วันที่ 15 ม.ค. ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเสวนาหัวข้อ “เมื่อสิทธิการประกันตัวหายไป และสิทธิของผู้ต้องหาที่หายไปจากกระบวนการยุติธรรมไทยยุคนี้” โดยขบวนการประชาธิไตยใหม่ มีวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของนายจตุรภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ซึ่งไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

นางอังคณา กล่าวว่า กรณีของไผ่ดาวดิน ที่พยายามจะขอประกันตัวเพื่อไปสอบในไม่กี่วันนี้ เนื่องจากไผ่ดาวดินยังเป็นนักศึกษาอยู่ กรรมการสิทธิมีการประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะสิทธิการประกันตัว ซึ่งมีการรับปากว่าจะให้การช่วยเหลือตามสิทธิหลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ไทยต้องปฏิบัติตามทุกข้อ เพราะได้ให้สัตยาบรรณในที่ประชุมสหประชาชาติไว้แล้ว คำถามที่นานาชาติถามคำถามแรกต่อไทยคือ ไทยจะดำเนินการอย่างไรให้ศาลไทยนำหลักการสิทธิมนุษยชนไปใช้ขจัดข้อบกพร่องทางกระบวนการยุติธรรม หลายคนบอกว่าจะไปสั่งศาลได้อย่างไร แต่ตามหลักการศาลก็เป็นคนปกติสามารถมีอคติได้ เพราะฉะนั้นต้องมีหลักเหตุและผลเพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรมได้รับการเชื่อถือจากประชาชน

อีกทั้งกรณีการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ ทราบว่าผู้ต้องขังบางรายที่คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด ทราบว่ามีการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะทางทวารหนัก ซึ่งกรรมการสิทธิฯ ได้รับการร้องเรียนไว้แล้ว ตามหลักสากลระบุไว้ว่าการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตามซอกหลืบ ถือเป็นที่เฉพาะของบุคคล ต้องมีเหตุอันควรแท้จริง แต่กรณีผู้ต้องหาที่เป็นคดีการเมืองแล้วต้องถูกตรวจร่างการโดยเฉพาะการตรวจภายใน หรือทางทวารหนัก ถือว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

น.ส.สาวตรี กล่าวว่า เวลาจะเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อำนาจ ต้องพิจารณากรอบของกฎหมายด้วย ไม่ใช่ใช้ดุลยพินิจของตัวเอง กรณีการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซีนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันได้ หลักการคือบุคคลสามารถถูกพูดถึงได้ ตนมองว่าไม่น่าจะเป็นความผิด แต่ในสายตาของรัฐมองว่าเป็นความผิด คำถามคือแล้วการกดไลค์กดแชร์ถือเป็นความผิดหรือไม่ คำตอบคือตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ ตนยืนยันว่าไม่ผิด ถามว่าการกดไลค์กดแชร์จะพิสูจน์เจตนาว่าผิดกฎหมายอย่างไร อีกทั้งสำนักข่าวบีบีซีไทยก็ไม่ถูกดำเนินคดี แต่คนที่แชร์กลับถูกดำเนินคดี และเป็นการดำเนินคดีเพียงรายเดียว ทั้งที่บทความดังกล่าวมีการแชร์หลายพันคน คำถามคือมีการกลั่นแกล้งทางกฎหมาย หรือเลือกปฏิบัติหรือไม่

เวลาเจ้าพนักงานอ้างว่ากลัวว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เพื่อถอนสิทธิการประกันตัวนั้น ในทางสากลระบุไว้ในกรณีที่เกรงว่าผู้ต้องหาจะไปพูดคุยกับพยานหรือผู้เสียหายซึ่งอาจทำให้รูปคดีเปลี่ยน แต่กรณีของไผ่ดาวดินเป็นเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ แต่ทราบว่าศาลสั่งให้ผู้ต้องหาลบการแชร์ข้อความของบีบีซีไทย แต่พนักงานสอบสวนกลับฟ้องศาลเพื่อถอนประกันตัวว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปลบ โดยจะไปยุ่งกับหลักฐาน ตรงนี้สร้างความสับสนพอสมควรว่าตกลงเอายังไงกันแน่

และกรณีสิทธิประกันตัว หลักการสากลเหมือนกันหมดคือผู้ต้องหาต้องสัณนิษฐานเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน จะปฏิบัติกับเขาเหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ ถ้าจะไม่ปล่อยตัวจะต้องมีเหตุผลหนักแน่นพอว่าพฤติการณ์ของผู้ต้องหาเป็นอย่างไร เช่น เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี เกรงว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เกรงว่าจะไปวุ่นวายกับการปฏิบัติหนังที่ของเจ้าพนักงาน ศาลต้องอธิบายให้ได้ว่าที่ไม่ให้ประกันตัวเพราะอะไร ในกรณีของไผ่ ดาวดิน ขึ้นศาลมา 5 คดี ไม่เคยหลบหนี ทำไมถึงระบุเพียงว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

ในต่างประเทศ มีหลักอย่างหนึ่ง เช่น ปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไข ไม่ต้องมีหลักประกัน ประเทศไทยไม่มีหลักการนี้ เพราะนอกจากมีหลักประกันในการปล่อยตัวแล้ว ยังสามารถกำหนดเงื่อนไขได้ด้วย อีกทั้งการเยาะเย้ยอำนาจรัฐไม่ถือเป็นความผิด ไม่มีตัวบทกฎหมายไหนระบุไว้ คำถามคือเจ้าพนักงานนำไปเป็นข้ออ้างว่าในการถอนประกันตัวผู้ต้องหา โดยเฉพาะกรณีไผ่ดาวดินได้อย่างไร จึงต้องถามไปที่กระบวนการยุติธรรมนั้นบกพร่อง หรือไม่เป็นไปตามกรอบกฎหมายหรือไม่ ความอยุติธรรมที่เลวร้ายที่สุดคือการกระทำโดยการใช้กฎหมาย กรณีของไผ่ดาวดิน และผู้ต้องหาทางการเมืองรายอื่นๆก็เป็นเช่นนี้

น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า ตนในฐานะที่เคยเป็นผู้พิพากษา ตลอดระยะเวลา 39 ปี ที่ตนเป็นผู้พิพากษา มีครั้งหนึ่งที่ตนแจ้งข้อหาเจ้าพนักงานตำรวจในข้อหาละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากมีทุจริตในการทำคดี มีความพยายามหาตัวผู้ต้องหารายอื่นให้มารับโทษแทน ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้กระทำความผิด

ทั้งนี้ผู้พิพากษาจะไม่พูดอะไรที่ตัวเองไม่รู้ หรือไม่แน่ใจไม่เคยเห็นหรือเคยอ่าน โดยเฉพาะข้อกฎหมาย กรณีสิทธิการประกันตัว การฝากขังต่อศาล หลักทั่วไประบุชัดเจนว่าจะไปคุมขังผู้บริสุทธิ์ไม่ได้ กฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าในการฝากขังผลัดที่ 5 ศาลต้องไต่สวนว่าเหตุใดพนักงานสอบสวนต้องฝากขังเพิ่ม นอกจากนี้ในต่างประเทศศาลยังต้องเข้าไปถามผู้ต้องหาในเรือนจำเลยว่าจะคัดค้านการฝากขังจากพนักงานสอบสวนหรือไม่ ในรัฐธรรมนูญไทยมีบัญญัติตามมาตรา 87 ศาลต้องไต่สวนเพื่อสิทธิการคัดค้านของผู้ต้องหา

ในทางปฏิบัติศาลต้องอ่านคำร้องของเจ้าพนักงาน และไต่สวนวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าเหตุใดจะอนุมัติฝากขังหรือไม่อนุมัติฝากขังเพราะเหตุใด ย้ำว่าต้องอ่านเสียงดังฟังชัดด้วย และกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในความยุติธรรม ไม่สามารถตั้งธงไว้ได้ หรือตั้งใจจะเอาผิดผู้ต้องหาได้ เพราะประชาชนจะไม่เชื่อในความยุติธรรม ที่ผ่านมาสังคมไทยมักรู้สึกว่า ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของการบวนการยุติธรรม แต่ยุคนี้ประชาชนเริ่มรู้สึกหมดหวัง ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจ

ด้านนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของไผ่ดาวดิน กล่าวว่า สิ่งผิดกฎหมาย ที่เกิดขึ้นกับลุกของตนนั้นในกรณีฝากขัง ซึ่งในวันนั้นศาลได้อ่านคำสั่งศาลฎีกา และการพิจารณาฝากขังผัดที่ 3 ของเจ้าพนักงาน ซึ่งเขาได้วีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ไปหาไผ่ที่เรือนจำ เขาก็อ่านคำสั่งศาลฎีกาให้ไผ่ฟังจริง ส่วนเรื่องการฝากขังและเรื่องการของการไม่คัดค้าน ไผ่ยืนยันกับตนว่าไม่มีโดยเด็ดขาด และไม่ได้เซ็นอะไรเลย ตนก็ได้ไปดูที่สำนวนคดีแล้วพบว่า ศาลกลับบันทึกข้างหลังสำนวนว่า ได้พิจารณาอ่านให้ผู้ถูกกล่าวหาฟังแล้วไม่ขัดข้อง ซึ่งเป็นการเขียนบันทึกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทันทีที่เรารู้เราได้ยื่นเรื่องร้องเรียนว่า วิธีการพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นวิธีที่ผิดระเบียบ ซึ่งพวกเขาก็วุ่นวายพักหนึ่ง

นายวิบูลย์กล่าวอีกว่า แทนที่พวกเขาจะแก้ไขหรือทำใหม่ให้ถูกระเบียบ ทางศาลก็ใช้วิธีวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ไปที่เรือนจำอีกรอบ โดยไม่ได้คุยกับเราเลย แล้วก็อ่านคำฝากขังให้ไผ่ฟัง แล้วไผ่ก็คัดค้านคำฝากขัง แล้วศาลก็เห็นสมควรอนุญาตให้ฝากขังต่อ นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับคดีของลูกชายตน ไม่กล้าพูดเล่นแน่นอน ปกติไผ่เป็นคนร่าเริง ถูกจับก็ยิ้ม ทุกวันนี้ร่างกายก็ยังดี แต่ที่สังเกตได้จะมีจังหวะที่เขาแสดงความไม่สบายใจ ซึ่งเขาก็บอกว่าหมดหวังกับกระบวนการยุติธรรมแล้ว จากเหตุการร์ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง เราเป็นนักกฎหมาย ไม่ปฏิเสธกระบวนการทางกฎหมาย แพ้ชนะตามกระบวนการก็ไม่ว่าอะไร แต่โปรดทำตามกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมต่อลูกและครอบครัวของเราด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน