เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 ม.ค. ที่ศาลาว่าการกทม. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานมอบนโยบายในการปฏิบัติหน้าที่แก่สมาชิกสภา กทม.และคณะผู้บริหาร กทม.ถึงอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ว่า สิ่งสำคัญต้องช่วยดูแลความเดือดร้อนให้ประชาชน แม้ช่วงนี้ฝนจะเบาบางลง แต่การพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าวันที่ 15-16 ม.ค. จะมีมรสุมเข้ามา น่าจะเต็มพื้นที่ของภาคใต้และบางส่วนของภาคกลาง กระทรวงมหาดไทยต้องเตรียมรับสถานการณ์นั้น ขณะนี้ภาคกลางตอนล่างได้เตรียมรับมือกับมรสุมไว้แล้ว โดยนำเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้รับมือกับสาธารณภัย โดยตนได้กำชับผู้ว่าฯ กทม.ให้เตรียมรับมือระบายน้ำให้เร็วที่สุด

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ได้หารือในที่ประชุม ครม.ว่าขั้นต้นให้ดำเนินการช่วยเหลือตามกฎหมาย และภายหลังการสำรวจความเสียหายค่อยพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อสำรวจความเสียหายในพื้นที่ก่อนให้การช่วยเหลือ โดยจะแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด ไม่ผิดพลาด ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะถ้าเร่งทำแล้วผิดพลาด เจ้าหน้าที่ก็จะมีโทษ จึงจะดูให้รอบคอบ ส่วนงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขณะนี้ให้จังหวัดละ 50 ล้านบาท แต่ถ้าไม่เพียงพอสามารถขอเพิ่มเติมได้ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์นั้น ตามกายภาพ อ.บางสะพานอยู่ติดเทือกเขา ทำให้น้ำจากเทือกเขาไหลบ่าลงมาเพื่อลงทะเล ทำให้มีสถานการณ์น้ำมาก แต่จากติดตามสถานการณ์ล่าสุดพบว่าคลี่คลายลง แต่ก็คงมีน้ำจากเขาไหลบ่าลงมาต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูเยียวยาโรงพยาบาลและชุมชนบริเวณนั้นให้เร็วที่สุด

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะย้ายโรงพยาบาลที่ อ.บางสะพานไปอยู่ที่สูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ถาม ตามกรอบขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในเรื่องแนวทางการบรรเทาสาธารณภัย มีกรอบเซนได คือเมื่อเกิดภัยและจะพัฒนาหลังจากนั้น จะมีแนวปฏิบัติคือหากพื้นที่ใดมีปัญหาอย่าก่อสร้างอาคารที่เดิมอีก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาขณะนี้คือยังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งนายกฯ ได้สั่งการแล้วว่าหากมีแนวทางทำได้ก็ให้เร่งทำกฎหมาย ทั้งกฎหมายผังเมือง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และกฎหมายที่ดิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจากน้ำท่วมอีก โดยนายกฯ ได้สั่งการในเรื่องนี้แล้วและต้องทำกฎหมายให้ได้ เพราะถ้าสร้างแล้วเกิดปัญหาขอให้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่จะดีกว่า ขณะเดียวกันนายกฯ มองว่าพื้นที่ที่เกิดปัญหาจะเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่น้ำไหลแทนได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะตรงกับแนวคิดของยูเอ็น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน