เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เตรียมหารือกับทุกพรรคการเมืองและฝ่ายต่างๆ เพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางปรองดอง ว่า คงไม่ได้เรียกคุยพร้อมกัน แต่เป็นการรับฟังความคิดเห็น แต่ละฝ่าย แต่ละกลุ่ม เพื่อเก็บข้อมูล ส่วนผลลัพธ์สุดท้าย รูปแบบการดำเนินการจะเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครชัดเจน ซึ่งตนยินดีให้ความเห็น เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เดินไปได้ แต่อย่าปักใจว่าต้องจบลงด้วยวิธีการรูปแบบไหนอย่างไร เช่น ที่พูดว่าจะมีการลงนามเอ็มโอยูร่วมกัน ก็ขออย่ายึดติดตรงนั้น โดยอยากให้การปรองดองเป็นเรื่องคิดถึงอนาคตมากกว่าอดีต ต้องมองไปข้างหน้า และต้องสรุปบทเรียนให้ถูก อย่ามองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือระหว่างพรรคการเมือง เพราะรากฐานความขัดแย้งรอบล่าสุดเกิดจากกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ได้เกิดจากพรรคการเมืองทะเลาะกัน ถ้าสรุปผิดคิดว่าพรรคการเมืองทะเลาะกัน ก็เป็นเรื่องที่หลงทาง

“การปรองดองอยากให้มองอนาคต ส่วนเรื่องอดีตก็ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป ยกเว้นคดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่มาชุมนุมแล้วทำผิดกฎหมายพิเศษ ควรจะนิรโทษกรรม ซึ่งหากทำเช่นนี้ ก็จะได้ข้อยุติเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ส่วนกรณีที่พล.อ.ประวิตรระบุว่าหลักจากพูดคุยแล้วจะให้มีการลงนาม เพื่อเป็นข้อตกลงก่อนการเลือกตั้งนั้น ผมไม่ทราบว่าข้อตกลงจะมีเนื้อหาอย่างไร แต่ลำพังมีเอกสารและคนร่วมลงนามจะเป็นหลักประกันได้ยาก เพราะคนที่ไปลงนาม จะยืนยันได้อย่างไรว่าประชาชนที่เกี่ยวข้องจะเห็นเหมือนกับตนเอง แม้แต่พรรคการเมืองซึ่งในขณะนี้บอกว่าต้องปฏิรูปให้เป็นเรื่องขอสมาชิก แต่การจะให้หัวหน้าพรรคและผู้บริหารไปลงนาม โดยต้องผูกมัดสมาชิกจะเป็นไปได้ยาก ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้มีเจตนาขัดขวาง แต่อยากให้ประสบผลสำเร็จ โดยไม่ยึดรูปแบบดังกล่าว เพราะจะทำให้ไม่สำเร็จ ผมยืนยันพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะเข้าใจว่าเรื่องความปรองดองยังเป็นข้อกังวลใจของประชาชน แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การที่จะเอาเรื่องปรองดองไปผูกว่าต้องทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง โดยบอกว่าพรรคการเมืองอยากมีการเลือกตั้งก็ต้องมาจากการตกลงกันคงไม่ได้ ตนบอกว่าเรื่องเงื่อนไขการเลือกตั้ง ความจริงก็เป็นไปตามโรดแมป แต่ถ้ามาบอกว่าพรรคการเมืองจะต้องไปยอมรับอะไร ตนเห็นว่าขัดกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งตนไม่ทำ เพราะบ้านเมืองต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญกว่า ส่วนที่นายกฯห่วงใยว่าอะไรจะเป็นหลักประกันว่าเลือกตั้งแล้วจะไม่กลับมาตีกันนั้น ตนอยากให้ย้อนกลับไปดู การเลือกตั้งปี 2550 หรือปี 2554 ไม่ได้มีการทะเลาะกันไปสู่ความขัดแย้ง ถ้าตีโจทย์ว่าขัดแย้งจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะแม้แต่ คสช.บางฝ่ายก็บอกว่าเป็นคู่ขัดแย้ง ทั้งที่ คสช.ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงอยากให้ทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ก่อน มิเช่นนั้นจะหลงทาง อย่างไรก็ตามควรรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง และนำสิ่งเหล่านั้นมาวิเคราะห์และกำหนดหลักการแก้ไขต่อไป

ส่วนเมื่อถามถึงข้อเสนอปรองดองของคณะกรรมาธิการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการเมือง ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน เสนอแนวทางแก้ไขกฎหมายเพื่อยุติคดีทางการเมืองนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนได้คุยกับนายกษิต ภิรมย์ ซึ่งเป็นสมาชิกสปท. ทราบว่าสปท. หลายคนไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน