สนช.นัดประชุม 13 มค. แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 3 วาระรวดเปิดทางแก้ไขร่างฉบับ‘มีชัย’ หมวดพระมหากษัตริย์ ‘บิ๊กตู่’เผยเอง เดินหน้าเลือกตั้งหลัง 2 พระราชพิธีสำคัญ ‘วิษณุ’คาดแก้ไข แล้วเสร็จใน 1 เดือน ‘บิ๊กป้อม’ลั่นสร้างปรองดองให้ได้ แต่ไม่เกี่ยวนิรโทษกรรม สปท.เสนอสูตรปรองดองอีก ให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีไม่ร้ายแรง แอมเนสตี้จี้ยุติดำเนินคดี ‘ไผ่ ดาวดิน’ ‘จตุพร’พ้นคุก ศาลให้ประกัน 6 แสน ครม.ตั้ง‘ธีระพงษ์’นั่งเลขาฯครม. ใช้ ม.44 ยกเครื่องกระทรวงศึกษาธิการ

แจงปฏิรูปอาจต้องใช้ม.44

เมื่อวันที่ 10 มค.เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองว่า การปฏิรูปหมายถึงคิดใหม่ ทำใหม่ วันนี้รัฐบาลทำงานตามแผนงาน บูรณาการ ปฏิรูประบบราชการและระบบงบประมาณ แก้ไขปัญหาครบวงจร เดินหน้าตามนโยบายการปฏิรูปของรัฐบาลมีความคืบหน้ามากตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูป ปรองดอง โดย นำงานที่ทำแล้วทั้งหมดมาดูเพื่อให้เกิดความชัดเจน ส่วนที่ยังทำไม่ได้เนื่องจากติดกฎหมายก็ต้องเร่งรัด หากจำเป็นก็ต้องใช้มาตรา 44 ดำเนินการ นี่คือการปฏิรูประยะ ที่ 1 ปี 2560 เพราะตนไม่ได้อยู่ถึง 20 ปีแต่จะทำให้เกิดความชัดเจนให้ทุกอย่างอยู่ในแผนแม่บท นี่คือการส่งต่อ สืบทอดอำนาจของตนให้แก่รัฐบาลใหม่

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนการปฏิรูป ที่เสร็จแล้ว เช่น การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยู การแก้ปัญหาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) นอกจากนี้ยังปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม มีกองทุนยุติธรรม รัฐบาลออกกฎหมายกว่า 180 ฉบับ กำลังพิจารณาอีกกว่า 200 ฉบับ ยังไม่เข้ามาอีก 200 ฉบับ รวมเป็น 580 ฉบับ เรายังอำนวยความสะดวกประชาชน โดยลดขั้นตอนการลงทุน ตั้งบริษัท มีพ.ร.บ.อำนายความสะดวก พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร ตั้งศูนย์ดำรงธรรม 3 ปีรับเรื่องร้องเรียนกว่า 8 ล้านเรื่อง แก้ปัญหาได้กว่า 90% ก่อนหน้านี้มีผู้หญิงนุ่งกระโจมอกอาบน้ำบนถนนเป็นบ่อหลุมเราก็แก้ไข ถือเป็นการปฏิรูปการทำงานของรัฐบาล ข้าราชการ

ปรองดองไม่ใช่เอาคนพ้นคุก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องปรองดอง อย่าเข้าใจว่าต้องทำด้วยการพูดคุยกับนักโทษหรือผู้มีความผิดเท่านั้น สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรเพื่อไม่ให้คนไทยทะเลาะกันอีก ที่ผ่านมาทะเลาะกันเพราะเหตุใด ทำไมคนไทยถึงปฏิสัมพันธ์กันไม่ได้ อย่ามัวสนใจ แต่ว่าจะเอาคนติดคุกออกมา หรือให้คนที่อยู่ต่างประเทศกลับมาหรือไม่ เอาคนที่อยู่ในประเทศวันนี้ก่อน เดือดร้อนมากหรือไม่ เทียบกับคนที่อยู่ต่างประเทศใครเดือนร้อนกว่ากัน เดือดร้อนเพราะอะไร คิดให้เป็น ต้องปฏิรูปทางความคิดด้วย อย่าหาเหตุจนกระทั่งทำอะไรไม่ได้ แต่จะให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาดูว่าจะเสนอเรื่องปรองดองอย่างไร ถ้าเสนอรวมกันไม่ได้ ก็ให้แต่ละพรรคเสนอเข้ามาแล้วให้นักข่าวตัดสิน

เตรียมแก้ร่างรธน.

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่า เป็นไปตาม ขั้นตอน เนื่องจากวันที่ 9 ม.ค. องคมนตรีได้มาพบและสืบเนื่องจากสำนักราชเลขาธิการ ทำเรื่องมาที่รัฐบาลว่ามีประเด็นที่ต้องหารือในเรื่องรัฐธรรมนูญ หมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งฝ่ายองคมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายไปแล้ว และมีกระแสพระราชดำรัสลงมาว่ามี 3-4 รายการที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นเรื่องพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน และรัฐบาลรับสนองพระบรมราชโองการ

“การจะทำได้ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวซึ่งคงใช้เวลาไม่นาน ไม่เกิน 1 เดือน แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะแก้ได้ก่อน และแก้ ในสาระตรงนี้ เมื่อนำลงมาแล้วก็แก้ฉบับร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯส่งขึ้นไป ต้องนำลงมาก่อนแล้วแก้และดำเนินการให้เร็วที่สุด ดังนั้นยังอยู่ในกรอบเวลา ซึ่งจะครบในวันที่ 6 ก.พ. โดยการแก้ไขใช้เวลาประมาณ 1 เดือนน่าจะเสร็จได้ และจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ ที่จะได้เสนอโปรดเกล้าฯ มาอีกครั้ง ขอเถอะเพราะเป็นเรื่องของพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน” นายกฯกล่าว

ต้องแก้รธน.ชั่วคราวก่อน

นายกฯ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวจำเป็นต้องแก้ไข เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านประชามติไปแล้ว ฉะนั้นเมื่อจะแก้ในส่วนนี้ก็ต้องหาวิธีแก้ให้ได้โดยไม่ต้องไปทำประชามติเพราะไม่ได้เกี่ยวกับประชาชน เป็นไป การถวายพระราชอำนาจพระองค์ท่านเท่านั้น เรื่องสำคัญคืออย่าไปสร้างปัญหาอีกเลยเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ การแก้ไขต่างๆ เหล่านี้ ตนบอกแล้วและสิ่งที่พูดขอให้จำไว้ด้วยไม่เคยไปเลื่อนขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนยังมีเหมือนเดิมทุกประการ เวลาทุกอย่างมีหมด 240 วัน 150 วัน 90 วัน สุดแต่ว่าขั้นตอนไหนจะไปอยู่ตรงไหน มันทำได้แค่ไหนก็อยู่ตรงนั้น

“ทุกอย่างเริ่มสตาร์ตเมื่อมีรัฐธรรมนูญถาวรลงมา เมื่อลงมาก็นับไป จะเลือกตั้งเมื่อไรก็ตามนั้น ถ้ามีเหตุการณ์มาแทรกในขั้นตอน การเลือกตั้ง หาเสียง หรือการประชุมพรรคช่วงนั้นตามเวลาเดิมจะเกิดอะไรขึ้น เรื่องงานราชพิธีพระบรมศพ เข้าใจกันบ้าง พอทุกอย่างเรียบร้อยก็เดินต่อ เมื่อไรก็เมื่อนั้น ผมไม่ได้ไปดึง ยืด มีใครรู้มาก่อนไหมว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น สมมติผ่านไปถึงขั้นตอนการหาเสียงแล้วเลือกตั้งได้จะตีกันอีกไหม ทะเลาะกันอีกหรือเปล่า เมื่อตอบ ไม่ได้แล้วจะให้ผมยืนยันนี่โน่น ผมก็ยืนยันขั้นตอนของผม 240 วัน 150 วัน 90 วัน บวกกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ปลดล็อกหลังราชพิธีพระบรมศพ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า โดยปลายปีนี้หลังพระราชพิธี ตนจะให้เดินการเมืองได้หลังจากพระราชพิธีพระบรมศพและบรมราชา ภิเษก จากนั้นเริ่มจะพูดคุย เตรียมคน จะ เลือกตั้งอะไรก็ว่าไป ซึ่งต้องหลังพระราชพิธีพระบรมศพเรื่องของการเมืองก็เดินไป แต่ถ้าตีกันอีกก็มีปัญหาอีก ไม่รู้จะแก้อย่างไรเหมือนกัน เมื่อเลือกมาแล้วก็เดินตามขั้นตอน ได้เมื่อไรตนไม่รู้ แล้วไปแก้ตรงไหน ถ้าตนแก้ก็ให้ไม่ต้องมี ยกเลิก คัดใหม่ทั้งหมด ต้องใช้สมองคิด อย่าใช้อย่างอื่นคิด

นายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุมร่วมครม.-คสช.มีมติขอแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 39 วรรคหนึ่ง สื่ออย่าเขียนให้เสียหาย รู้ว่าอะไรสูงอะไรต่ำบ้าง นอกจากนี้ยังมีเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และเรื่องรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้ส่วนต่อขยายแล้วเสร็จก่อนเดือนส.ค.ปีหน้าที่พูดมาทั้งหมดเป็นสาระ ไม่ใช่สาระแน นี่ไม่ใช่คำหยาบแต่เป็นคำไทย อย่าไปเขียนเอง บิดเบือนไปเรื่อยเปื่อย ส่วนการเมืองวันนี้ถือว่าเดินหน้าอยู่แล้ว โดยรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกก็เดินไป เมื่อหลังเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีก็จะให้หาเสียง เลือกตั้งปลายปี 2560 และได้รัฐบาลในปี 2561

ตั้งกก.พิเศษแก้ไขร่างรธน.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ว่า ที่ประชุมร่วมครม.และคสช.ไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดยมีมติให้ใช้มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่บัญญัติไว้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้สามารถขอรับร่างรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้วนำกลับลงมาปรับปรุงบางมาตราได้ ในเฉพาะประเด็นที่มีการแจ้งมา ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะใช้เวลาทำให้เสร็จใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญกลับคืนมาแล้ว

เมื่อถามว่าผู้ที่จะทำหน้าที่แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ คือกรธ. หรือสนช. นายวิษณุกล่าวว่า ตามทฤษฎีแล้วระบุว่าเวลาจะยกร่างรัฐธรรมนูญ นายกฯ จะเป็นผู้แก้ให้เป็นไปตามที่ได้รับการแจ้งมา โดยนายกฯจะตั้งคณะกรรมการพิเศษ ประกอบด้วย คณะกรรมการกฤษฎีกา 8-10 คน ขึ้นมาพิจารณา เนื่องจากแก้ไขเพียงไม่กี่มาตราและไม่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือโครงสร้างทางการเมือง กระบวนการเลือกตั้ง ไม่กระทบรัฐสภา ครม. ศาล องค์กรอิสระ หรือกระบวนการใดๆ ในทางการเมือง แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

ให้เริ่มนับหนึ่งใหม่

เมื่อถามว่าหลังจากแก้ไขแล้วจะเข้าสู่การนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 90 วัน ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่เพราะรับคืนกลับมาทั้งฉบับ เมื่อถามถึงกระแสข่าวจะมีการแก้ไขใน 3 มาตรา คือ มาตรา 5 ,17 และ 182 รองนายกฯ กล่าวว่า ในหลักการเป็นเช่นนั้น แต่เราต้องไปพิจารณาว่าไปเกี่ยวพันกับประเด็นหลักหรือไม่ ถ้าเกี่ยวโยงกับมาตราอื่นๆ ก็ต้องไปแก้ไขตรงนั้นด้วย ทั้งนี้ หากต้องเริ่มกระบวนการนับใหม่ 90 วัน รัฐบาลก็ยังยืนยันในโรดแม็ปเดิมอยู่

สนช.ถกแก้รธน.ชั่วคราว 13 มค.

เวลา 16.00 น. ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือวิปสนช. แถลงหลังประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์มีหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ว่า ที่ประชุมครม.ร่วมกับคสช.มีมติเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่..(พ.ศ…) เป็นเรื่องด่วน วันเดียวกันนี้ สนช.ได้นำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมวิปสนช. และเห็นว่าขั้นตอนของสนช.ที่จะใช้เวลาพิจารณา จำเป็นที่จะใช้ความรวดเร็วเพื่อนำไปสู่การประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ จะส่งผลต่อการดำเนินการตามโรดแม็ปที่รัฐบาลวางไว้ วิปสนช.จึงมีมติให้บรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมสนช.ในวันที่ 13 ม.ค. เป็นเรื่องด่วน

นพ.เจตน์กล่าวว่า เนื่องจากสนช.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันนี้ แต่จะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคสช.และครม. ที่ประชุมวิปสนช.จึงเห็นสมควรให้พิจารณา 3 วาระรวด โดยใช้กมธ.เต็มสภา ซึ่งได้แจ้งให้ครม.และคสช.ที่มีอำนาจเต็มมาชี้แจงสาระสำคัญและรายละเอียดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าว โดยทราบว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ชี้แจง

เผยปรับแก้ม.2-ม.39/1

นพ.เจตน์กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีสาระสำคัญ 2 ประเด็น คือเกี่ยวกับเรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และระยะเวลาในการทูลเกล้าทูลกระหม่อมและ พระราชทานรัฐธรรมนูญกลับคืนมา ทั้งนี้ วันที่ 11 ม.ค. กมธ.พิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่หนึ่ง เป็นประธาน มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมสนช.

สำหรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่จะเสนอเข้าที่ประชุมสนช. มีการปรับแก้ 2 ประเด็นคือ ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง”

อีกประเด็นคือ ให้ยกเลิกความในวรรคสิบเอ็ดของมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2559 โดยให้ใช้ความต่อไปนี้ “เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้า ประกอบกับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน ข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกฯ ขอรับพระราช ทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภ ของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้ นายกฯ นำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับพระราช ทานคืนมาตามที่ขอ เมื่อนายกฯ นำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้น ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกฯ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข เพิ่มเติมและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันที่นายกฯนำร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป”

‘มีชัย’ชี้แก้รธน.หน้าที่นายกฯ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวถึงคสช.และครม.มีมติร่วมเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ให้ สนช.พิจารณาแก้ไข ในส่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ผ่านประชามติ ตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมี ข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขข้อความใดว่า กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามตินั้น เป็นเรื่องของนายกฯ ที่จะดำเนินการ เพราะในมาตรา 4 ที่ขอแก้ไขมาตรา 39/1 วรรคสิบเอ็ด ให้เป็นข้อความใหม่นั้นระบุไว้ชัดเจนว่า กรณี ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใด ภายใน 90 วัน ให้นายกฯ ต้องขอรับพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น

นายมีชัยกล่าวว่า กระบวนการที่จะเกิดขึ้นต่อจากนั้นคือนายกฯ ต้องดำเนินการ ไม่ได้เป็นหน้าที่ของกรธ.ที่ต้องดำเนินการ เพราะหน้าที่ของกรธ.เสร็จสิ้นแล้ว ตั้งแต่ที่ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติให้นายกฯ ดำเนินการทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ตอนนี้ ถือว่ากรธ.มีเวลาทำกฎหมายลูกมากขึ้น ถือเป็นผลดี ส่วนจะเริ่มนับหนึ่งแล้วส่งสนช.เมื่อใดต้องขึ้นอยู่กับที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ

‘ธีระพงษ์’ขยับนั่งเลขาฯครม.

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่นายวิษณุ เครืองาม รอง นายกฯ เสนอแต่งตั้ง นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส รองเลขาธิการครม. เป็น เลขาธิการครม. เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

ครม.มีมติเห็นชอบตามที่รมว.ยุติธรรมเสนอแต่งตั้ง 2 คน คือ 1.นายสมชาย เสียงหลาย เป็นที่ปรึกษารมว.ยุติธรรม 2.นายถาวร พรหมมีชัย เป็นเลขานุการรมว.ยุติธรรม

และครม.เห็นชอบตามที่รมว.อุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้ง นายสุวินัย ต่อศิริสุข เป็นเลขา นุการรมว.อุตสาหกรรม

จ่อใช้ม.44 ยกเครื่องศธ.

ผู้ช่วยโฆษกรัฐบาลแถลงว่า ที่ประชุม ร่วมครม.และคสช.เห็นชอบการเตรียมออกร่างกฎหมาย อาศัยตามอำนาจมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหา จำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นการแก้ปัญหาโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ซึ่งเป็นอดีตรมว.ศึกษาธิการ เสนอว่าการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างและแตกต่างจากการบริหารงานของกระทรวงอื่น เพราะมี 5 แท่งในการบริหารงาน และมีข้าราชการระดับ 11 ถึง 5 คน ดังนั้นควรจะดำเนินการต่อไป โดยแท่งบริหารงานทั้ง 5 นั้นยังอยู่ แต่จะยุบคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ของกระทรวงศึกษาธิการ จาก 5 แท่ง ให้เหลือเพียงอ.ก.พ.ศธ.เดียว เพื่อเกลี่ยอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเป็นไปได้ด้วยดี และแก้ข้อขัดข้องที่มีอยู่มาตลอด ส่วนฉบับที่ 2 เรื่องหลักการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การ ปฏิรูปและการสร้างความสามัคคีปรองดอง ทั้งสองฉบับจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเร็วๆ นี้

ช่วงค่ำมีราชกิจจาเผยแพร่คำสั่งมาตรา 44 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการ โดยยุบอ.ก.พ.เหลือคณะเดียว

‘ป้อม’ชี้ปรองดองไม่เกี่ยวนิรโทษ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมร่วมครม.-คสช.ว่า ที่ประชุมมอบให้ตนเป็นคนดูแลเรื่องปรองดอง ส่วนรายชื่อคณะกรรมการจะมีใครบ้างนั้นยังไม่ทราบ เรื่องนี้ตนทำได้และจะทำให้เกิดความปรองดองให้ได้ ตอนนี้มีหน่วยงานที่สำคัญคือมหาดไทย กลาโหม เหล่าทัพที่จะเข้ามาร่วม และจะเชิญหัวหน้าพรรค ผู้แทนพรรค หรือกลุ่มมวลชนต่างๆ เพื่อเชิญมาพูดคุยกันทีละพรรคสองพรรค หาข้อยุติให้ได้มากที่สุด ว่าการอยู่ด้วยกันอย่างสันติต้องทำอย่างไรบ้าง เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตจะทำอย่างไร แต่ต้องไม่เกี่ยวกับกฎหมาย เพราะนั่นเป็นเรื่องคดี

เมื่อถามว่าจะนำเรื่องนิรโทษกรรมมาพิจารณาด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “บอกอยู่เดี๋ยวนี้ ถามอย่างนี้น่าเบื่อ เพิ่งตอบไปว่าให้อยู่ในกฎหมาย ยังจะเอาเรื่องนิรโทษมาอีก จะถามอะไรผมไม่รู้เรื่อง เขายังไม่ได้บอกผมมาเลย มาถามผมได้อย่างไรแบบนี้ คำถามแบบมโนแบบนี้ผมไม่เอา อย่ามาถามไปข้างหน้า ถ้าเผื่ออย่างนั้นถ้าเผื่ออย่างนี้ สมมติว่าอย่างนี้ เลิกถามได้แล้ว ทั้งนี้ จะต้องทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง ผมอยากให้อยู่กันได้ตกลงกันได้ทุกฝ่ายเพื่อความปรองดอง ทั้งหมดต้องมีกติกา การจะปรองดองต้องมีกติกา ต้องใช้กติการ่วมกัน ผมคิดอย่างนี้และจะทำให้เกิดการปรองดองให้ได้”

สปท.ดันสูตรปรองดอง

ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้สัมภาษณ์ถึงรายงานเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองว่า ในวันที่ 19 ม.ค.นี้จะนำรายงานเข้าที่ประชุมวิปสปท. จากนั้นวันที่ 23 หรือ 24 ม.ค. หากไม่ติดขัดอะไรจะพยายามนำเข้าที่ประชุมใหญ่สปท.เพื่อพิจารณา โดยหลักการต้องเป็นคดีที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์วันที่ 19 ก.ย.2549-22 พ.ค.2558 แยกคดีเป็นของชาวบ้านทั่วไปกับคดีแกนนำผู้ชุมนุม และแบ่งคดีเป็นชนิดร้ายแรงกับคดีไม่ร้ายแรง โดยคดีไม่ ร้ายแรงของชาวบ้านทั่วไปที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ถ้าจำเลยยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามที่ถูกฟ้องให้ศาลจำหน่ายคดีออกไป แต่ระหว่างนั้น 5 ปี ห้ามก่อปัญหาต่อบ้านเมือง ห้ามชุมนุม ปลุกปั่นยุยงสร้างความแตกแยกอีก ส่วนแกนนำผู้ชุมนุมหากยอมรับว่าได้กระทำความผิดจะเสนอต่อศาลขอให้ใช้ดุลพินิจลงโทษสถานเบา

‘บุกสนามบิน’ไม่ใช่คดีร้ายแรง

นายเสรีกล่าวว่า ในรายงานได้จำแนกคดีไม่ร้ายแรงคือคดีบุกสนามบิน บุกสถานที่ราชการ บุกที่สาธารณะ ก่อการร้าย ซึ่งคดีเหล่านี้ยุติได้ หากพิสูจน์ว่าคนเหล่านั้นไปชุมนุมอย่างเดียว ไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อสถานที่ ส่วนคดีเผาสถานที่ราชการ ต้องพิสูจน์อีกครั้งว่าคนเหล่านั้นลงมือทำหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ผู้ลงมือก็จะได้รับโอกาส แต่ถ้าลงมือคงไม่ได้รับโอกาส

เมื่อถามว่าข้อเสนอสปท.การเมืองแทบไม่ต่างจากการนิรโทษกรรม นายเสรีกล่าวว่าไม่เหมือนกัน การนิรโทษกรรมคือทำผิดมาแล้วแต่ไม่มีความผิด ส่วนข้อเสนอสปท.การเมือง ความผิดยังคงอยู่ ต่างกันอย่าเอามาปนกัน ที่เสนอให้พักโทษแกนนำที่รับสารภาพนั้นเป็นการควบคุมพฤติกรรม ข้อเสนอของเราไม่ใช่การทำลายหลักนิติธรรม เพราะถ้าจะคุยเรื่องปรองดองต้องมาคุยกันเรื่องหาทางออก ในทางกฎหมายไปดูได้เลยมีการพูดถึงการให้โอกาส การบรรเทาโทษ เขียนไว้ชัดเจน ถ้าใครรับสารภาพจะได้รับโทษกึ่งหนึ่ง

ศาลตัดสินแล้วไม่อยู่ในเงื่อนไข

ส่วนข้อเสนอที่ให้โอกาสคนอยู่ต่างประเทศกลับมาสู้คดีและได้รับการประกันตัวด้วยนั้น นายเสรี กล่าวว่าคนที่อยู่ต่างประเทศที่หนีคดีตอนนี้ ส่วนใหญ่ไปเคลื่อนไหวผ่าน ยูทูบ อินเตอร์เน็ต วิจารณ์ต่อต้านรัฐบาล คนเหล่านี้ไม่กล้าเข้าประเทศเพราะกลัวว่าเมื่อเข้ามาแล้วจะไม่ได้รับการประกันตัว เราจึงเสนอไปหากกลับเข้ามา จะมีสิทธิในการมาต่อสู้คดีและได้รับการประกันตัว

เมื่อถามว่ากรณีนี้รวมถึงคดีที่ศาลตัดสินถึงที่สุดแล้วหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่าคดีที่ศาลตัดสินเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้กระทำความผิดไปอยู่ต่างประเทศ หากกลับมาต้องมารับโทษ ไม่อยู่ในเงื่อนไข โดยเราแยกไว้คดีเกี่ยวกับสถาบัน การทุจริต คดีเหล่านี้ไม่รวมอยู่ในข่าย ทั้งนี้ ขอปฏิเสธว่าก่อนจะมีรายงานฉบับนี้ออกมาได้ไปหารือกับแกนนำกลุ่มต่างๆ มาแล้ว ส่วนของแกนนำผู้ชุมนุมที่เสนอมาคราวนี้หากเห็นว่าข้อกล่าวหาที่ถูกกล่าวหาไม่เป็นความจริง ไม่ยอมรับเพื่อจะได้รับการพักโทษก็ไปพิสูจน์ตัวในชั้นศาลได้ ไม่ได้บังคับ เพราะคราวที่มีข้อเสนอออกมาต้องยอมรับต่อศาลก่อนได้รับการพักโทษนั้น ถูกแกนนำสีต่างๆ ต่อต้าน คราวนี้เลยปล่อยให้เป็นตามความสมัครใจ หากเห็นว่าไม่ผิดก็ไม่ต้องยอมรับแล้วสู้คดีต่อไป

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน