เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน ได้ยกร่างพ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง พ.ศ. …. มีทั้งสิ้น 33 มาตรา เสร็จสิ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการและรับสนองพระบรมราชโองการ ห้ามบุคคลที่กระทำความผิด 3 ประเภทไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ 1. ความผิดอาญาทำให้เหตุการณ์รุนแรง ตามมาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 2.ความผิดฐานทุจริตประพฤติมิชอบ ตามมาตราประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107 และ 3.ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง จำนวน 11 คน ประกอบด้วย ผู้ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการอัยการ ผู้ตรวจการแผ่นดิน สถาบันพระปกเกล้า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สภาทนายความ และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยแต่งตั้งฝ่ายละหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิจาการภาคเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสันติวิธีหรือสิทธิมนุษยชน จำนวน 2 คน ซึ่งทำการคัดเลือกกันเอง เป็นกรรมการ และให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเลขานุการ

มาตรา 18 กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ (1) รวบรวมข้อเท็จจริงและข้อมูลคดีเกี่ยวกับการกระทำที่เกี่ยวเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึงวันที่ 22 ต.ค.2557 ที่เป็นการละเมิดกฎหมายหรือสิทธิมนุษยชน และจะต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้เสียหาย ผู้ถูกดำเนินคดีอาญา เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และห้ามเปิดเผยชื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นคณะกรรมการจะมีมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (2) กำหนดหลักเกณฑ์การจำแนกคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง โดยต้องคำนึงถึงความร้ายแรงของความผิด ความได้สัดส่วนของการกระทำ รวมทั้งผลกระทบต่อชาติและประชาชนด้วย โดยจะต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ได้แต่งตั้ง

(3) กำหนดมาตรการและหลักเกณฑ์การอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ถูกดำเนินคดีอาญาที่เป็นผู้ให้ความจริงอันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงานของคณะกรรมการในคดีความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และแสดงความสำนึกเสียใจต่อผลของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น (4) ดำเนินการจำแนกคดีอาญาตามหลักเกณฑ์ และกำหนดมาตรการอำนวยความยุติธรรมที่จะใช้กับผู้ถูกดำเนินคดีอาญาแต่ละรายตามเหตุผลหรือเงื่อนไขที่เหมาะสมกับประเภทของการกระทำและความผิด (5) เสนอข้อมูลการจำแนกคดีอาญาและความเห็นในการใช้มาตรการในการอำนวยความยุติธรรมกับผู้ถูกดำเนินคดีอาญาแต่ละรายต่อพนักงานอัยการหรือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดี โดยการเสนอดังกล่าวควรมีความเห็นของผู้เสียหายและผู้ถูกดำเนินคดีอาญาประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานอัยการได้รับเรื่องแล้ว ให้พนักงานอัยการเสนอความเห็นให้อัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่งต่อไป โดยให้ถือเอกข้อมูลการจำแนกคดีอาญาและความเห็นในการใช้มาตรการในการอำนวยความยุติธรรมตามเหตุผลหรือเงื่อนไขดังกล่าวเป็นคดีที่มีเหตุที่อัยการสูงสุดจะใช้อำนาจสั่งหรือไม่สั่งคดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุดเด่นของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว คือ มาตรา 20 ระบุว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีที่มีข้อหาความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตามพ.ร.บ.นี้ ให้ศาลพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการมาตรา 18(5) ประกอบด้วย ถ้าศาลเห็นสมควรให้ศาลมีอำนาจพิพากษาว่าผู้กระทำความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองรายนั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญาได้ แม้ว่าโทษจำคุกที่ศาลจะกำหนดหรือได้กำหนดนั้นจะเกินกว่า 5 ปี หรือศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ และมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขอื่นหรือระยะเวลาเพื่อคุมความประพฤติผู้กระทำความผิดนอก เหนือไปจากที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 56 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้ตามที่เห็นสมควร

หากศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีเห็นว่าผู้ถูกดำเนินคดีอาญารายใดไม่ควรรับโทษจำคุกหรือควรได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ ก็ให้ถือเป็นเหตุผลหรือเงื่อนไขที่มีเหตุอันควรปรานีหรือเหตุบรรเทาโทษแล้วแต่กรณีตามประมวลกฎหมายอาญาสำหรับผู้ถูกดำเนินคดีอาญารายนั้น

ในกรณีที่คดีใดถึงที่สุดก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับเป็นคดีที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลอาจลดโทษ รอการกำหนดโทษ รอการลงโทษ หรือลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดได้ตามวรรคหนึ่ง เมื่อผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคล บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภรรยา ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ของผู้นั้น พนักงานอัยการหรือคณะกรรมการร้องขอให้ศาลมีอำนาจกำหนดเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นเสียใหม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 ได้

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการเยียวยา โดยคณะกรรมการต้องดำเนินการ สำรวจปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการการเยียวยา และจัดทำฐานข้อมูลสถานะของการได้รับการเยียวยาของผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย รวมถึงทายาทผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บพิการหรือทุพพลภาพ ผู้ที่ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย และผู้ที่ถูกดำเนินคดีอันเกี่ยวเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึงวันที่ 22 พ.ค. 2557 2.กำหนดหลักเกณฑ์การเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ถูกนำเข้าไปสู่การหารือในการประชุม เตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ในส่วนคณะกรรมการสร้างความปรองดอง ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนกระบวนการผลักดันผ่านเป็นกฎหมายในที่ประชุมสนช.ล่าสุดยังไม่มีกำหนดเข้าสู่วาระการประชุมแต่อย่างใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน