“บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” รุมเบรกปรองดอง สูตร 66/23 ยุค”ป๋าเปรม” อ้างเป็นคนละสถานการณ์กับวันนี้ สินบนข้ามชาติโผล่อีก สหรัฐแฉปมจัดซื้อสายเคเบิล โยง 3 หน่วยงาน “กฟน.-กฟภ.-ทีโอที” มหาดไทยสั่งตั้งกรรมการสอบทันที คมนาคมขีดเส้นบินไทย สอบประเด็นโรลส์-รอยซ์ใน 30 วัน ป.ป.ช.ตั้งกรรมการสืบสวนรวบรวมข้อมูล ทำเนียบแซ่ด อ่างบัวเสริมฮวงจุ้ยใบละ 5 พัน ตั้งโชว์แค่วันเดียว รั่วแล้ว “ดร.กบ”ตอบรับนั่งผอ.พีเอ็มดียู “ดิสทัต”คาดแก้ร่างรธน.เสร็จใน 15 วัน

“บิ๊กตู่”ปัดปรองดองสูตร66/23

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 24 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ หัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์กรณีหากมีพรรคใหญ่บางพรรคไม่เข้าร่วมกระบวนการปรองดองว่า ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ให้ทุกคนมีโอกาสเข้ามาพูดจาในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย หากไม่พูดก็แสดงว่าเขาไม่ได้มองประเทศไทยอยู่ในสายตา แล้วจะเข้ามาเป็นรัฐบาลกันได้หรือ ขอร้องว่าอย่าให้ต้องคิดแบบนี้ ขอบคุณหลายพรรคที่ยินดีจะเข้ามาโดยไม่อ้างเรื่องส่วนตัวเลย ถ้าหารือกันไม่ได้แล้วบอกว่าไม่เห็นด้วยสังคมก็ต้องตัดสินกันเอาเอง

นายกฯ กล่าวถึงข้อเสนอให้นำเอาสูตรปรองดองนโยบาย 66/23 ของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี มาใช้ว่า อยากให้ทุกคนกลับไปทบทวนให้ดีเพราะสูตรดังกล่าวเป็นคนละกรณีกัน เป็นเรื่องการต่อสู้กันมีทั้งการใช้กำลัง ใช้อาวุธสงคราม แบ่งฝ่ายต่อสู้กัน แต่วันนี้เราไม่ได้แบ่งแบบนั้น สูตร 66/23 เป็นการนำคนกลับเข้ามาเพื่อเป็นกลุ่มพัฒนาชาติไทย แต่กรณีปัจจุบันเป็นคนละอย่างและไม่ได้แบ่งกันเป็นคนละลัทธิ วันนี้อยู่ที่การจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้อย่างไร ด้วยกลไกปกติซึ่งมันต้องมีวิธีการ

คดีต้องว่าตามกระบวนการยุติธรรม

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงข่าวทาบทามนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการหาบุคลากรเข้ามาทำงาน สิ่งที่คณะกรรมการทั้งหมดจะมาทำงานโดยเฉพาะคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งแบ่งเป็น 6 กลุ่มการทำงานนั้นตนให้เอามาศึกษาทั้งหมดแล้ว สิ่งไหนที่ตรงกัน ทำได้มากน้อยแค่ไหนก็ว่ากันมา อะไรที่ไม่ตรงกันก็รับทราบไว้เฉยๆ แล้วค่อยหาทางออกกันอีกครั้ง ทุกอย่างต้องทำอย่างมีพื้นฐานไม่ใช่คิดเองทั้งหมด

นายกฯ กล่าวว่า ยืนยันว่าอะไรที่เป็น เรื่องกฎหมายก็ให้กฎหมายดำเนินการ กระบวนการยุติธรรมมีอยู่แล้ว ทั้งศาล อัยการ ความผิดต่างๆ ก็เข้าสู่กระบวนการชั้นศาล เว้นแต่จะมีใครบางคนไม่ยอมเข้า ถ้าไม่เข้าเราก็พูดกันไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเข้ามาตาม กระบวนการ ทุกๆ ปีจะมีการลดโทษอยู่แล้ว อย่ามาทำให้กระบวนการเสียหาย การกล่าว อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น มันไม่ใช่ เพราะที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมาแล้วนำทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่ผิดหรือมีปัญหา จะตัดสินออกมาได้อย่างไรว่าผิดหรือถูก ขอให้เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม ให้เขาตัดสินตามกระบวนหลักฐานที่มีอยู่

รับเชิญ”อำพน”นั่งผอ.พีเอ็มดียู

นายกฯ กล่าวถึงการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการ ป.ย.ป.ว่า ยังไม่เรียบร้อยแต่ยังมีเวลา เพราะให้เวลาถึงสิ้นเดือนนี้ และหากลงนามแต่งตั้งแล้วก็จะเริ่มทำงานในส่วนของสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) ซึ่งเป็นคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายของนายกฯ โดยเชิญนายอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษานายกฯ เป็นผอ.พีเอ็มดียู ซึ่งเจ้าตัวรับปากแล้วว่าจะมาช่วยงาน ตนเห็นว่านายอำพน รู้งานมาตลอด รู้ถึงปัญหาและอยู่มาหลายรัฐบาลแล้ว จะได้รู้ว่าวันนี้เราจะขับเคลื่อนประเทศกันอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การทำงานไม่เคยท้อแท้ยิ่งว่ายิ่งชอบ แต่ขอให้เข้าใจ เพราะประชาชนจะไม่เข้าใจ ตนเข้าใจสื่อเวลาเขียนข่าวแต่จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ว่าเรื่องใดใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งบางอย่างไม่จำเป็นต้องเถียงหรือชี้แจง แต่กลับเป็นประเด็นหมดเลย ทั้งเรื่องสำคัญ ไม่สำคัญ เรื่องงี่เง่า แล้วมาบอกว่าต้องการปรองดองให้ใช้มาตรา 44 ต่อให้มาตรา 88 ก็ทำไม่ได้

ยืนยันรบ.สอบปม”โรลส์-รอยซ์”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกรณีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพตรวจสอบหลายหน่วยงานไทยรับสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ว่า ทำไมนายองอาจต้องเสนอ ในเมื่อเคยเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรีและรัฐบาลมาก่อน วันนี้รัฐบาลนี้อยู่ภายใต้การตรวจสอบ มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งตัดสินตามหลักฐานวัตถุพยานบุคคลก็ต้องตรวจสอบจะผิดถูกก็ว่ามา และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ตรวจสอบตนในทุกโครงการที่ทำ สตง.ทักท้วงตลอด หน่วยงานก็ส่งคำชี้แจงไปเพื่อให้เข้าใจตรงกันซึ่งเขาก็เข้าใจ อันไหนมีปัญหาก็แก้ไข จึงอยู่มาถึง 3 ปี ไม่เช่นนั้นก็โดนสอยไปหมดแล้ว

“ไม่ใช่ไม่ตรวจสอบ กระทั่งผมเองมีหลายคนไปฟ้องศาลก็ต้องส่งคนไปแก้คดีเยอะแยะ คดีจำนำข้าวผมก็โดนฟ้องกลับ แล้วผมไม่ตรวจสอบตรงไหน ขอให้เข้าใจ พูดให้ดีๆ” นายกฯกล่าวและว่า ฉะนั้นกรณีโรลส์-รอยซ์ อย่ามาพูดว่าให้รัฐบาลเป็น เจ้าภาพเพราะรัฐบาลมีหน้าที่อยู่แล้ว ให้กระทรวงคมนาคมไปตรวจสอบภายในของตัวเอง โดยการบินไทย ขณะที่ป.ป.ช.ก็ประสานป.ป.ช.อังกฤษ ขอข้อมูลรายละเอียด และดำเนินการตามกรอบของป.ป.ช. เช่นเดียว กับสตง. อย่าไปกดดันเขามาก เขาทำตามกำหนดเวลาอยู่แล้ว

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องในอดีตกับวันนี้มันคนละเรื่องกัน สอบสวนมาใครผิดใครถูกก็ลงโทษ ส่วนอันใหม่ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาได้ไล่ถึงคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ให้คตร.ตรวจสอบทุกวัน มีการปรับแก้หลายอย่าง ที่ผ่านมาไม่เคยรัดกุมแบบนี้ แต่ทุกอย่างอยู่ที่คน ถ้าคนจะโกงก็ต้องหาช่องว่าง เราต้องอุดช่องว่างเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งรัฐบาลทำทุกอย่างไม่ให้เกิดกรณีทุจริต อย่ามาบอกว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร คดีใหญ่ๆ จับได้หมด ขอให้ดูตรงนี้อย่าไปดูแค่เศษเสี้ยว แล้วบอกว่ารัฐบาลนี้เหมือนเดิม ถ้าจะบอกว่ารัฐบาลนี้ทุจริต แล้วคดีเข้าศาลอยู่ที่ไหนกี่คดี อยู่ในกระบวนการหรือเปล่า ถ้าไม่อยู่แล้วมาพูดว่ารัฐบาลนี้ก็มีเหมือนกัน ตนคิดว่าไม่เป็นธรรม

โผล่อีกสินบนมะกันโยงไทย

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีเว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา รายงานการจ่ายค่าปรับของบริษัท เจเนอรัล เคเบิล จำกัด ผู้ผลิตสายเคเบิลและสายไฟ ฐานติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศรวมถึงไทย โดยระบุมีการจ่ายเงินกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้ผู้กระจายสินค้าในไทยรายหนึ่งช่วงปี 2012-2013 (พ.ศ.2555-2556) อ้างว่าเงินบางส่วนจะถูกนำไปใช้ในทางทุจริตเพื่อจำหน่ายสินค้าให้แก่รัฐวิสาหกิจไทย 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าได้หารือกับประธานบอร์ดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แล้วจะตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทุกอย่างจะดำเนินการตามกฎหมาย

นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ฐานะประธานบอร์ดกฟน. กล่าวว่า ตามระเบียบ กฟน. เมื่อมีเหตุต้องสงสัยจะมีทุจริตเกิดขึ้นก็ให้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ในฐานะประธานบอร์ดกฟน.สั่งให้ผู้ว่าฯกฟน.ตั้งกรรมการสอบแล้ว ส่วนจะเสร็จเมื่อไรตามระเบียบกฟน.ไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลา ขณะเดียวกันได้แจ้งให้นายถวิล เปลี่ยนศรี ประธานบอร์ดกฟภ. ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว

กฟน.-กฟภ.ตั้งกรรมการสอบ

นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าฯกฟน. กล่าวว่า ได้เชิญฝ่ายกฎหมายและผู้เกี่ยวข้องหารือและตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ รวมถึงคณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วย ระเบียบของ กฟน.ต้องตั้งคณะกรรมการสอบและดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วัน ยืนยันว่ากฟน.จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เร็วที่สุด ปลัดกำชับในที่ประชุมบอร์ดว่าให้ตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนและเสนอต่อประธานบอร์ดให้เร็วที่สุด เรื่องเกิดขึ้นในอดีตขณะนั้นตนและปลัดมหาดไทยยังไม่ได้รับตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับ กฟน.

นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าฯ กฟภ. กล่าวว่า ได้ประชุมคณะกรรมการ กฟภ.แล้ว ซึ่งเราให้ความสำคัญ ไม่ได้นิ่งนอนใจและยึดมั่นในความโปร่งใส พร้อมชี้แจงทุกประเด็นที่ถูกพาดพิง ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยมีรองผู้ว่า กฟภ.เป็นหัวหน้าทีม และยังมีบุคคลภายนอกจากกระทรวงยุติธรรมร่วมเป็นกรรมการ ทั้งนี้ กฟภ.จะตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เสร็จภายใน 15 วัน และนำเสนอให้สังคมทราบต่อไป

คค.สั่งการบินไทยสอบใน 30 วัน

ส่วนกรณีสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ (เอสเอฟโอ) เปิดเผยข้อมูลบริษัทโรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนให้หลายประเทศรวมถึงไทย โดยเฉพาะบริษัทการบิน ไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อขายเครื่องยนต์เครื่องบินโบอิ้ง 777 ใน 3 ช่วงเวลา ระหว่างปี 2534-2548 เป็นเงิน 1,253 ล้านบาท และจ่ายสินบนให้บริษัท ปตท. และปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) รวม 393 ล้านบาท ใน 6 โครงการระหว่างปี 2543-2556

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์กรณีโรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนให้บริษัทการบินไทยว่า สั่งให้การบินไทยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ 2 ชุด ชุดแรกตรวจสอบว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง ชุดที่สองตรวจสอบเกี่ยวกับกระบวนการ และรายงานภายใน 1 เดือน ระหว่างนี้ต้องรอข้อมูลจากทั้งสองส่วนคือจากการบินไทยที่กำลังขอข้อมูลจากบริษัทโรลส์-รอยซ์ ส่วนรัฐบาลรอข้อมูลอย่างเป็นทางการจากเอสเอฟโอ ข้อมูลที่เปิดเผยว่าจ่ายสินบน 3 รอบ ผ่านตัวแทนและเจ้าหน้าที่การบินไทยที่เกี่ยวข้องว่ามีใครบ้าง ยังไม่ได้ระบุเป็นชื่อตัวบุคคลออกมา

รมว.คมนาคมกล่าวว่า เรื่องความผิดจะเป็นเฉพาะตัวบุคคลหรือทั้งครม.นั้น ต้องตรวจสอบรายละเอียดก่อน และตอนนี้มีทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่จะตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้ดำเนินการตามขั้นตอนและเชื่อว่าทุกคนคงอยากให้เรื่องนี้ดำเนินการได้รวดเร็ว

สอบมติครม.ซื้อโบอิ้ง777 ด้วย

เมื่อถามว่าข้อมูลที่ตรวจสอบเกี่ยวโยงถึงนักการเมืองด้วย นายอาคมกล่าวว่า ต้องรอดูข้อมูลที่โรลส์-รอยซ์ ให้ไว้กับเอสเอฟโอก่อน ส่วนกระแสข่าวว่าตัวแทนบริษัทมาพบผู้แทนของการบินไทยเรียบร้อยแล้วนั้น ทางการบินไทยยังไม่ได้รายงานให้ทราบ แต่จะสอบถามถึงความชัดเจนจากกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ของการบินไทยต่อไป

เมื่อถามว่าจะนำมติครม.ปี 2547 เกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 777 มาพิจารณาหรือไม่ รมว.คมนาคมกล่าวว่า ต้องดูทั้งหมดตามที่โรลส์-รอยซ์ รายงานต่อเอสเอฟโอ เมื่อถามว่าจะตรวจสอบถึงการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา การเปลี่ยนชื่อบริษัทจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินหรือไม่ นายอาคมกล่าวว่า การบินไทยต้องตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียด

เมื่อถามว่าการจ่ายสินบนในรอบแรกเกิดขึ้นมากว่า 20 ปี เอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ รมว.คมนาคมกล่าวว่า เพื่อให้เกิดความกระจ่างต้องขอข้อมูลทั้งหมดแม้เวลาจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า สถานทูตไทยได้ประสาน งานกับป.ป.ช.อังกฤษแล้ว และทางอังกฤษพร้อมให้ความร่วมมือกับเรา ส่วนป.ป.ช.ของไทย และสตง.จะประสานกับหน่วยงานป.ป.ช.ของอังกฤษ เรื่องข้อมูลที่อังกฤษจะให้มาเพื่อให้เกิดความชัดเจนตรงกันว่าข้อมูลถูกต้อง ซึ่งต้องเป็นข้อมูลที่มากกว่าการระบุช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ ส่วนการประสานขอข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะขณะนี้ข่าวเพิ่งจะออกมา

ปปช.ตั้งกรรมการสอบ

รายงานข่าวจากป.ป.ช.แจ้งว่า นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. ลงนามในคำสั่ง สำนักงานป.ป.ช.ที่ 33/2560 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานสืบสวนและรวบรวมข้อมูลกรณีบริษัทโรลส์-รอยซ์ โดยคณะทำงานชุด ดังกล่าวมีนายสรรเสริญ เป็นประธาน นาย สาโรจน์ พึงรำพรรณ ผอ.สำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจ นายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ ผอ.สำนักการต่างประเทศ นายสุทธิ บุญมี ผอ.สำนักการข่าวและกิจการพิเศษ นายอัครกิตติ์ กีรติธนาไชยยศ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผนและการต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมี พนักงานไต่สวนชำนาญการพิเศษ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ พนักงานไต่สวนชำนาญการ เจ้าหน้าที่การต่างประเทศปฏิบัติการ นิติกรปฏิบัติการผู้ช่วยพนักงานไต่สวนปฏิบัติการ รวม 15 ราย

คำสั่งให้คณะทำงานมีหน้าที่สืบสวนและรวบรวมข้อมูล สรุปข้อเท็จจริงเสนอป.ป.ช. พิจารณา ดำเนินการตามที่ป.ป.ช.หรือเลขาธิการป.ป.ช.มอบหมาย คำสั่งดังกล่าวมีผลตั้งแต่ วันที่ 23 ม.ค. เป็นต้นไป

เตรียมหารือสหรัฐสัปดาห์หน้า

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบสินบนบริษัทโรลส์-รอยซ์ ว่า ที่ประชุมป.ป.ช.วันนี้ได้สอบถามความคืบหน้า ทราบว่าล่าสุด กรณีเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐส่งอีเมล์ตอบกลับมาแล้ว เพื่อตอบคำถามเรื่องการให้สินบนในไทย ซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศเรื่องการปราบปรามทุจริต แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากต้องรอหลักฐานเพิ่มเติมจากการบินไทย และปตท.ก่อน ขั้นตอนขณะนี้ที่ป.ป.ช.ดำเนินการคือขั้นการแสวงหาข้อเท็จจริง หากหลักฐานชัดเจนจึงจะพิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน อย่างไรก็ตาม เราเพียงสอบถามความคืบหน้าแต่ไม่เร่งรัดจนเกินไป เพราะเรื่องนี้มีรายละเอียดมากและอาจต้องใช้เวลาสักระยะดำเนินการ สัปดาห์หน้าจะหารือกับตัวแทนของกระทรวงการยุติธรรมสหรัฐเพิ่มเติมด้วย

“วัฒนา-เทือก”โต้ไม่เกี่ยวสินบน

นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ชี้แจงกระแสข่าวครม.มีมติเมื่อ 23 พ.ย. 2547 อนุมัติการจัดซื้อฝูงบิน 14 ลำ ในวงเงินลงทุน 96,355 ล้านบาทว่า ข้อเท็จจริง คือ 1.มติครม.ดังกล่าวเห็นชอบการจัดซื้อเครื่องบินจากแอร์บัสและโบอิ้งตามข้อเสนอของการบินไทย เหตุที่ต้องเข้า ครม.เพราะเป็นวงเงินสูงถึง 96,355 ล้านบาท เป็นการก่อหนี้สาธารณะจึงต้องเสนอเรื่องให้ครม.เห็นชอบ 2.ส่วนสินบนเป็นเรื่องที่การบินไทยสั่งซื้อเครื่องยนต์ไอพ่น ล็อต 3 ของโรลส์-รอยซ์ และ 3.แผนการที่จะซื้อเครื่องบินแบบไหน รุ่นอะไร จำนวนกี่ลำ และจะใช้เครื่องยนต์ของใครจึงเหมาะกับภารกิจและคุ้มค่า เป็นเรื่องทางเทคนิคที่การบินไทยพิจารณาเองมาตลอด

นายวัฒนากล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่สังคมจะช่วยกันตรวจสอบทุจริตแต่ต้องอยู่บนข้อเท็จจริงและเป็นกลาง เรื่องสินบนจ่ายรวม 3 ครั้ง เหตุที่ตนชี้แจงเพียงครั้งที่ 3 เพราะเกี่ยวข้องกับตนแค่นี้และถือเป็นมารยาทที่จะไม่พาดพิงถึงคนอื่น

ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรณีถูกพาดพิงเรื่องสินบนโรลส์-รอยซ์ ขณะดำรงตำแหน่งรมว.คมนาคม ว่า ขอให้ดูปีที่ระบุว่ามีการกระทำการติดสินบนอย่างชัดเจนก่อน ยืนยันกรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นช่วงที่ตนดำรงตำแหน่ง คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้ ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน

“ป้อม”ชี้ 66/23 คนละแบบกับวันนี้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวกรณีสปท. เสนอให้ใช้โมเดลปรองดอง 66/23 ซึ่งเคยนำมาใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลว่า เป็นเรื่องของสปท. ตนไม่ทำ ตนทำของตนอย่างนี้ เพราะจะไม่เอาเรื่องกฎหมายมาเกี่ยวข้องและจะไม่ละเมิดกฎหมาย นอกจากมันเดินไม่ได้ จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ ซึ่งคำสั่ง 66/23 เป็นเรื่องนานมาแล้ว มันมีเรื่องของผู้ก่อการร้ายแต่ครั้งนี้ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องความปรองดองของคนในชาติ และตนไม่ยึด 66/23 ผมจะทำให้คนมีความเข้าใจร่วมกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติในอนาคต และไม่ได้ยกเลิกโทษใคร ครั้งนี้มันไม่ใช้วิธีการเดียวกับกลุ่มพัฒนาชาติไทย มันคนละแบบกัน

เมื่อถามว่ามีการเสนอให้นำผลการศึกษาของคณะกรรมการปรองดองชุดต่างๆ มาปรับใช้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จะมีคณะกรรมการมาดูแลเรื่องดังกล่าว ไม่ต้องห่วง ส่วนความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองนั้น ยังไม่ได้แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ต้องรอให้ป.ย.ป. ได้ประชุมอีกครั้งก่อน และคณะกรรมการที่ตนดูแลอยู่ยังไม่ได้มีโรดแม็ปการทำงานออกมา

สปท.ร่วมยันต่างสถานการณ์

ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง รองประธานคณะอนุกมธ.พิจารณาศึกษา รวบรวมความเห็น วิเคราะห์ และสังเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง สปท. กล่าวถึงการนำนโยบาย 66/23 มาใช้สร้างความปรองดองว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ยากกว่าตอนใช้นโยบาย 66/23 สมัยพล.อ.เปรม เป็นนายกฯ เนื่องจากสมัยก่อนเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล แต่ปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับประชาชน แต่สามารถนำหลักการนโยบาย 66/23 มาใช้แก้ปัญหาได้ และที่ผ่านมารัฐบาลนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น การตั้งคณะกรรมการปรองดองชุดต่างๆ ซึ่งต้องใช้หลักรัฐศาสตร์มาร่วมแก้ปัญหาด้วย แต่รายละเอียดวิธีการจะดำเนินการอย่างไร ต้องหารือกันอีกครั้ง

เมื่อถามว่าจะมีการพูดเรื่องนิรโทษกรรมหรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า การนิรโทษกรรมต้องคุยกันภายหลัง และยังไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่มี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และปัจจัยที่นำมาวิเคราะห์ จะนำมาคุยตั้งแต่เริ่มแรกไม่ได้ เพราะการนิรโทษกรรมไม่ใช่เหตุของการสร้างปรองดอง แต่เป็นผลจากการสร้างปรองดอง ส่วนคดีความผิดมาตรา 112 และคดีทุจริต จะไม่อยู่ในเงื่อนไขการนิรโทษกรรมแน่นอน

ชี้ 3ปัจจัยสร้างโอกาสปรองดอง

“ส่วนตัวมองว่าการสร้างความปรองดองครั้งนี้มีโอกาสจะประสบความสำเร็จมากกว่าทุกครั้ง เพราะสถานการณ์การเมืองขณะนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก และมีปัจจัย 3 ประการมาสนับสนุนได้แก่ 1.การมีพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ถือเป็นกันชนที่ใช้ควบคุมสถานการณ์การชุมนุม 2.การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สามารถอุทธรณ์คดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ไม่ได้ชี้ขาดเพียงศาลเดียวเหมือนที่ผ่านมา ทำให้มีแนวโน้มที่นักการเมืองกล้าเข้ามาต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น และ 3.ถึงเวลาสถานการณ์สุกงอมที่ฝ่ายการเมืองจะมาปรองดองกันได้แล้ว เป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสม สร้างความปรองดองเพราะทุกฝ่ายดูเหมือนตกที่นั่งเดียวกัน จึงถึงเวลาแล้วที่จะหันหน้ามาพูดคุยกัน” นายนิกรกล่าว

ปชป.ชี้ไม่สอดคล้องสถานการณ์

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคณะอนุกมธ.พิจารณาศึกษา รวบรวมความเห็น วิเคราะห์ และสังเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง สปท. นำนโยบาย 66/23 สมัยพล.อ.เปรม มาใช้สร้างปรองดองว่า ต้องเข้าใจคำสั่งนายกฯ ที่ 66/2523 ก่อนว่ามีบริบทครอบคลุมแค่ไหน สถานการณ์คืออะไร ถ้าไปอ่านคำสั่งนี้อย่างละเอียดคือเป็นเรื่องของนโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ และนโยบายนี้ออกมาเพื่อให้ใช้แนวทางทางการเมืองเป็นสิ่งชี้ขาดนำงานด้านการทหาร ฉะนั้นถ้าจะให้งานปรองดองสำเร็จก็ต้องใช้งานการเมืองนำการทหาร เพราะถ้าใช้ทหารนำก็จะเป็นเรื่องการใช้อำนาจ เรื่องการออกคำสั่ง ซึ่งจะไม่เป็นกลไกที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ “การจะใช้นโยบาย 66/23 มาเป็นโมเดลสร้างปรองดองก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งที่อยากฝากไว้คือสถานการณ์ความขัดแย้งในขณะนี้กับสมัยนั้นแตกต่างกัน สมัยนั้นมีนโยบายเพื่อยุติการทำสงครามระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ครั้งนี้เป็นปัญหาระหว่างประชาชนกับประชาชน จึงมีความต่างกันอยู่ การจะเลือกใช้นโยบายก็ต้องเลือกใช้ในมิติที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย”นายองอาจกล่าว

มาร์คเรียกถก 26 ม.ค.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับหนังสือขอความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการสร้างความปรองดองจากคณะอนุกมธ.พิจารณาศึกษารวบรวมความเห็นวิเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง ในกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท.แล้ว โดยในวันที่ 26 ม.ค. เวลา 10.00 น. พรรคจะมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการในส่วนของสมาชิกพรรคที่สนใจเรื่องนี้ ก่อนส่งความเห็นเป็นเอกสารกลับไปภายในวันที่ 31 ม.ค.นี้

“ผมยังยืนยันหลักการเดิมที่เคยเสนอว่า การปรองดองต้องมองที่อนาคต ส่วนเรื่องอดีต ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป ยกเว้นคดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่มาชุมนุมแล้วทำผิดกฎหมายพิเศษที่ควรจะนิรโทษกรรม ส่วนกรณีอื่นให้กระบวนการยุติธรรมทำงานเพื่อให้ได้ข้อยุติทั้งข้อเท็จจริง และความรับผิดชอบต่อผลจากการกระทำของตัวเอง จากนั้นจะมีช่องทางอภัยโทษอย่างไรก็มีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายอยู่แล้ว” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวกรณีนายอภิสิทธิ์ นัดหารือสมาชิกพรรคถึงการแนวทางสร้างสามัคคีปรองดองของรัฐบาลว่า คณะของตนไม่ได้พูดคุยด้วยแต่จะมารับฟัง เขาคงไม่ได้ประชุมพรรคแต่ประชุมวงเล็ก ถือเป็นข้อคิดเห็นและเสนอแนะของพรรคที่อยากให้เกิดความปรองดองในอนาคต ซึ่งเขามีสิทธิเสนออยู่แล้ว และอะไรที่ทำให้เกิดความสงบสุข สันติสุข ก็ทำได้เลย จะได้เดินหน้าต่อไป

แก้ร่างรธน.15 วันเสร็จ

นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชา มติให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการได้เริ่มพิจารณาประเด็นต่างๆ ในแต่ละมาตราที่จะต้องแก้ไขแล้ว ก่อนจะพิจารณาในภาพรวมต่อไป การทำงานเรื่องนี้ไม่ยากมากแต่ต้องละเอียดรอบคอบ ซึ่งการพิจารณาแต่ละมาตรานั้นคณะกรรมการได้นำข้อสังเกตพระราชทานมาพิจารณาเทียบเคียงกันด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 15 วัน แล้วจึงส่งกลับมายังนายกฯพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

อ่างบัวทำเนียบใช้วันเดียวรั่ว

วันที่ 24 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงอ่างบัวที่ปลูกใหม่ว่า ดูเป็นตัวอย่าง อย่างหนึ่งคือความสวยงาม ส่วนที่สองคือพวกสมองไม่เปลี่ยน อยู่ข้างล่างก็เป็นอาหารของพวกเต่าปลา ผู้สื่อข่าวจึงกล่าวว่า ที่นี่มีแต่บัวพ้นน้ำทั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ หันมาตอบด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า ใช่

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวหลังประชุมครม. ถึงการนำอ่างบัวมาประดับไว้ในทำเนียบเพื่อเป็นสิริมงคลว่า อ่างบัววางไว้เพื่อความสวยงาม ตนให้นโยบายแล้วว่าจะต้องปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม เป็นที่ประทับใจของผู้มาเยือน เช่น แขกต่างประเทศ การประดับเป็นสีสันสวยงามถือเป็นเรื่องดี สิ่งที่ทำนั้นไม่ได้ก่อความเสียหาย

“ผมไม่จำเป็นต้องดูเรื่องฮวงจุ้ยแต่อยู่ที่การทำงาน วางอะไรก็แล้วแต่ถ้าทุจริตผมก็ช่วยไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าไม่ตั้งใจทำงานสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอยู่ ผมเป็นคนชอบบัวหลวงแต่บัวหลวงปลูกไม่ได้เพราะต้องเป็นน้ำลึก ส่วนที่มีการชำรุดของอ่างบัวก็ให้เขาซ่อมชดใช้ อย่าไปมองเรื่องเล็กน้อย ส่วนความล่าช้าการก่อสร้างอาคารรับรองหลังตึกไทยคู่ฟ้านั้นได้ให้ตรวจสอบแล้วว่าล่าช้าเพราะอะไร”

นายกฯ กล่าวว่า ความจริงตนไม่อยากพูดเรื่องบัว บัวถือเป็นพืชสกุลสูง นำไปไหว้พระ ถือว่าเป็นมงคล เป็นคติเตือนใจว่าทุกคนต้องพัฒนาตัวเอง อย่าทำตัวเหมือนบัวใต้น้ำเพราะจะเป็นอาหารของเต่าปูปลา และอย่าพูดว่ารัฐบาลนี้เอาแต่ของดีๆ มาฉาบฉวยเหมือนบัวพ้นน้ำ แต่เรื่องไม่ดีกลับหมกโคลนตม ตนกำลังขุดโคลนตมขึ้นมา ที่มีการฟ้องร้องกันทุกวัน อย่างวันก่อนมีเรื่องทุจริต มันโคลนตมหรือไม่ รัฐบาลพร้อมตอบทุกคำถาม ถ้าผิดก็ฟ้องมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี(สลน.) จัดซื้ออ่างบัวมาวางตกแต่งภายในทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 ม.ค. โดยจัดซื้อมาอ่างละ 5,000 บาท รวม 10 อ่าง วงเงินรวม 50,000 บาท ล่าสุดพบมีอ่างบัวอย่างน้อย 1 ใบ เกิดรอยรั่วซึม จนเจ้าหน้าที่นำอุปกรณ์ล้างจาน (สก๊อตช์ไบรต์) มาอุดรอยรั่วเอาไว้ หลังจากน้ำในอ่างรั่วไปกว่าครึ่ง ทั้งนี้ การนำอ่างบัวมาประดับโดยรอบทำเนียบ ทั้งบริเวณศาลพระภูมิ ทางขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าและสนามหญ้าหน้าตึกบัญชาการ โดยเน้นจุดที่นายกฯใช้เส้นทางเพื่อปรับภูมิทัศน์ หรือฮวงจุ้ยเพิ่มเติม โดยเป็นแนวความคิดของพล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามผู้ดูแลสวน อ้างว่ามีการตัดหญ้าบริเวณดังกล่าวทำให้เศษหินกระเด็นใส่อ่างบัวจนทำให้เป็นรู แต่จากการสังเกตไม่พบร่องรอยการตัดหญ้าและลักษณะรูรั่วไม่มีรอยร้าวแต่อย่างใด ล่าสุด แจ้งให้ส่วนที่เกี่ยวข้องซ่อมแซมโดยนำฟองน้ำมาอุดรอยรั่วแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนายกฯ เดินกลับไปยังห้องทำงานบนตึก ได้กล่าวสั้นๆทันทีที่เห็นอ่างบัวชำรุดว่าเป็นอุบัติเหตุ คนสวนตัดหญ้าไม่ทันระวัง

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะกลุ่มที่เชื่อในฮวงจุ้ยและโชคลางวิจารณ์ว่าไม่น่าจะเป็นลางดีนัก เพราะเพิ่งนำอ่างบัวมาตั้งประดับได้เพียงวันเดียวก็ชำรุดแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน