เหมือนจะลาจาก? “จาตุรนต์” รับแล้ว! ตัดสินใจ จะอยู่เพื่อไทยต่อหรือไม่?

จาตุรนต์ – เมื่อวันที่ 6 พ.ย. นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ตามที่มีข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่และจะมีนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยย้ายไปร่วมด้วยนั้น เนื่องจากมีการกล่าวถึงผมอยู่ด้วย จึงขอชี้แจงว่าการที่นักการเมืองของพรรคเพื่อไทยไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ทั้งที่ตั้งไปแล้ว และที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกจะเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม

แต่เท่าที่ทราบไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งภายในพรรคอย่างที่เป็นข่าว ความขัดแย้งแตกต่างในพรรคการเมืองทุกพรรคย่อมมีอยู่เป็นธรรมดาไม่เว้นพรรคเพื่อไทย แต่ความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดไม่ได้เป็นสาเหตุถึงขั้นที่จะทำให้ถึงขั้นจะอยู่ร่วมพรรคกันไม่ได้ และถ้ามีการหารือเคารพความเห็นที่แตกต่างกันตามสมควร ทำงานอย่างเป็นประชาธิปไตย ความขัดแย้งแตกต่างๆ ทางความคิดก็จะไม่เป็นปัญหาใหญ่โตอะไร

นายจาตุรนต์ ระบุว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกระทำมากที่สุดจากระบบและกติกาภายใต้ยุทธศาสตร์ “การรัฐประหารครั้งนี้ต้องไม่เสียของ” และ “คสช.ต้องสืบทอดอำนาจยาวนาน” ยุทธศาสตร์เหล่านี้มุ่งขัดขวางสกัดกั้นไม่ให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล และทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ 2 ประการคือ

1.ความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรค ทั้งๆที่จนถึงขณะนี้ไม่มีข้อเท็จจริงหรือปัญทางกฎหมายใดๆ ที่จะใช้ยุบพรรคเพื่อไทยได้เลย แต่ก็ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมาการยุบพรรคการเมืองบางพรรคก็เกิดขึ้นทั้งๆที่ไม่ได้ทำผิดอะไร

เมื่อมีข่าวว่ามีความพยายามที่จะยุบหรือมีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาทางยุบพรรคเพื่อไทย หลายคนก็ยังมั่นใจว่าไม่มีทางถูกยุบ แต่ก็มีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยเห็นว่าไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ถูกยุบ ควรเตรียมทางหนีทีไล่ไว้โดยไม่ประมาท

2.ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ถูกออกแบบเพื่อทำให้พรรคการเมืองทั้งหมดอ่อนแอ พรรคเล็กๆเสียเปรียบ พรรคขนาดกลางๆ ได้ประโยชน์ แต่หาทางป้องกันไม่ให้พรรคขนาดใหญ่ได้เสียงมากอย่างที่เคยได้ พรรคที่ได้เสียงจากเขตเลือกตั้งเกินครึ่งซึ่งปกติต้องถือว่าชนะท่วมท้น กลับมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเป็นพรรคเสียงข้างน้อยในสภาฯ พรรคใดยิ่งได้สส.เขตมากก็ยิ่งมีโอกาสได้สส.บัญชีรายชื่อน้อยหรือไม่ได้เลย พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากระบบเลือกตั้งที่แปลกประหลาดนี้มากที่สุด

“เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ที่นักการเมืองพรรคเพื่อไทย จะหาทางป้องกันไม่ให้ถูกกระทำ หรือพยายามลดความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการแสวงหาช่องทางที่นักการเมืองแต่ละคนจะสามารถทำงานในระบบรัฐสภาได้ต่อไป ส่วนสาเหตุที่การดำเนินการต่างๆ ดูจะเป็นไปอย่างสับสน ก็น่าจะมาจากสภาพต่างคนต่างทำ ขาดการหารือวางแผนร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ

สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้นักการเมืองทุกคนในพรรคเพื่อไทยไม่อาจหลีกเลี่ยง การคิดรับมือกับสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นและในที่สุดแต่ละคนก็ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับผมต้องยอมรับว่ามีความผูกพันกับพรรคเพื่อไทยอย่างมาก เมื่อถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องตัดสินใจ ผมก็จะพิจารณาว่าทางเลือกใดจะเป็นช่องทางในการทำงานตามแนวคิดอุดมการณ์ได้มากที่สุด” นายจาตุรนต์ ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ความเคลื่อไหวของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ว่า คาดว่าจะมีบิ๊กเนมระดับอดีตรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) จะยื่นใบลาออกจากพรรค พท. เพื่อมาสมัครสมาชิกพรรค ทษช. อาทิ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น รวมแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ไม่สามารถทำงาน ภายใต้การนำของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคพท.ได้ รวมถึงคนที่ประสงค์เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะย้ายมาอยู่ พรรคทษช. ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน