เมื่อเวลา 12.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ว่า หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในวันศุกร์ที่ 13 ม.ค.นี้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะต้องไปรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกลับลงมาภายใน 30 วัน เมื่อไปรับพระราชทานมาแล้วจะมีการแต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกา 8-10 คน

ซึ่งคณะกรรมการที่จะมายกร่าง ต้องมีคุณสมบัติที่มีความเชื่อมโยงกับเรื่องและต้องเป็นกรรมการกฤษฎีกา ประกอบไปด้วย ตน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรธ. นายอัชพร จารุจินดา กรธ. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. นายบวรศักด์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะมาดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทานทันที ซึ่งจะทำใน 2 หน้าที่ 1.ยกร่างเฉพาะมาตรา และ2.ตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน

ผู้สื่อข่าวถามว่าในการแก้ไขครั้งนี้จะถือโอกาสแก้ไขมาตราอื่นๆด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ถือโอกาส เพียงแต่อาจมีกระทบกับหมวดอื่นที่เกี่ยวพันกับพระราชอำนาจ แต่ยืนยันว่าไม่แก้ไขเรื่องสิทธิเสรีภาพ แนวนโยบายแห่งรัฐ คณะรัฐมนตรี ศาล การเลือกตั้ง องค์กร พรรคการเมือง ส.ว. ส.ส. บทเฉพาะกาล ไม่แตะท่อนที่ถกเถียงกันตอนทำประชามติ ไม่ยืดเวลา ไม่อะไรทั้งสิ้น มาตราที่จะแก้ไขล้วนแต่เป็นเรื่องที่ตอนประชามติเราอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจ และตอนยกร่างก็ลอกมาจากของเดิม แต่มาในปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปจึงจำเป็นต้องปรับใหม่ให้เข้ากับเหตุการณ์ เพราะถ้าไม่แก้จะเท่ากับว่าเราใช้หลักที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2475

เมื่อถามว่าขั้นตอนเบ็ดเสร็จในการดำเนินการจะต้องใช้เวลาเท่าไร นายวิษณุ กล่าวว่า หลังจากนายกฯขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกลับมาแล้ว จะต้องนำกลับมาแก้ไขและนำขึ้นทูลเกล้าฯกลับไปภายใน 30 วัน จากนั้นเป็นเวลาที่อยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

เมื่อถามย้ำว่าแนวทางการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ 4 ฉบับ ที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้งให้เสร็จก่อนยังเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า การยกร่างกฎหมายลูกยังยึดแนวทางเดิม หากกรธ.ทำเสร็จเร็วก็ว่ากันเร็ว ถ้าเสร็จช้าก็ว่ากันช้า สิ่งใดที่เคยกำหนดไว้อย่างไรยังเป็นอย่างนั้น ไม่สลับ ไม่ตัดขั้นตอนที่มีอยู่ 5 ขั้นตอน คือ 1.การถวายร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 90 วัน ก่อนพระราชทานเพื่อประกาศใช้ 2.กรธ.ทำกฎหมายลูกให้เสร็จตามกำหนด 240 วัน 3.ส่งสนช.พิจารณาใน 60 วัน บวกอีก 30 วัน 4.นำขึ้นถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไภย ภายใน 90 วัน เมื่อทรงพระราชทานลงมาแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 5. เข้าสู่การเลือกตั้งใน 150 วัน

“แสดงว่าถ้าไม่มีขั้นตอนที่ 1 จะไม่มีขั้นตอนที่ 2 และจะไม่มีขั้นตอนที่ 3 ถึง 5 เมื่อไม่มีขั้นตอนที่ 5 การเลือกตั้งจะยังไม่เกิด การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังไม่มี แต่ถ้าทุกขั้นตอนมีครบ ทุกอย่างมันจะเกิดขึ้น นี่คือโรดแมป นี่คือขั้นตอนกำหนดเวลา ไม่ได้ไปตัดให้สั้น หรือไปขยาย มันกำหนดของมันอยู่ว่าแต่ละขั้นตอนมีระยะเวลากี่วัน เพราะฉะนั้นที่บอกว่าทุกอย่างยังอย่างเดิม คืออย่างนี้ ส่วนที่เกินมันไม่ได้ ส่วนที่เร็วได้ ก็แล้วแต่ขั้นตอนไหนใครจะช่วยทำให้เร็วขึ้น เมื่อทุกคนรู้อย่างนี้ก็ให้ช่วยกันทำ” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถอยไปหลายเดือนที่แล้วเราเคยกำหนดได้ เพราะทุกอย่างเราได้ประสานเตรียมการไว้หลายส่วน แต่เมื่อบัดนี้เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ตามที่นายกฯชี้แจงว่าต้องดำเนินการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งไม่อยากเอามาเป็นข้ออ้าง แต่เป็นความจริงที่อยู่ในหัวใจคนไทยทั้งประเทศ

หลังจากนั้นจะตามมาด้วยพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก เป็นไปตามพระฤกษ์ที่จะมีการกำหนดอีกครั้ง ทั้งนี้การเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นแทรกเข้ามาในช่วงเวลาอย่างนี้เป็นอันขาด แต่เมื่อไปถึงช่วงหนึ่ง แม้จะยังไม่เลือกตั้ง คงจะประกาศวันเลือกตั้งล่วงหน้าได้ จะปล่อยให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ทั้งตั้งพรรค ประชุมพรรคหาหัวคะแนน หาเสียง โดยยังไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรกับวันเลือกตั้งได้ก่อน เท่าเท่าเทียมกันพอสมควร แต่ตนตอบไม่ได้ว่าจะประกาศเลือกตั้งปลายปีนี้หรือไม่ แต่นายกฯ ขอให้ใช้คำพูดอย่างเดียวกันว่า ยังอยู่ในโรดแมปเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน