่เข้าร่วมกับกลุ่ม กปปส. เนื่องในโอกาสที่ใกล้ครบรอบ 5 ปี การก่อตั้ง กปปส. ซึ่งนำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เลขาธิการ กปปส. และผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยทางเพจได้สรุปเหตุการณ์ช่วงกปปส.ของแต่ละคนพร้อมเปรียบเทียบตำแหน่งก่อนและหลังรัฐประหาร

– นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์

  • ตำแหน่ง : ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (เจ้าของนกหวีดทองคำ)
  • ตำแหน่งหลังรัฐประหาร : สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

นพ.ณรงค์เป็นข้าราชการระดับสูงคนแรก ที่ประกาศตัวไม่ร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมขึ้นป้ายกลางกระทรวงสาธารณสุขว่า “ไม่เอารัฐบาลโกงประชาชน”จนสุเทพ เทือกสุบรรณ ยกพลชาว กปปส.บุกกระทรวงมอบ “นกหวีดทองคำ” เป็นที่ระลึก เพื่อชื่นชมความกล้าหาญ

หลังรัฐประหาร นพ.ณรงค์ มีชื่อว่าอาจได้รับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข แต่ คสช.กลับแต่งตั้ง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็น รมว.สาธารณสุข แทน และในที่สุด นพ.ณรงค์ ก็ถูกคำสั่งย้ายให้ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แขวนไว้นาน 1 ปีกว่า กระทั่งเปลี่ยนรัฐมนตรี ถึงได้กลับมาเป็นปลัดช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ

หลังจากเกษียณอายุราชการ นพ.ณรงค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ รวมถึงเป็น กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ในปี 2560

– นพ.มงคล ณ สงขลา

  • ตำแหน่ง : อดีต รมว.สาธารณสุข ยุครัฐประหารโดย คมช.
  • ตำแหน่งหลังรัฐประหาร : ไม่มี

วันที่ กปปส.เคลื่อนไหว “ชัตดาวน์ กทม.” 13 ม.ค. 2557 นพ.มงคล เป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มแพทย์อาวุโส นำแพทย์อาวุโสอย่าง นพ.หทัย ชิตานนท์, นพ.บรรลุ ศิริพานิช, นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ร่วมกับประชาคมสาธารณสุข ไป “ชัตดาวน์” ห้าแยกลาดพร้าว แต่ตอนครบรอบ 2 ปีชัตดาวน์ กทม. นพ.มงคล กลับโพสต์เฟซบุ๊ก ว่าการร่วมชุมนุมกับ กปปส. คือสิ่งที่ผิดพลาดในชีวิต

“นี่คือสิ่งที่ผมทำผิดมหันต์ในชีวิต เพราะสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้แย่ยิ่งกว่า และไม่มีโอกาสออกไปเดิน เพราะกลัวอำนาจรัฐบาลทหารครับ”

สืบเนื่องจากคำสั่ง ม.44 ปลดบอร์ด สสส. รวม 7 คน ซึ่งรวมถึง นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานบอร์ด สสส. โดยระบุว่าเป็นเพราะบอร์ดเหล่านี้ มีผลประโยชน์ทับซ้อน ในเวลาต่อมา นพ.มงคล ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการทำงานของรัฐบาล ว่าต้องการล้มหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค และลาออกจาก กรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ ซึ่ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ก่อตั้งด้วย

– นพ.อำพล จินดาวัฒนะ

  • ตำแหน่ง : เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
  • ตำแหน่งหลังรัฐประหาร : สปช., สปท., กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม

20 ม.ค. 2557 นพ.อำพล นำ “นกหวีดยักษ์”มาสร้างสีสันในการเดินขบวนของเครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์ ชมรมแพทย์ชนบท บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่ม “ประชาคมสาธารณสุข” จากสี่แยกอโศก ถึงศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี โดยมีผู้ร่วมชุมนุมใส่เสื้อกาวน์จำนวนมาก

หลังรัฐประหาร นพ.อำพล เข้าไปเป็น สปช. ด้านสังคม และโหวต “งดออกเสียง” รัฐธรรมนูญ ฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่หลังจาก สปช. สลายไป นพ.อำพล ก็ได้ทำงานในตำแหน่ง สปท.ต่อ และยังมีชื่อเป็น กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม อีกด้วย

– ศ.นพ.อุดม คชินทร

  • ตำแหน่ง : คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
  • ตำแหน่งหลังรัฐประหาร : รมช.ศึกษาธิการ

ศ.นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ ยอมรับว่าเป็นชายในภาพสวมเสื้อยืด ห้อยนกหวีด โบกธงชาติหน้าศูนย์การค้าสยาม พารากอน สนับสนุนกปปส.ในคืนวันที่ 19 ม.ค. 2557 เป็นภาพตัวเอง เพราะเห็นด้วยกับแนวคิด “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” และเห็นว่าควรจะเจรจาให้จบ เพื่อยุติความรุนแรง แล้วจึงค่อยมีการเลือกตั้ง

สอดคล้องแนวคิดของบุคลากรทางการแพทย์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รามาธิบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลัง คสช. รับตำแหน่ง ศ.นพ.อุดม เงียบหายไประยะหนึ่ง เพราะต้องไปดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล แทน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ที่ลาออกไปเป็น รมว.สาธารณสุข จน ก.ค. 2560 ศ.นพ.อุดม ประกาศลาออกจากอธิการบดีมหิดล จากปัญหาที่รองอธิการบดีทั้ง 13 คนของมหาวิทยาลัย ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากต้องแจงทรัพย์สินต่อ ปปช.

พ.ย. 2560 ในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งหลังสุดของรัฐบาล คสช. ปรากฏชื่อ ศ.นพ.อุดม เข้าไปเป็น รมช.ศึกษาธิการ โดยมีภารกิจ ตั้ง กระทรวงอุดมศึกษา ให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้

– นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

  • ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา, แกนนำชมรมแพทย์ชนบท
  • ตำแหน่งปัจจุบัน : เหมือนเดิม

นพ.สุภัทร เป็นผู้นำรถพยาบาลจาก รพ.จะนะ พร้อมทีมแพทย์มาตั้งหน่วยปฐมพยาบาลผู้ชุมนุมกปปส. ที่สนามม้านางเลิ้ง ตั้งแต่ช่วงพยายามบุกทำเนียบรัฐบาล และมีบทบาทเคลื่อนไหวร่วมกับมวลมหาประชาชนสม่ำเสมอ ด้วยประโยคฮิต รองเท้าผ้าใบกับใจถึงๆ และขึ้นเวที กปปส. ในนาม “แพทย์ชนบท” หลายครั้ง โดยเขียนบทความเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ลาออก และปฏิเสธการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็น “ยาขนานเก่าที่หมดอายุ”

หลังการรัฐประหาร นพ.สุภัทร เป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้งกลุ่ม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จนเป็นหนึ่งใน 11 แกนนำที่ถูกจับเข้าค่ายเสณาณรงค์ จ.สงขลา เมื่อ 20 ส.ค. 2557 หลังรัฐประหารเพียงไม่กี่เดือน

จากนั้นได้วิจารณ์ คสช.กรณีปลดบอร์ด สสส. โดยระบุว่า วิธีคิดของ คสช. คือวิธีคิดแบบทหาร ที่ตั้งใจคุมความคิดของสังคม และเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ก็โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า คนใต้ ไม่สนับสนุน คสช. แล้ว

– ประชาคมสาธารณสุข

  • ตำแหน่ง : แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทั่วประเทศ
  • ตำแหน่งปัจจุบัน : ไม่ปรากฏชัดเจน

นพ.ณรงค์ ตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขจณะนั้น ได้ตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวชื่อ “ประชาคมสาธารณสุข” รวบรวมข้าราชการ วิชาชีพต่างๆ ร่วม “อารยะขัดขืน” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่ 15 ธ.ค. 2556 หลัง ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภา 1 สัปดาห์ โดยเสนอให้ตั้ง “องค์กรกลาง” เพื่อปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จนมีการติดป้าย “ไม่เอารัฐบาลโกงประชาชน” หน้าโรงพยาบาลทั่วประเทศ ในนาม “ประชาคมสาธารณสุข” มีกลุ่มที่เคลื่อนไหวร่วมกันเช่น นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงฯ ในขณะนั้น พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รวมถึง พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

แต่หลังจากรัฐประหาร กลุ่มประชาคมสาธารณสุข ค่อยๆ เงียบหายไป แม้คึกคักขึ้นมาช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามในคำสั่งย้าย นพ.ณรงค์ ออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ไม่สามารถปลุกประชาคมขึ้นได้ จนปัจจุบัน ชื่อประชาคมสาธารณสุข จางหายไป เหลือเพียงชื่อในประวัติศาสตร์การต่อสู้ร่วมกับกปปส.เท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน