“บิ๊กตู่” ใช้ม.44 ตั้งกรรมการ ป.ย.ป. แจกงานรองนายกฯ คุมทีมย่อย 4 ชุด มั่นใจทำปรองดองสำเร็จ เปิดเวทีรับฟังทุกฝ่าย ไม่ให้เรียกเอ็มโอยู แต่เรียกสัญญาประชาคม ‘บิ๊กป้อม’ชี้ 3 เดือนพูดคุยได้ข้อยุติ ถ้าจำเป็นก็ต้องใช้ม.44 ปลดล็อก-ออกกฎหมาย โยนนิรโทษกรรมให้รัฐบาลหน้า กลาโหมเปิดชื่อกรรมการอำนวยการปรองดอง ปลัดกห. นั่งประธานร่วมปลัดมท. ตั้งอนุกก. 4 ชุดขับเคลื่อนงาน ‘ปึ้ง’เชียร์‘ป้อม’เดินถูกทางแล้ว ‘เทือก’ลั่นไม่เซ็นเอ็มโอยู ชี้ไม่ใช่ทางออก กฤษฎีกาชุดพิเศษถกแก้ร่างรธน.นัดแรก เห็นชอบ ‘มีชัย’ ประธาน ‘วิษณุ-ดิสทัต’นั่งรอง

นายกฯทูลฯขอคืนร่างรธน.

เวลา 14.00 น. วันที่ 17 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ตนเองได้ลงนามและทูลเกล้าฯ ไปแล้ว เพื่อขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรม นูญลงมาเพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อให้คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมา 11 คน อีกทั้งต้องให้เวลา เจ้าหน้าที่อาลักษณ์ลงในสมุดไทยด้วย เพราะมีส่วนที่ต้องแก้ไข ตามประเพณีคาดว่าไม่เกิน 1 เดือน

ใช้มาตรา44ตั้ง‘ปยป.’

พล.อ.ประยุทธ์เผยผลการประชุมคสช.นัดพิเศษว่า เป็นการพิจารณามาตรา 44 จำนวน 2 เรื่อง เรื่องแรกที่สำคัญคือ การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งมี 3 ด้านเพื่อขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์คือ 1.คณะทำงานด้านการขับเคลื่อนในส่วนของรองนายกฯ เดิมมาอยู่ในกล่องนี้ ซึ่งก็มีทั้งงานด้านฟังก์ชั่นและงานนโยบาย 2.งานด้านการปฏิรูป จะนำแผนปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ส่วนไหนรัฐบาลทำแล้ว อะไรที่อยากให้ทำต่อมาพิจารณาและเกลาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ 3.คณะกรรมการปรองดอง ซึ่งทุกคนให้ความสนใจ

“ขอย้ำว่ารัฐบาล คสช. และตัวผมเองไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร อย่าเข้าใจผิด หลายคนบอกว่ารัฐบาลต้องเป็นกลาง เราก็เป็นอยู่แล้ว ถ้าไม่เป็นกลางจะทำงานได้หรือ คำว่าเป็นกลางของผมคือทำงานได้กับทุกภาคส่วน ซึ่งผมให้นโยบายกับพล.อ.ประวิตร (วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม) ว่าต้องทำอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นิรโทษกรรมต้องไว้ทีหลัง

สำหรับความเห็นนักการเมืองจะมีผลอะไรกับการทำงานป.ย.ป.หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนิรโทษ รวมถึงเรื่องของกฎหมายยังไม่ได้พูดถึงในวันนี้ พูดแต่เพียงว่าต้องใช้หลักอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ต้องให้ทุกพรรคได้พูดออกมา ทั้งเรื่องความขัดแย้ง การปรองดอง และความคิดต่างๆ ของแต่ละพรรค ทุกกลุ่มการเมือง ต้องชี้แจงได้ว่าจะปฏิรูปประเทศและปรองดองอย่างไร ต้องหารือด้วยว่าวันข้างหน้าจะอยู่กันอย่างไร

นายกฯกล่าวว่า ส่วนปัญหาในอดีตที่ผ่านมาค่อยไปหาวิธีแก้ไข ทางกฎหมายก็ไปว่ากันอีกครั้ง อย่าเพิ่งเอาเรื่องของนิรโทษหรือเรื่องอะไรมาพูดกันก่อน เพราะถ้านำมาพูดก่อนก็ทะเลาะกันทุกที ที่ผ่านมาก็มีปัญหาตั้งแต่ปี 2557 ในเรื่องนิรโทษและการปรองดอง เอาไว้ทีหลังค่อยว่ากัน วันนี้เราต้องทำให้ภาคประชาสังคม ประชาชนทุกคนในประเทศรู้ก่อนว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคเป็นอย่างไร ต้องการอะไร และจะปฏิรูปประเทศกันหรือไม่

หารือพูดคุยใช้เวลา 3 เดือน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่สำคัญจะสร้างความปรองดองได้อย่างไร ใครที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งไม่ใช่ตนหรือรัฐบาลนี้ และตนต้องทำหน้าที่นี้ต่อไปจนกว่าคณะกรรมการชุดนี้จะสรุปผลต่างๆ ว่าจะทำอย่างไรแล้วไปดำเนินการต่อ และเรื่องแบบนี้ไม่ได้จบภายใน 1-2 วัน พล.อ.ประวิตรบอกว่าต้องใช้เวลาในการหารือพูดคุยประมาณ 3 เดือน เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าใครต้องการอะไร อย่างไร ปัญหาอยู่ตรงไหน แล้วก็ปฏิรูปลงมา จากนั้นไปว่ากันต่อในขั้นที่ 2 และ 3 อย่าใจร้อน เรื่องนี้ถ้าใจร้อนแล้วมีเรื่องทุกที

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คำสั่งมาตรา 44 อีกฉบับ เกี่ยวกับคณะกรรมการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) จำเป็น ต้องมีคณะทำงาน 2 ระดับ ระดับบนเป็นครม.กำหนดนโยบาย ระดับล่างเป็นคณะกรรมการพื้นที่ ไม่เช่นนั้นพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จะเกิดไม่ได้ หากไม่ใช้คำสั่งมาตรา 44 ต้องรอพ.ร.บ.อีกหลายเดือนกว่าจะออก แต่คำสั่งมาตรา 44 ก็สอดคล้องกัน และวันนี้หลายประเทศสนใจที่จะมาลงทุน หลายโครงการ ถ้าเราทำเสร็จเขาจะตัดสินใจมาภายในปี 2560 นี้ ฉะนั้นขอให้ช่วยกันอย่าเอาปรองดองมาเป็นประเด็น เราต้องคาดหวังว่าจะสำเร็จ ตนกำลังทำประเทศก็ต้องเชื่อมั่นว่าจะทำได้ จะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับทุกคนที่ร่วมมือไม่ใช่ตนคนเดียว

เอ็มโอยูให้เรียก‘สัญญาประชาคม’

“ตอนนี้ผมกำลังทำสิ่งที่แตกต่างก็ต้องให้กำลังใจ ไม่ใช่ฟังทางโน้นทางนี้แล้วมาไล่รัฐบาล ต่างชาติเขาจะเข้าใจและมาลงทุนหรือไม่ เขามาเจรจาทุกประเทศเพียงแต่รอดูว่าจะปรองดองกันได้หรือไม่ นั่นคือประเด็นสำคัญที่ต้องช่วยกัน อย่ามาบอกว่าไม่สำเร็จหรอก แล้วใครที่จะเป็นคนปรองดอง ผมเหรอ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนเป็นคนอำนวยความสะดวก จัดเวทีการพูดคุยกันให้ได้ แต่ไม่ใช่คุยกัน 3-4 แล้วจบ แล้วไปสู่การใช้กฎหมายเลอะเทอะไปหมด ไม่ได้ ประเทศชาติต้องตัดสินใจโดยประชาชน ประชาสังคมต้องร่วมตัดสินใจ การลงสัจวาจาหากเป็นเอ็มโอยูเป็นการลงนามความร่วมมือ ทางด้านธุรกิจเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นี่เป็นเรื่องภายในประเทศ เรียกให้เบาลงว่าสัญญาประชาคมที่เป็นสัจวาจา คือพูดแล้วต้องทำ เช่น จะไม่ขัดแย้งกันอีกต่อไป ไม่ ขัดขวางการเลือกตั้ง ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ว่าไปตามกฎหมาย

นายกฯกล่าวว่า เรื่องการปรองดองไม่ใช่เฉพาะแค่นักการเมือง แต่มีเรื่องที่ดิน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม สั่งการไปแล้วทำทั้งหมด มีประมาณ 10 หัวข้อ จะให้ประชาชนรับทราบด้วยในสิ่งที่ทุกพรรคพูด ให้มาทีละพรรค ถ้าให้มาพร้อมกันคงทะเลาะกันอีก แล้วคณะกรรมการจะสรุปอีกทีว่าจะทำอะไร อย่างไร เรื่องกฎหมายนั้นเอาไว้ทีหลัง

รองนายกฯคุมกก.ย่อย4ชุด

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคสช.มีมติเห็นชอบให้ใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวตั้งป.ย.ป. มี พล.อ. ประยุทธ์ เป็นประธาน มีที่ปรึกษาประกอบด้วย คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ภาคประชารัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ เน้นอดีตข้าราชการที่เกษียณอายุ ส่วนคณะกรรมการจะประกอบด้วยรองนายกฯ รมต.ประจำสำนักนายกฯ รมว.คลัง รมว.มหาดไทย รวมถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาแต่ละด้าน มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะเลขานุการ

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ป.ย.ป.มีคณะกรรมการย่อย 4 คณะ 1.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ รับผิดชอบโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ เน้นการปฏิรูปประเทศ 137 ประเด็น ดูแลโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ โดยเชิญประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และรองประธาน 1 คน ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และรองประธาน 1 คน เข้ามาร่วม

3.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ จัดทำยุทธศาสตร์ชาติและเตรียมการเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รับผิดชอบ โดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รอง นายกฯ และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ เชิญประธานสนช. และรองประธาน 1 คน ประธานสปท. และรองประธาน 1 คน เข้ามาร่วม 4.คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม และเชิญประธานสนช. และรองประธาน 1 คน ประธานสปท. และรองประธาน 1 คน เข้ามาร่วม

เวลา 21.00 น. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่ง คสช.เรื่องการแต่งตั้ง ป.ย.ป.ดังกล่าว

สำนักบริหารฯขึ้นตรงเลขาฯนายกฯ

“สำหรับเรื่องคณะกรรมการปรองดอง นายกฯระบุรัฐบาลตั้งใจให้ประสบความสำเร็จ ถ้าคิดว่าไม่สำเร็จจะตั้งทำไม ที่ผ่านมาตั้งไม่สำเร็จนั้น นายกฯให้ไปดูว่าวันนั้นใครตั้งและวันนี้ใครตั้ง แต่วันนี้คสช.และรัฐบาลตั้ง เราไม่ได้เป็นปรปักษ์คู่แค้นกับใคร แต่ละฝ่ายต้องร่วมมือกันและกลับไปดูสามัญสำนึก เพราะเอาเจตนารมณ์ของแต่ละคนเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ไม่มีทางหาจุดลงตัว คณะกรรมการปรองดองจะตั้งอนุกรรมการหลายคณะและเชิญพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ฯลฯ คุยกันเพื่อหาจุดลงตัว ทำสัญญาระหว่างกัน” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงสร้างป.ย.ป.มีสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU) ทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ ทำงานด้านธุรการ งานวิชาการ ติดตามประเมินผลการทำงานของ 4 คณะย่อย มุ่งเน้นภารกิจเชิงยุทธศาสตร์และบูรณาการตามพื้นที่หรือกลุ่มภารกิจ นอกจากนี้ ยังให้อำนาจนายกฯ แต่งตั้งผอ.สำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ขึ้นตรงต่อเลขาธิการนายกฯ ประสานงานกับเลขานุการป.ย.ป.ในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ทั้งยังให้สำนักเลขาธิการนายกฯจัดให้สำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี มีเจ้าหน้าที่ งบประมาณ สถานที่ทำงาน อุปกรณ์เครื่องมือ สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามที่ป.ย.ป. กำหนด ผ่านความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง สามารถโอนทรัพย์สินของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาการเมือง สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมาดูแลรักษา ใช้สอย ตลอดจนรับโอนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานดังกล่าวมาปฏิบัติงานได้

คุยพรรคการเมือง10หัวข้อ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงโครงสร้างของป.ย.ป. 4 คณะว่า นายกฯมอบให้ตนดูคณะกรรมการและจัดโครงสร้างเรื่องการปรองดองทั้งหมด ที่มีสาเหตุจากพรรค การเมืองที่มีปัญหาและเริ่มขัดแย้งทำให้เกิดความสับสนในบ้านเมือง แต่ขณะนี้บ้านเมืองสงบแล้วตนมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยไม่พูดถึงเรื่องอดีต เรื่องนิรโทษกรรม อภัยโทษ เรื่องกฎหมาย หรือปัญหาที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งต่อไป

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า สำหรับคณะกรรมการอำนวยการเรื่องการปรองดองมอบปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นหัวหน้า มีผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ผบ.เหล่าทัพ เข้าร่วมเพื่อกำหนดหัวข้อของปัญหา เชิญพรรคการเมืองทั้งหมดและกลุ่มการเมืองมาพูดคุยทีละพรรคเพื่อให้แสดงความเห็น เบื้องต้นคิดว่าประมาณ 10 หัวข้อ เช่น เรื่องความมั่นคง ยุทธศาสตร์ การปฏิรูป เศรษฐกิจ จากนั้นตั้งคณะอนุกรรม การซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ทรงคุณวุฒิ ไม่มีความ ขัดแย้ง ไม่เกี่ยวกับพรรคมารับฟัง คาดใช้เวลา 1 เดือน สรุปรวบรวมข้อมูลที่ได้รับฟังแต่ละหัวข้อ โดยเชิญพรรคทั้งหมดมาฟังอีกครั้งว่าบทสรุปที่เราทำจะเอาแบบไหน แล้วมาทำสัตยาบันร่วมกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้หลักเกณฑ์อย่างนี้ โดยไม่ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

นิรโทษโยนให้รัฐบาลหน้า

รองนายกฯกล่าวว่า หากเรื่องใดจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพื่อปลดล็อกและออกกฎหมายก็ต้องทำ ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคตที่จะต้องคุยกับพรรคก่อน การพูดคุยไม่มีเรื่องของบทลงโทษ สำหรับเรื่องคดีของนักการเมืองนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องการพูดคุย เรื่อง ในอดีตที่เป็นคดีก็ว่ากันไปและต่อไป ในอนาคต เมื่อมีพรรคการเมืองแล้วก็ไปว่ากันเองถ้าจะมีการนิรโทษกรรมหรือขอพระราชทานอภัยโทษในรัฐบาลต่อไป

เมื่อถามถึงกระแสวิจารณ์ล้อเลียนว่าพรรคถูกมัดมือชก เพราะหากไม่เข้าร่วมอาจจะตกขบวนปรองดอง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่เกี่ยวกัน ตนอธิบายถ้าสื่อเข้าใจ นักการเมืองเข้าใจมากกว่า ส่วนที่มีการปรามาสว่าไม่สามารถทำการปรองดองได้สำเร็จในยุคนี้ก็ไม่เป็นไรเพราะตนอธิบายไปแล้ว

โชว์ผังสร้างปรองดอง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในที่ประชุมคสช. พล.อ.ประวิตรนำตารางแนวทางการทำงานของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองที่กำหนดไว้มาแสดงหน้าจอโปรเจ็กเตอร์ โดยในตารางช่องแรกสรุปประเด็นที่เห็นตรงกันและเห็นต่างกันที่มีทั้งเรื่องการเมือง ยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูป ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม ช่องที่ 2 กำหนดกลุ่มการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสามัคคีปรองดอง ที่มีพรรคเพื่อไทย กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พรรคประชาธิปัตย์ และประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (กปปส.)

ช่องที่ 3 กำหนดเวทีร่วมของทุกพรรคและกลุ่มการเมืองที่จะมีการพูดคุย โดยนำเสนอผลที่ได้จากการหารือในเรื่องข้อเสนอกติกาที่เห็นพ้องต้องกัน ประเด็นที่มีความเห็นต่างกันในที่ประชุมหารือว่าจะมีทางออกอย่างไร อาจจะมีกฎหมายที่ต้องแก้ไข การใช้มาตรา 44 ปลดล็อกและการใช้อำนาจบริหาร และช่องสุดท้ายคือการทำสัจวาจาสัญญาประชาคม อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตรระบุว่าไม่อยากให้สื่อกดดันเพราะต้องให้เวลา คาดว่า 3 เดือนน่าจะเห็นหน้าเห็นหลังแล้ว

เปิดชื่อ-โครงสร้างกก.อำนวยการ

รายงานข่าวจากกระทรวงกลาโหมเผยว่า หลังพล.อ.ประวิตรมอบกระทรวงกลาโหมเป็นหลักในการขับเคลื่อนการปรองดอง มีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ขึ้นมาดำเนินงาน โดย พล.อ.ประวิตรเตรียมพร้อมเสนอรายชื่อคณะกรรมการดังกล่าว 19 คน อาทิ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นประธานร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่วนกรรมการ อาทิ ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผบ.ตร. รองปลัดกระทรวงกลาโหม หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกลาโหม พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ผอ.สำนักนโยบายและแผน กลาโหม พล.ท.ณัฐ อินทรเจริญ รองเสนาธิการทหารบก ผอ.ศูนย์ปรองดอง คสช.(ผอ.ศปป.) และพล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม

ในส่วนของโครงสร้างได้ตั้งคณะอนุ กรรมการ 4 ชุดคือ 1.คณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น มีอนุกรรมการ 23 คน มี พล.อ.วัลลภเป็นประธาน ร่วมด้วยตัวแทนเหล่าทัพระดับพล.ท.หน่วยละ 2 คน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ตัวแทนกรมพระธรรมนูญ และกระทรวงมหาดไทย 2.คณะอนุกรรมการจัดทำความเห็นร่วมเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ 22 คน 3.คณะอนุกรรมการจัดทำกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ 17 คน และ 4.คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ 17 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมกรรมการและอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นรวม 98 คน มีทั้ง ทหาร ตำรวจ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ

ประชุมถกกรอบเวลาทันที

วันเดียวกัน ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมคณะกรรมการประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ทหารจากทหารกรมกิจการพลเรือนทหาร ผอ.การศึกษายุทธศาสตร์สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ผู้แทนจากกรมกิจการพลเรือนทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ เจ้ากรมเสมียนตรา ผอ.สำนักนโยบายและแผนอำนวยการกองงบประมาณ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ตร. และกระทรวงมหาดไทย เป็นการพิจารณา 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การดำเนินงานเรื่องความปรองดองสมานฉันและกรอบเวลา 2.การพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการและคณะทำงานซึ่งอยู่ระหว่างการจัดร่างคำสั่งแต่งตั้ง แนวทางการดำเนินการ 3.ประเด็นคำถามการสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้ที่เข้าร่วมประชุม

‘ปึ้ง’หนุน‘บิ๊กป้อม’คุมปรองดอง

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า วันนี้ทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยและพร้อมร่วมมือกับพล.อ.ประวิตร แม้กระทั่งนายกฯก็เอ่ยปากสนับสนุนแนวคิดที่พล.อ.ประวิตรจะเชิญฝ่ายต่างๆ มาร่วมลงนามในเอ็มโอยูปรองดองกัน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ถึงแม้บางกลุ่มจะแสดงข้อห่วงใย และเกรงว่าการปรองดองครั้งนี้ อาจไม่สำเร็จได้จริง แต่ยังดีกว่าเราไม่คิดทำอะไรเลย รองนายกฯในฐานะพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์จะมีโอกาสได้รับคำสรรเสริญชื่นชมจากประชาชนหากทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ ขจัดความขัดแย้งในบ้านเมืองให้หมดไป สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น และเชื่อว่าต่างชาติอาจนำเอาไปใช้เป็นแบบอย่างก็เป็นได้ หวังจะเห็นรองนายกฯทำเรื่องนี้ด้วยความเป็นธรรม ตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เลือกที่รักมักที่ชังเพราะพวกเราทุกคนคือคนไทยด้วยกัน เชื่อว่ารองนายกฯมาได้ถูกทางแล้ว รีบทำเลย มาช่วยกันทำความดีเพื่อประเทศไทย

‘แม้ว’หวั่นยื้อเลือกตั้ง

รายงานข่าวจากคนใกล้ชิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯระบุว่า นายทักษิณทราบเรื่องที่รัฐบาลจะตั้งป.ย.ป. โดยมอบหมายพล.อ.ประวิตรดูแลคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง นายทักษิณแสดงความเห็นว่า ยังกังขาในเรื่องความจริงใจของรัฐบาลว่าจะมีมากน้อยเพียงใดที่จะสร้างความปรองดอง เพราะตลอด 2 ปีกว่าที่เป็นรัฐบาลมา มีเวลามากมายพอสมควรแต่ทำไม ไม่คิดดำเนินการ เพิ่งจะมาดำเนินการในช่วงที่ใกล้จะถึงโรดแม็ป นายทักษิณยังตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่รัฐบาลเพิ่งจะเริ่มมาสร้างความปรองดองในช่วงนี้ เป็นเพราะหวังยื้อการเลือกตั้งให้ช้าออกไปอีกหรือไม่

‘นพดล’แนะทำ 3 ข้อ

นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กระบวนการปรองดองมีมากกว่าการให้นักการเมืองมาเซ็นเอ็มโอยูเพราะมีหลายเรื่องสำคัญที่ต้องทำ เริ่มตั้งแต่ 1.การสร้างสมานฉันท์ ลดความเกลียดชังระหว่างกลุ่มต่างๆ เช่น หลีกเลี่ยงวาทกรรมสร้างความเกลียดชังหรือเฮทสปีช 2.การสร้างวัฒนธรรมและกลไกระงับความขัดแย้งภายใต้หลักนิติธรรม คือการทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ และการบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียม 3.การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งการสร้างความปรองดองจะสำเร็จได้ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม ปชป.เชียร์-ไม่รวมนิรโทษ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการให้พรรคการ เมืองลงนามเอ็มโอยูว่า หลักของพล.อ. ประวิตรที่บอกว่าไม่เกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษหรืออภัยโทษ ขอยกมือเชียร์เต็มที่ ความยุติธรรมคือถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด ต้องไม่เขียนผิดให้กลับเป็นถูก ส่วนจะเยียวยาอย่างไรหรือไม่ต้องทำให้รู้ก่อนว่าใครผิด ใครถูก ถ้าเป็นแนวนี้ก็ยกมือเชียร์เลย เพราะเป็นหลักสากล ที่ทั่วโลกใช้กัน ประชาชนจะได้รู้และมีบทเรียนร่วมกัน ส่วนถึงขั้นเซ็นเอ็มโอยูกับใครหรือเปล่าต้องดูให้ดี แต่ไม่มีปัญหา เราให้ความร่วมมือ เพราะแนวคิดตรงกับที่เราเคยแสดงความเห็นไว้

นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งป.ย.ป.ว่า หากเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง เชื่อว่าทุกคนไม่มีใครขัดข้องและพร้อมให้ความร่วมมือ แต่เมื่อพูดถึงเรื่องปรองดองก็มีคำถามตามมาว่า ความหมายปรองดองของคสช.และรัฐบาลชุดนี้ ว่าอย่างไร ถ้าเอาตามพจนานุกรมคำว่าปรองดอง ไม่มีอะไรน่าห่วง แต่ที่ทุกคนห่วงว่าจะปรองดองที่ปวดใจภายหลังเพราะถ้าปรองดองคือการยกโทษให้ นิรโทษกรรมเหมือนเช่นรัฐบาลชุดที่ผ่านมาทำต้องถือว่าเป็นทางที่คสช.และรัฐบาลเลือกเอง

‘เทือก’ปัดเซ็นเอ็มโอยู

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (กปปส.) ให้สัมภาษณ์ว่าการจับมือเซ็นเอ็ม โอยูร่วมกัน คงไม่ใช่วิธีที่จะสร้างความปรองดองได้ เพราะความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ประชาชนทุกคนในชาติต้องสามัคคีกัน และไม่เห็นด้วยหากจะมีการนิรโทษกรรม โดยอ้างความปรองดอง หรือการออกกฎหมายลบล้างความผิดต่างๆ ในอดีต

“ผมและมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ จะไม่ไปร่วมลงนามเอ็มโอยู อย่างแน่นอน เพราะมองว่าไม่ใช่ประโยชน์หรือทางออกของการปรองดองอย่างแท้จริง เชื่อว่าหากแค่ทำการลงนามเอ็มโอยู จะไม่ได้ผลและความปรองดองจะไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่หากมีการเชิญผมไปร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อ หาทางออกของความปรองดองผมยินดีที่จะเข้าร่วม” นายสุเทพกล่าว

นปช.จวกเลอะเลือน

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. กล่าวว่า ไม่รู้ว่าอะไรทำให้นายสุเทพ คิดว่าตัวเองสำคัญถึงขั้นกำหนดเงื่อนไขการปรองดองก่อนเริ่มต้นได้ ถือเป็นความเลอะเลือนอย่างยิ่งที่ใครก็ตามที่คิดว่าตัวเองคือศูนย์กลาง และการปรองดองจะเกิดได้ภายใต้ความต้องการของตนเท่านั้น ที่นปช.แสดงจุดยืนให้ความร่วมมือนั้นเราไม่เห็นนายสุเทพเลย เพราะได้มองข้ามไปถึงเป้าหมายว่าจะช่วยกันอย่างไรให้คนที่เห็นต่างอยู่ร่วมกันในหลักการและกติกาที่ยอมรับกันได้ ข้อเสนอใดๆ ที่มีจะนำไปเสนอในเวทีพูดคุย เพราะเชื่อว่าพูดกันไปมาตอนนี้มีแต่จะทำให้ยุ่งและกระบวนการเริ่มนับหนึ่งไม่ได้

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ส่วนใครตั้งแง่อย่างไรเป็นเรื่องผู้มีอำนาจต้องไปคุยกันเอาเอง กำลังจะเล่นบทพระเอกแท้ๆ แต่คนรักเก่าออกมายืนเหวี่ยงอยู่อย่างนี้ จัดการให้ดีก็แล้วกัน สำหรับนปช.พร้อมเสมอกับกระบวนการปรองดอง

สนช.หนุนพูดคุย

ที่รัฐสภา นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองประธานคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ตนสนับสนุนทั้งการตั้งป.ย.ป. หรือโมเดลการเรียกพรรคการเมืองทำเอ็มโอยู เจรจาก่อนยุติความขัดแย้ง ไม่เกี่ยวการนิรโทษ หรืออภัยโทษ เพราะเงื่อนไข จังหวะเวลากาลเทศะ ไทมิ่งลงตัว ต้องหันกลับมาคุยเพื่อทำให้ส่วนร่วมเดินหน้าอยู่ร่วมกันได้ ร่วมมือพลิกโฉมหน้าประเทศไทยขับเคลื่อนบ้านเมืองไปข้างหน้า แต่หลักการต้องอยู่บนพื้นฐานเพื่อส่วนรวม ต้องไม่ใช่คุยในระบบการเมืองพวกใครพวกมัน ต้องคุยเนื้อหาให้เข้าใจตกผลึกก่อน ตัวคนจะสำคัญขนาดไหนจะต้องมาทีหลัง อย่าเอาคนมาเป็นตัวตั้ง หลักการ กระบวนการจะเพี้ยนไป ส่วนเรื่องเยียวยา ต้องไม่ให้กระบวนการยุติธรรมหลักเสียหาย จะต้องมีกฎหมายรองรับ

‘เสรี’แนะออกกฎหมายคุม

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สปท. กล่าวว่าในการประชุม กมธ.การเมือง เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ได้ตั้งคณะอนุกมธ.รวบรวมข้อเสนอการแก้ปัญหาความขัดแย้ง มีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธานอนุกมธ. ทำหน้าที่รวบรวมประเด็นปัญหาความขัดแย้งและแนวทางสร้างปรองดองจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองและคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เคยเสนอรายงานการสร้างความปรองดอง โดยจะทำหนังสือสอบถามความเห็นให้ตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช้วิธีเชิญมาให้ข้อมูล อนุกมธ.จะไปหารือกับพล.อ. ประวิตร เพื่อฟังแนวนโยบายเรื่องความปรองดองของรัฐบาล เพื่อให้การทำงานของ กมธ.การเมืองและรัฐบาลสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน โดยอนุกมธ.จะใช้เวลารวบรวมความเห็นจากพรรค 1 เดือน เพื่อเสนอความเห็นต่อที่ ประชุมกมธ.ด้านการเมือง และที่ประชุมสปท.ก่อนส่งข้อมูลให้ ป.ย.ป.พิจารณาต่อไป

กฤษฎีกาถกแก้ร่างรธน.นัดแรก

เวลา 16.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษเพื่อยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ นัดแรก

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมว่า ตามหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวนายกฯต้องไปขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับคืนมา และให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่กลั่นกรองอีกครั้ง ซึ่งขั้นตอนการทำงานนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดนี้จะทำหน้าที่ยกร่างก่อนส่งให้นายกฯพิจารณา ส่วนข้อสังเกตพระราชทานนั้นได้แจ้งมาจากสำนักราชเลขาธิการพระราชวังแล้ว เน้นแก้เป็นประเด็น ไม่ใช่แก้เป็นรายมาตรา ส่วนประเด็นที่ต้องแก้ไขจะเกี่ยวข้องกับมาตราใดบ้างก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดนี้จะพิจารณาต่อไปเพื่อให้เกิดความเหมาะสมตามเจตนารมณ์ที่ได้รับแจ้งจากสำนักราชเลขา ธิการพระราชวัง

‘มีชัย’นั่งปธ.‘ดิสทัต-วิษณุ’รอง

เวลา 18.50 น. หลังประชุมนานราว 2 ชั่วโมง นายวิษณุให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุม ยังไม่ได้พูดในรายละเอียดในการทำงานเนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาบางคนยังติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ ส่วนคณะกรรมการที่เดิมตนเคยบอกว่าจะเสร็จภายใน 7 วันนั้นเป็นความเข้าใจผิดของตน เพราะทราบว่าขณะนี้นายกฯยังไม่ได้ขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติคืนมา เราจึงยัง ไม่กล้าพิจารณาใดๆ แต่ยืนยันว่าเมื่อนายกฯได้รับร่างคืนมาก็จะพิจารณาเรื่องนี้ภายใน 30 วัน สำหรับการประชุมครั้งต่อไปยังไม่ได้กำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษฯ เห็นชอบร่วมกันให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เป็นประธาน ส่วนนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และนายวิษณุ เป็นรองประธาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน