โปรดเกล้าฯรธน.57 ฉบับแก้ไข บิ๊กตู่ชี้ขั้นต่อไป แก้ร่างรธน.ฉบับ มีชัยยันจะมี‘ปชต.’ แบบของไทยเองไม่สนคนด่า‘ลุงตู่เผด็จการ’ เผยตั้ง‘ปยป.’แล้ว ‘บิ๊กจิน-สมคิด’ดูปฏิรูป ‘บิ๊กเจี๊ยบ-บิ๊กเข้’คุมยุทธศาสตร์ บิ๊กป้อมแจงเอ็มโอยูปรองดอง แค่ตกลงกติการ่วมกัน ลั่นกองทัพไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับใคร ‘คุณหญิงหน่อย’แนะ 4 ข้อปรองดอง ผู้มีอำนาจต้องจริงใจ รับฟังทุกฝ่าย เที่ยงธรรม ยึดประโยชน์ทุกฝ่าย

โปรดเกล้าฯแก้รธน.57 แล้ว

วันที่ 16 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 15 ม.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2560 มีรายละเอียดว่า สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ไว้ ณ วันที่ 15 ม.ค. 2560 เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิรา ลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราช โองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นไว้ ดังนี้

มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2560”

มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราช โองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นําความในมาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาใช้บังคับ”

ให้ขอร่างรธน.กลับมาแก้ไขได้

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสิบเอ็ดของมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“เมื่อนายกฯ นําร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้า ประกอบ กับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกฯ ขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อ ดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้นและประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง และแก้ไขเพิ่มเติมคําปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกฯนําร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายใน 30 วันนับแต่ วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ เมื่อ นายกฯ นําร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกฯลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันที่นายกฯ นําร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่าง รัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป”

ผู้รับสนองพระราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ

หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้คือ ตามที่นายกฯ ได้นําร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. … ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพิจารณานั้น ต่อมาครม.และคสช. ได้พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จึงจําเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญนี้

วิษณุเผย 17 มค.ถกแก้ฉบับมีชัย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการตั้งกรรมการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติว่า ได้ตั้งกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเพิ่มเข้าไปอีก 1 คน ได้แก่ นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. นอกจากนี้ยังแต่งตั้งให้นายปกรณ์ นิลประพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขานุการกรธ.ให้เป็นเลขานุการ คณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มอีก 1 คน เพื่อรองรับกรณีองค์ประชุมไม่ครบ เพราะได้รับแจ้งจากกรรมการหลายคนว่าจะเดินทางไปต่างประเทศ แต่การประชุมนั้นจะต้องประชุมกันถี่มาก

นายวิษณุกล่าวว่า คณะกรรมการจะประชุมกันครั้งแรกในวันที่ 17 ม.ค.นี้ เพื่อเตรียมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ซึ่งกรรมการพอรู้อยู่แล้วบ้างว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร และจะใช้เวลาแก้ไขให้เร็วกว่า 15 วัน เพื่อเผื่อเวลาให้กองอาลักษณ์ได้เขียนด้วยลายมือลงในสมุดไทย เมื่อรวมกระบวนการทั้งหมดแล้ว นายกฯจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน ซึ่งจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกลับคืนมา คาดว่านายกฯ จะขอพระราชทานในวันที่ 17 ม.ค.นี้

บิ๊กตู่ลั่นจะมีปชต.แบบไทยเอง

ที่หอประชุมคุรุสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานงานวันครูแห่งชาติ ครั้งที่ 61 พ.ศ.2560 ว่า วันนี้เราต้องพร้อมเพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ทุกคนต้องทำความเข้าใจ อ่านหนังสือให้มาก เราต้องช่วยกันทำให้ประเทศมีความพร้อมให้หลุดพ้นจากกับดักต่างๆ ทั้งกับดักเรื่องความขัดแย้ง กับดักเรื่องประชาธิป ไตยที่ไม่ถูกต้อง กับดักในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ทาบทับกับเรื่องการทำผิดกฎหมาย ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มุ่งหวังทำร้ายใครหรือบังคับ ใคร ขอเพียงให้ทุกคนทำตามกฎหมายปกติ ก็พอแล้ว แม้จะมีกฎหมายพิเศษก็แค่ทำตามกฎหมายเท่านั้น แต่ถ้าใช้กฎหมายปกติไม่ได้ ก็จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ และถ้ายังใช้ไม่ได้อีก ประเทศก็คงเดินต่อไปไม่ได้ ดังนั้นขอให้ทุกคนทำตามกฎหมาย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะต้องเข้าใจคำว่าสิทธิมนุษยชน เสรีภาพกับการทำหน้าที่ตามกฎหมาย ถ้าตนยึดตามกฎหมายอย่างเดียว ป่านนี้ก็คงไม่มีสื่อ ไม่มีหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมีเดียออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่วันนี้ทุกคนยังทำหน้าที่ได้ถือเป็นความแตกต่างในยุคนี้ จึงขอให้ทุกคนช่วยอธิบายให้ตนด้วย ทั้งนี้เส้นแบ่งสิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมายเป็นเส้นเดียวกัน ถ้าไม่ทำก็จะกลายเป็นแบบเดิมที่ทุกคนไม่มีความสุข และยัง มีความต้องการประชาธิปไตยที่เป็นสากล อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลาเราจะมีประชาธิปไตย ของเราเอง จะมีประชาธิปไตยแบบตะวันตกทั้งหมดไม่ได้ ต้องปรับให้เหมาะกับไทยด้วยคือมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ใช่ปล่อยให้ประเทศ มีแต่ทะเลาะเบาะแว้ง ปลุกระดม และตีกันทุกวัน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น ประเทศไทย วันนี้ต้องเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ให้สมกับศักยภาพที่มีอยู่

ไม่สนคนว่า‘ลุงตู่เผด็จการ’

“ทุกวันนี้ผมเปิดโอกาสให้อยู่แล้ว ไม่เคยไปปิดกั้นถ้าไม่ไปละเมิด หรือไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ผมไม่เคยไปทำอะไร จะด่าผม ก็ด่าไป หยาบคายเยอะแยะ บางคนก็ว่าลุงตู่เผด็จการ ผมไม่สนใจอยู่แล้ว เพราะผมเอาประเทศชาติมาก่อน ผมไม่ได้มองที่ตัวเอง ผมไม่คิดถึงได้ประโยชน์ตัวเอง ถ้ามายืนตรงนี้ก็ต้องคิดแบบนี้ ถ้าคิดดีทำอะไรก็สำเร็จ ทุกอย่างต้องช่วยกันคิด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า ตนไม่ได้วางเพื่อจะอยู่หรือสืบทอดอำนาจ ตนจะสืบทอดอำนาจของประชาชน ความต้องการทั้งหมดจะอยู่ในนั้น ซึ่งความต้องการในอีก 20 ปีข้างหน้า รัฐบาลอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ จะทำอะไรก็ทำ แต่ต้องมี ผลสัมฤทธิ์ออกมาว่าประชาชนจะมีอนาคตอย่างไรใน 20 ปีข้างหน้าตามที่เขียนในยุทธ ศาสตร์ชาติ จึงอยากให้ช่วยอธิบายด้วย จะได้เลิกพูดเสียทีว่าตนมาแสวงหาประโยชน์หรืออำนาจ ซึ่งอำนาจเหล่านี้ก็เพื่อให้ทุกคนทำงาน

เผยตั้งกก.ปรองดองแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ตนได้แต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ขึ้นมาเรื่องการปรองดอง ในปีนี้เราจะทำตามโรดแม็ปเพราะทุกอย่างทำมาหมดแล้ว ทั้งการปฏิรูป ปรองดอง เราต้องสร้างการรับรู้ให้มากขึ้นคนจะได้เลิกทะเลาะกัน จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ ทุกอย่างวางแผนไว้แบบนี้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคี ปรองดอง (ป.ย.ป.) ไม่ใช่ 3 ปอ 3 แปะอะไร ซึ่งเราต้องทำทั้ง 3 อย่าง และต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ดี โดยที่ประชาชน ต้องรับรู้ รับทราบ เพราะประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ขอความร่วมมือทุกคนอย่าใช้อารมณ์

โอเคสูตรปรองดอง‘บิ๊กป้อม’

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดให้พรรคการเมืองทำสัตยาบันเพื่อความปรองดองว่า เรื่องปรองดองยังไม่ได้ทำ อยู่ระหว่างการเริ่มตั้งคณะกรรมการ เรื่องนี้ได้ฟังมาจากพล.อ.ประวิตรก็โอเคในขั้นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำหรือไม่ทำ

“เขาเรียกว่าเป็นสัจจะสัญญา แต่ไม่ใช่สัตยาบัน เป็นสัจวาจาทำนองนั้น คือพูดแล้วต้องไม่ลืม ต้องทำตามนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทุกคนว่าต้องการให้ประเทศเดินหน้าหรือเปล่า แต่อย่าเอามาพันกัน ซึ่งมีหลายเรื่องหลายประเด็น ผมได้ให้แนวนโยบายไปว่าการปรองดอง มีหลายมิติ และมีคดีความมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง คดีการเมือง แต่ละอย่างจะทำกันอย่างไร ระหว่างนี้ก็สร้างการรับรู้กับสังคม ประชาชน ให้รู้ว่าคิดกันมาแบบนี้ ไม่ใช่งุบงิบทำ มันทำไม่ได้” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

เผยเตรียมแก้ร่างมีชัย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ขั้นแรกเท่าที่ตนคุยกับพล.อ.ประวิตร จะเป็นการเรียกทุกพรรคมาคุยและเสนอความคิดเห็นมา และบันทึกไว้ ซึ่งจะฟังทุกพรรคทุกคนที่พูด จากนั้น นำมารวบรวมดูว่าอันไหนควรนำมาปฏิบัติหรือนำมาทำ ซึ่งต้องดูฝ่ายกฎหมายด้วย ไม่ใช่พูดกับคณะนี้แล้วไปชี้ผิดชี้ถูกมันไม่ใช่ ต้องหา ประเด็นและแนวทางให้เจอ โดยความคิดเห็นของทุกภาคส่วน กลุ่มไหนมีปัญหา ก็ให้เสนอของเขามา เราก็นำมากลั่นกรอง สิ่งไหนที่ตรงกัน ก็ต้องดูว่าจะนำไปสู่กระบวนการทางกฎหมายได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่ตรงกันก็ต้องเลือกว่าจะทำอันไหน แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะทำด้วยกฎหมายหรืออะไรก็ตาม สังคมต้องยอมรับ บังคับกันไม่ได้อยู่แล้ว

“เข้าใจกันหรือไม่ เดี๋ยวก็บานปลายกันไปอีก ผมไม่ได้ต้องการจะปรองดองกับคนโน้นคนนี้ ผมไม่ได้มองว่าเป็นใครคนไหน แต่ผมมองประเทศชาติ ปัญหาทุกปัญหาของประเทศ ชาติจะต้องได้รับการแก้ไข นี่คือการปรองดอง อย่าไปมองเรื่องนิรโทษกรรม ลดโทษ ยังไม่ถึงตรงนั้น ฟังดูก่อนว่าเขาเดินหน้าไปอย่างไร เวลานี้มีคณะกรรมการหลายคณะ” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ว่า ขั้นตอนต่อไปเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากโปรดเกล้าฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว จะต้องทำเรื่องขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับลงมา เพื่อแก้ไขและนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป เรื่องนี้อย่าวิตกกังวลกันมาก เป็นการทำตามขั้นตอน

ป้อมแจงแค่หากติการ่วมกัน

ที่สโมสรกองทัพบก วิภาวดีฯ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองว่า จะพิจารณาตั้งคณะกรรมการในวันนี้ให้เสร็จ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์มอบให้ตนดูแลการสร้างความปรองดอง โดยให้ทุกพรรคเข้ามามีส่วนร่วมพูดคุย พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นว่าจะสร้างความปรองดองในสังคมไทยได้อย่างไร ทั้งนี้ การปรองดองไม่ใช่เรื่องของพรรคเพียงอย่างเดียว แต่ประชาชนที่สังกัดพรรคและมีแนวความคิดต่างๆ ก็เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความเห็นได้ เป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกัน และตนไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเอง แต่เป็นข้อตกลงที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อสร้างความปรองดองของคนในประเทศต่อไปในอนาคต

เมื่อถามว่าต้องให้ทุกฝ่ายลงนามเอ็มโอยูร่วมกันหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่าถูกต้อง ซึ่งต้องให้ทุกฝ่ายพึงพอใจและอยู่ร่วมกันได้ ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องกฎหมาย อดีตก็เป็นเรื่องอดีต คงไม่เกี่ยวกัน สำหรับรูปแบบการสร้างความปรองดองนั้น จะมีตัวแทนแต่ละพรรคมาแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ เราจะมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายกฎหมาย นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องมารับฟัง พร้อมรวบรวมประเด็นทั้งหมด เพื่อเขียนเป็นกติกา และจะมาชี้แจงให้พรรคและทุกฝ่ายรับทราบ ซึ่งกติกาข้อใดที่ไม่เห็นด้วยก็หารือกันได้

ลั่นกองทัพไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

เมื่อถามว่าคสช.จะแก้คำสั่งปลดล็อกเพื่อให้นักการเมืองประชุมพรรคด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่จำเป็นปลดล็อกนักการเมือง เพราะตนและคสช.อยู่ในส่วนการพูดคุย

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าการสร้างความปรองดองเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน ทางทหารจะทำอย่างไร เพราะในอดีตทหารก็เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่านั่นเป็นการโจมตีกองทัพ ซึ่งกองทัพไม่เคยโจมตีใคร และกองทัพไม่เคยมีศัตรู ตนไม่เคยขัดแย้งกับใคร แค่นักข่าวขัดแย้งกับตน แต่ตนไม่ขัดแย้งกับนักข่าว เมื่อนักข่าวถามตนก็เป็นประเด็น

พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรมว.กลาโหมทำหนังสือถึงรมว.กลาโหมให้ดำเนินการฟ้องร้องคดีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลบเลี่ยง หลีกหนี และขาดการเกณฑ์ทหารก่อนจะหมดอายุความว่า กรมพระธรรมนูญยื่นศาลอุทธรณ์ขอขยายเวลายื่นฎีกาอีก 30 วัน หลังศาลเคยขยายเวลาครั้งก่อนถึงวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา

บิ๊กจินดูปฏิรูป-เจี๊ยบยุทธศาสตร์

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ กล่าวถึงการทำงานของป.ย.ป.ว่า ตนได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลคณะกรรม การเตรียมการปฏิรูปประเทศ ร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการป.ย.ป. ระบุว่าได้จัดทำเป็นร่างไว้ทั้งหมดแล้ว และมาหารือร่วมกันในวันที่ 17 ม.ค. ร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่จะต้องไปขอความเห็นคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมทั้งผู้ใหญ่ที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนงาน เมื่อรับฟังความเห็นมาแล้วจะนำมาปรับเพื่อให้นายกฯ ลงนามต่อไป โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในสัปดาห์นี้

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายให้ดูแลคณะกรรม การเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ในป.ย.ป. ร่วมกับพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ ซึ่งขณะนี้รอเพียงคำสั่งอย่างเป็นทางการจาก นายกฯ ทั้งนี้ได้เดินหน้างานในส่วนที่เกี่ยว ข้องไปแล้ว และจากนี้จะเรียกประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการทำงานอีกครั้ง เรามีแบบแผนการดำเนินการอยู่แล้ว เมื่อได้รับมอบหมายได้เตรียมคณะทำงาน คณะกรรม การไว้รองรับ โดยมีบุคลากรไม่มากเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า แต่นายกฯจะเอาตามนี้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และต่อไปนี้จะเรียงร้อยการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้ง 6 คณะที่มีรองนายกฯแต่ละด้านกำกับดูแล โดยนำงานของ สปท.มาผนวกเข้าด้วยกันให้สอดคล้อง กับภาพใหญ่ทั้งหมด เพื่อจัดเรียงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีให้ทันสมัยตามที่นายกฯมอบหมาย

‘วิษณุ’ปธ.ชุดบริหารราชการ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯกล่าวว่า ได้หารือกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะเลขานุการป.ย.ป.แล้ว ทั้งเรื่องการวางตัวบุคคลมาเป็นกรรมการในชุดของตนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งขณะนี้ได้ตัวบุคคลบ้างแล้ว โดยจะต้องไปคุยกับรองนายกฯคนอื่นที่ดูแลคณะกรรมการในชุดที่เหลือว่าจะมีข้อเสนออย่างไรบ้าง ทั้งนี้ นายกฯไม่ได้ขีดเส้นตายไว้ และระหว่างนี้ป.ย.ป.จะเริ่มทำงานกันไปก่อน และมีการประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนที่วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของคนที่จะมาเป็นกรรมการด้านการปฏิรูปและปรองดองนั้น ตนคิดว่าเวทีดังกล่าวไม่ใช่เวทีที่จะนำคู่กรณีมาโหวตและตัดสินกัน แต่เห็นว่าควรนำคนที่ไม่ใช่คู่กรณีในความขัดแย้งแต่ละเรื่องเข้ามาร่วมเป็นกรรมการจะดีกว่า จากนั้นเราจะนำข้อมูลที่ได้มาให้คณะกรรมการพิจารณา โดยเลือกดูข้อมูลที่เป็นกลางหรือมีอำนาจในเรื่องนั้นๆ มากกว่าคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อที่คณะกรรมการจะช่วยหาวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง ส่วนคนที่เป็นคู่ขัดแย้งกันจริงไปคุยกันอยู่ข้างนอก ทั้งนี้ เรื่องที่เคยมีการรวบรวมสมัยที่พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม มี 20 เรื่อง อาทิ ความ ขัดแย้งของสีเสื้อ เรื่องเขื่อนปากมูล เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องเพศ

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะเลขานุการป.ย.ป. ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินสายพูดคุยกับองค์กรต่างๆ เกี่ยวกับการตั้งป.ย.ป. ว่า ช่วงเช้า ได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ และ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ถึงการทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมการปฏิรูป และ ได้เสนอให้เพิ่มบทบาทของวิป 3 ฝ่าย ครม. สนช. สปท. จากเดิมมีเพียงตัวแทนมาคุยกัน ให้เพิ่มกรรมาธิการ(กมธ.) ของ สนช.และสปท. มาร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปและสร้างความปรองดองด้วย เป็นการแปลงวิป 3 ฝ่าย เป็นกมธ.ในคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นคณะที่ 2 ของป.ย.ป.

ยังไม่ชัดใครนั่ง 4 คณะย่อย

นายสุวิทย์กล่าวว่า ขณะที่รายชื่อรองนายกฯ ที่จะมานั่งใน 4 คณะย่อยของ ป.ย.ป.นั้น ยังไม่ชัดเจน คาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีรายชื่อออกมา นอกจากรองนายกฯ แล้วจะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน คนที่เมื่อพูดถึงการปฏิรูปปรองดองแล้วคนส่วนใหญ่จะนึกถึง อย่างไรก็ตามช่วงเช้าวันที่ 17 ม.ค. จะหารือกับพล.อ.ประวิตรถึงโครงสร้างคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรอง ดอง หาแนวทางว่าการสร้างปรองดองจะผนวก รวมกับการปฏิรูปได้อย่างไร โดยเฉพาะการขับเคลื่อนคณะกรรมการที่ พล.อ.ประวิตร รับผิดชอบดูแล กับอีก 3 คณะที่เหลือ ซึ่งจะรายงานผลการหารือทั้งหมดต่อนายกฯ ในวันที่ 17 ม.ค.

นายสุวิทย์กล่าวถึงการจัดตั้งสำนักงานบริหารนโยบายของนายกฯ (พีเอ็มดียู) ว่า คาดว่าจะต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อจัดตั้งสำนักงานนี้ โดยวางโครงสร้างองค์กรให้ตั้งขึ้นง่ายยุบง่าย 2 ปีต้องจบ หากรัฐบาลหน้าจะทำต่อก็ทำได้ โดยจะดึงคนที่มีความรู้ความสามารถจากภายนอกเข้ามาทำงาน และต้องมีความคล่องตัว มีงบประมาณเป็นของตัวเอง เบื้องต้นจะเสนอให้ใช้ผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งยังเหลือโควตาที่ยังไม่แต่งตั้งเข้าให้มาทำงานปฏิรูประดับบัญชาการ 10 เรื่อง แบ่งเป็น 10 ทีม จะสรรหาคนที่เก่งและดีมาทำงานตรงนี้ ไม่เกิน 10 คน จากนั้นจะตั้งคณะทำงานระดับรองลงมา ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยคณะทำงาน คณะทำงาน ใช้ระบบจัดจ้างพิเศษ โดยบทบาทของพีเอ็มดียู คือตรวจสอบติดตามประเมินผลการทำงานของ ป.ย.ป. ที่สำคัญคือสามารถปลดล็อกปัญหาต่างๆ ได้ โดยรายงานตรงต่อนายกฯ และการทำงานจะไม่ล้ำเส้นบทบาทของรองนายกฯ สำหรับป.ย.ป.ไม่ได้ตั้งช้า เรื่องทั้งหมดรัฐบาลได้ทำมาต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้เป็นการบูรณาการ

‘หน่อย’ชี้ผู้มีอำนาจต้องจริงใจ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตกรรมการ บริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงการตั้งป.ย.ป. ว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาหาทางออกให้ประเทศร่วมกัน เพราะตราบใดที่ยังมีความขัดแย้งและยังมองไม่เห็นอนาคตของประเทศ การลงทุนใหม่ก็เกิดขึ้นได้ยาก เศรษฐกิจจะย่ำแย่ต่อไป

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า การจะเริ่มกระบวนการปรองดองจึงเป็นเรื่องที่ดี โดยมีปัจจัยที่จะทำให้สำเร็จดังนี้คือ 1.ความจริงใจของผู้มีอำนาจ รวมทั้งผู้มีอำนาจต้องทำตัวเป็นกรรมการกลาง มิใช่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง อย่างที่ทำมาตลอด 2 ปีกว่าของการปฏิบัติ 2.รับฟังทุกฝ่ายอย่างจริงใจ จริงจังด้วยความเสมอภาค มิใช่เรียกคู่กรณีมาเพื่อทำให้ครบพิธีกรรมโดยไม่มีการรับฟังอย่างที่ผ่านมา 3.การดำเนินการสู่ความปรองดองต้องทำตามหลักนิติธรรมสากลกับทุกฝ่ายอย่างเที่ยงธรรม มิใช่เลือกปฏิบัติให้ฝ่ายหนึ่งได้ แต่อีกฝ่ายไม่ได้ 4.ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก โดยต่างคนต่างถอย หรือลดประโยชน์ส่วนตนออก

เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่พล.อ.ประยุทธ์ ระบุการปรองดองต้องไม่เริ่มต้นที่การนิรโทษกรรม คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่าเห็นด้วย เพราะ เราต้องเริ่มกระบวนการรับฟังและร่วมคิดหาทางออกก่อนจึงจะไปถึงวิธีออกจากปัญหา การนิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งในวิธีออกจากปัญหา แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใด ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ให้ฝ่ายหนึ่ง แต่ไม่ให้อีกฝ่าย

สมชายให้กำลังใจ‘บิ๊กป้อม’

ด้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และแกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ตอนที่คสช.เข้ามาปฏิวัติ ก็อ้างเรื่องสร้างความปรอง ดอง แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นการสร้างความปรองดองที่เป็นรูปธรรม แต่เมื่อพล.อ.ประวิตร ได้รับมอบหมายให้ทำเรื่องนี้ ถือเป็นบุคคลที่ได้รับความนับถือจากทุกฝ่าย รวมทั้งตนด้วยเช่นกัน ดังนั้น ขอให้กำลังใจ ให้เดินหน้าสร้าง ความปรองดองให้สำเร็จ

อดีตนายกฯกล่าวว่า ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรต้องทำให้ครบทุกมิติ ทั้งสร้างปรองดอง สร้างความยุติธรรม และการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายให้มีมาตรฐานเดียว ซึ่งรัฐบาลต้องสะสางและทำให้ภาพปรากฏ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลและคสช.ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายการเมือง เช่น การระบุว่านักการเมืองเป็นพวกโกง บางครั้งก็แยกไปยืนอยู่อีกฝ่าย ดังนั้น หากรัฐบาลอยากสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจริง รัฐบาลต้องวางตัวอยู่ตรงกลาง มีศรัทธา สุจริตใจ และลงมือทำโดยปราศจากอคติ ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็ไม่ได้อยากเป็นตัวถ่วง เราอยากเห็นประเทศเดินหน้าได้

“ต้องรอดูความชัดเจนก่อนว่า พล.อ.ประวิตร จะสร้างความปรองดองออกมาในรูปแบบไหน จะเชิญใครมาร่วมอยู่ในคณะกรรมการบ้าง ผมอยากให้เชิญผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหรือนักวิชาการที่เป็นกลาง รวมทั้งประชาชนให้ความไว้วางใจเข้ามาร่วม ส่วนที่พล.อ.ประวิตรระบุจะไม่มีนิรโทษกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ผมมองว่าเรื่องนิรโทษกรรมถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปรองดองให้เกิดขึ้นได้ ผมพร้อม สนับสนุนเพราะอยากให้เกิดขึ้นจริง แต่ไม่อยากให้ทำเพื่อสร้างภาพว่าทำเรื่องปรองดองแล้ว หรือทำเพื่อให้พ้นภาระว่าได้ทำเรื่องนี้ไปแล้ว” นายสมชายกล่าว

ณัฐวุฒิหวังผู้มีอำนาจจริงใจ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การสร้างความปรองดองมีหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลา จุดยืนของนปช.คือพร้อมให้ความร่วมมือ และจะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการนี้ แต่มีข้อสังเกตที่อยากให้ผู้มีอำนาจและประชาชนพิจารณาเพื่อประกอบความเข้าใจว่า ตัวแบบความปรองดองที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ และได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งที่เอลซัลวาดอร์เกิดสงคราม กลางเมืองต่อเนื่องกว่า 12 ปี กัวเตมาลามีการสู้รบระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มต่อต้าน 30 ปี เมื่อทุกฝ่ายเห็นว่าต้องปรองดองจึงให้สหประชาชาติ (ยูเอ็น)เข้าดำเนินการ ส่วนประเทศที่ไม่ถึงขั้นสงครามกลางเมือง เช่น ชิลี อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ แม้ไม่ใช้ยูเอ็น แต่มีกระบวนการสรรหาที่ส่วนต่างๆ ทั้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ภาคประชาสังคม คู่ขัดแย้ง เป็นต้น คัดเลือกและให้การรับรอง

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ไม่มีประเทศไหนสร้างความปรองดองสำเร็จโดยอำนาจของคู่กรณีในความขัดแย้ง ส่วนของไทยกำลังจะตั้งคณะกรรมการโดยอำนาจนายกฯ จึงต้องพิจารณาว่าคณะผู้มีอำนาจชุดนี้มีบทบาทเป็นคู่กรณี เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งหรือไม่ ขณะที่การดำเนินการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่บทสรุปที่ยอมรับร่วมกันได้ ถ้าเริ่มด้วยความจริงใจจากฝ่ายผู้มีอำนาจ เชื่อว่า น่าจะให้ผลเป็นรูปธรรมในระดับหนึ่ง และเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะประคับประคองให้เดินหน้าต่อไป

นายถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส. กล่าวถึงการตั้งป.ย.ป.ว่า การสร้างความปรองดองเป็นเรื่องที่ดี แต่หากระบบราชการยังมีปัญหาบ้านเมืองก็จะวุ่นวาย ดังนั้น ฝากป.ย.ป.ด้วยว่าเหตุที่บ้านเมืองวุ่นวายไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน แต่เกิดจากระบบบริหารราชการ ระบบบริหารบ้านเมืองปล่อยให้มีการทุจริต นอกเหนือจากการตั้งป.ย.ป. เห็นว่าควรตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขสาเหตุของความขัดแย้งด้วย ซึ่งก็คือพฤติกรรมที่ส่อทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจทางการเมืองและที่เป็นใหญ่อยู่ในระบบราชการขณะนี้ ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหานี้ด้วย บ้านเมืองถึงจะสงบได้

ยกคำร้อง‘ไผ่ ดาวดิน’

ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น นายอธิพงษ์ ภูผิว ทนายความของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องหาความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ได้เดินทางมาพร้อมกับน.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และครอบครัวของนายจตุภัทร์ เพื่อรับทราบคำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่น หลังยื่นเรื่องต่อศาลฯ ขอเบิกตัวผู้ต้องหาจากทัณฑสถานพิเศษขอนแก่น มาสอบรายวิชาทักษะคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) ตามที่ มข. กำหนดการสอบไว้วันที่ 17-18 ม.ค. ซึ่งถือเป็นรายวิชาสุดท้ายของการศึกษาในคณะนิติศาสตร์ ของผู้ต้องหา

น.ส.ภาวิณีกล่าวว่า หลังจากทีมทนาย นำเอกสารมาแถลงต่อศาลเพื่อให้ศาลพิจารณาถึงความจำเป็นเพื่ออนาคตทางการศึกษา เช่นเดียวกับสิทธิของผู้ต้องหาในการสอบของมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว โดยให้ทีมทนายและครอบครัวไปหารือร่วมกับเรือนจำกลางพิเศษขอนแก่นและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าจะอนุญาตให้ผู้ต้องหาสอบได้หรือไม่ และในวันที่ 20 ม.ค.นี้ครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 4 และเข้าสู่ขั้นตอนขออำนาจศาลจังหวัดขอนแก่น ฝากขังครั้งที่ 5 ทีมกฎหมายได้ขอเบิกตัวผู้ต้องหามาเพื่อคัดค้านการขอฝากขัง

ให้‘ไผ่’สอบในเรือนจำ

พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฏิบัติการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) พื้นที่ขอนแก่น กล่าวว่า ที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงยุติธรรม ตำรวจ หน่วยงานด้านความมั่นคง ฝ่ายปกครองและมหาวิทยาลัย ขอนแก่น มีมติอนุญาตให้ผู้ต้องหาได้สอบแล้ว ซึ่งจะจัดสถานที่สอบภายในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นต่อไป โดยการอนุมัติให้สอบได้นั้นผู้ต้องหาและครอบครัวรับทราบแล้ว

ด้านพล.ต.ต.พรหมณัฎฐเขต ฮามคำไพ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น กล่าวว่า พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีได้สรุปสำนวนคดีแล้วใน 2 ข้อกล่าวหาคือความผิด ม.112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งตำรวจภูธรจังหวัดขอนแกนได้สรุปสำนวนส่งคณะกรรมการของกองบัญชาการตำรวจภุธรภาค 4 แล้ว คาดว่า 7 วัน คณะกรรมการฯ จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการ จ.ขอนแก่น เพื่อสั่งฟ้องในคดีดังกล่าวได้ ยืนยันให้ความเป็นธรรมและดำเนินการอย่างรัดกุมและรอบคอบ ตำรวจยินดีอำนวยความสะดวกการมีสิทธิ์สอบของผู้ต้องหา ซึ่งขณะนี้มีทางออกและทิศทางที่สดใส เราต้องแยกประเด็นเป็น 2 ส่วนคือคดีทางกฎหมายและการมีสิทธิ์สอบเพื่ออนาคตทางการศึกษาของผู้ต้องหา

น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม ได้ให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ เข้าไปประสานเพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการสอบวิชาคอมพิวเตอร์ของนายจตุภัทร์ จากการหารือได้ข้อสรุปว่า ทางมหาวิทยาลัยจะจัดสอบ ให้เป็นกรณีพิเศษที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ ไม่ต้องอิงกับตารางสอบของนักศึกษาทั่วไป ที่ต้องสอบในวันที่ 17-18 ม.ค.นี้ โดยสอบภาค ทฤษฎีให้เสร็จภายในสิ้นเดือนม.ค. หากสอบผ่านจะให้สอบภาคปฏิบัติภายในเดือน ก.พ.นี้ ส่วนการวางแผนการจบปริญญาตรีของนายจตุภัทร์ หากรอผลสอบรีเกรดที่สอบไว้เสร็จก็ทราบผลภายในเดือน ก.พ.นี้ ว่าจะเรียนจบหรือไม่ ทั้งนี้ ในวันที่ 17 ม.ค.นี้ คณบดีคณะนิติศาสตร์จะมาพบนายจตุภัทร์อีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน