‘คสช.’ ไม่เป็น รัฐบาลรักษาการ หลังมีพรฎ.เลือกตั้ง

ไม่ใช่ รัฐบาลรักษาการ / วันที่ 23 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังมี พ.ร.ฎ. เลือกตั้งทั่วไป 2562 ว่า พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปทั่วประเทศ โดยหลังจากนี้ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นผู้ออกระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมออกประกาศ กกต. เพื่อกำหนดกิจกรรมต่างๆอย่างเป็นทางการ

ไม่ว่าจะเป็น วันเลือกตั้ง วันรับสมัครรับเลือกตั้ง สถานที่รับสมัคร ส.ส. สถานที่รับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดย กกต.จะออกประกาศเหล่านี้ทั้งหมดภายใน 5 วัน แต่เชื่อว่าจะสามารถกำหนดได้ภายใน 1-2 วันนี้

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนการทำงานของรัฐบาลชุดนี้นั้น ตามกฎหมายแล้ว รัฐบาลนี้จะไม่อยู่ในสถานะรัฐบาลรักษาการ แต่ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้ามาปฎิบัติหน้าที่ ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญในอดีต ที่กำหนดให้มีรัฐบาลรักษาการก่อนมีรัฐบาลชุดใหม่ ดังนั้น รัฐบาลนี้ จึงมีอำนาจเต็มต่อไป ส่วนจะทำเรื่องใดมากหรือน้อยนั้น ก็อยู่ที่ความเหมาะสม

นายวิษณุ กล่าวว่า ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า รัฐบาลจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ โดยจะพิจารณาเรื่องต่างๆตามความเหมาะสม เพราะปัญหาของบ้านเมืองจะแก้ไขด้วยการหยุดทำงานหรือใส่เกียร์ว่างไม่ได้

กฎหมายก็ไม่มีข้อห้ามใดๆในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้น รัฐบาลสามารถดำเนินโครงการต่างๆ หรืออนุมัติงบประมาณ แต่งตั้งโยกย้ายได้ตามปกติ ส่วนความเหมาะสมนั้น จะได้พิจารณาเป็นเรื่องๆไป

อำนาจเต็ม ม.44 ยังอยู่

ด้านเพจ iLaw ได้อธิบาย เรื่อง ทำไมรัฐบาลคสช. ถึงไม่ยอมเป็น “รัฐบาลรักษาการ” ระบุว่า หลัง พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีว่า การเลือกตั้งได้เริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ แต่คำถามสำคัญคือ บทบาทของแกนนำพรรคพลังประชารัฐที่ประกอบไปด้วย 4 รัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นอย่างไร

เนื่องจาก หากเป็นการเลือกตั้งปกติที่เกิดจากสภาผู้แทนฯ หมดวาระ หรือ มีการยุบสภา รัฐบาลที่ทำหน้าที่ระหว่างมีการจัดการเลือกตั้งต้องอยู่ในสถานะ ‘รัฐบาลรักษาการ’ เพื่อไม่ให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาลกับพรรคการเมืองอื่นๆ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

รัฐบาลรักษาการต้องถูกจำกัดอำนาจ เช่น ห้ามการแต่งตั้งโยกย้ายและถอดถอนบุคลากรของรัฐ ห้ามการใช้จ่ายงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ห้ามก่อภาระผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป และห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐให้เกิดผลในการเลือกตั้ง โดยบางเรื่องสามารถกระทำได้หากเป็นไปตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

แต่ทว่า รัฐบาลคสช. ไม่ยอมที่จะวางตัวในลักษณะนั้น โดยอ้างว่า คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันถือว่าเป็นรัฐบาลเต็มรูปแบบ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ยังพร้อมจะใช้ ‘มาตรา 44’ ได้ตลอดเวลา พร้อมอ้างว่าเป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มอบไว้ให้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน