วันที่ 9 ก.พ. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้เรียกประชุมคณะอนุกรรมการ ทั้ง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อความปรองดอง 2.คณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีพล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานอนุกรรมการ 3.อนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน และ 4.คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน นอกจากนี้ยังมี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผน เป็นเลขานุการ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อความ สามัคคี ปรองดอง นอกจากนี้ยังเป็นคณะกรรมการของอณุกรรมการอีก 2 คณะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เกี่ยวข้อง ทยอยเดินทางประกอบด้วย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.สุรพงษ์สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่างผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายปณิธาน วัฒนายากร ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พล.อ.บุญสร้างเนียมประดิษฐ์ สมาชิก สนช. นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตลอดจนถึงผู้แทน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หาผู้แทนส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันอังคารที่ 14 ก.พ.เวลา 09.00 น.ที่กระทรวงกลาโหม ทางคณะอนุกรรมการ รับฟังความคิดเห็น เพื่อความปรองดองสมานฉันท์โดยมี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานจะเชิญพรรคการเมือง หมวดอักษร ก.ไก่ เข้าเสนอความคิดเห็น

จากนั้นเวลา 11.00 น. พล.อ.ประวิตร แถลงผลการประชุมว่า การประชุมในวันนี้เรียบร้อยดี ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ การปรองดองต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงประชาชน ทุกคนต้องมีส่วนร่วม และการดำเนินการของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ไม่ใช่เพียงคณะเดียว ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือ โดยการทำงานจะดำเนินการควบคู่กันไปตั้งแต่ระดับบน คือ เชิญพรรคการเมือง ภาคธุรกิจ จนถึงระดับล่าง จะมอบหาให้แม่ทัพภาค ผู้บัญชาการตำรวจ และผู้ว่าราชการจังหวัดรับฟังข้อคิดเห็น และจะทำคู่ขนานไปกับคณะใหญ่

เมื่อถามว่าวางกรอบการทำงานอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรามีการตั้งกรอบไว้ ในการรับฟังความคิดเห็นประมาณ 3 เดือน จนถึงเดือนเมษายน เมื่อได้ความคิดเห็นแล้ว จะส่งไปคณะกรรมการชุดที่ 2 เพื่อจับประเด็น วิเคราะห์บูรณาการ ส่งต่อไปคณะที่ 3 บูรณาการ ทั้งหมดส่วนเหตุผลที่ให้ ผบ.เหล่าทัพ เข้ามาเป็นอนุกรรมการนั้น เนื่องจากมีความเหมาะสม เพราะเป็นผู้ใหญ่และเป็นผู้นำหน่วย มีทั้งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผบทบ. ทั้งนี้ตนไม่มีความเป็นห่วงในกรณีที่จะเชิญพรรคการเมืองมาแสดงความคิดเห็น เนื่องจากการเสนอความคิดเห็นต่างๆต้องอยู่ในกรอบ ที่กำหนดไว้ ว่าควรจะพูดในเรื่องใดบ้าง ใน 10 ข้อ ซึ่งใน 10 หัวข้อนี้จะนำเสนอไปทุกๆฝ่ายที่จะเชิญมาแสดงความคิดเห็น

“ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเชิญนักการเมืองเพราะเป็นเพียงการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองครั้งแรก เพื่อมาตกลงกันว่า ที่วางกรอบเอาไว้ และที่อยู่ในคณะกรรมการทั้งหมดมีความคิดเห็นอย่างไร หรือมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อรับฟังเพื่อจะไปสู่การออกคำสั่งต่อไป ส่วนจะเชิญพรรคการเมืองในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันวาเลนไทน์ นี้นั้น จะเรียงตามลำดับ ว่าจะเชิญใครก่อนหลัง ก็ว่ากันไป” พล.อ.ประวิตรกล่าว

พล.อ.ประวิตร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องเสนอความคิดเห็นที่อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ไม่ควรเสนอนอกกรอบรัฐธรรมนูญ เพราะจะไม่เกิดความปรองดองในอนาคต หรือเสนอขัดกับรัฐธรรมนูญ หรือผิดกฎหมาย ก็ไม่รู้จะเสนอทำไม ไม่ใช่เสนอกันเลยเถิด ส่วนการนำไปสู่การปฏิบัตินั้นอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายซึ่งจะเป็นสัญญาประชาคมร่วมกันว่าเราจะยึดมั่นในสัญญาประชาคมนี้ เพราะทุกคนมาร่วมกันหมด และทุกคนก็จะต้องยึดตาม สัตยาบัน ที่เป็น สัญญาประชาคมที่ทำไว้ สัญญาประชาคมนี้ จะลงนามถึงไม่ลงนามก็ได้ เพียงแต่ขอให้ได้ข้อสรุปในการเดินหน้าปรองดองร่วมกัน เพื่อให้ประเทศมีความสงบ และอยู่อย่างสันติ ในอนาคตเพื่อให้เกิดความชัดเจน ส่วนกรณีหากไม่มีการลงนามในสัญญาประชาคมจะทำให้บางกลุ่มบางฝ่ายไม่ทำตามนั้น ประชาชนรับรู้อยู่แล้ว ว่าตกลงกันไว้อย่างไร และใครที่ทำนอกเหนือจากสัญญาประชาคม ถือเป็นเรื่องของประชาชน ที่ต้องไปตัดสิน

เมื่อถามว่าส่วนตัว คาดหวังร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องส่วนรวมทั้งหมดเฉพาะตนคนเดียวทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม

เมื่อถามว่า การทำสัญญาประชาคมจะมีข้อตกลงห้ามทหารทำรัฐประหารหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับทหาร ทหารไม่ทำรัฐประหาร ไม่จำเป็นต้องทำสัญญาประชาคม หากทหารทำรัฐประหารก็ต้องถูกยิงเป้า หากประชาชนไม่เอาด้วย ยกเว้นประชาชนเรียกร้อง ยืนยันว่าทหารไม่อยากทำ จะทำไปเพื่ออะไร ให้ไปถามนายกรัฐมนตรีที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา ไม่เคยได้หลับได้นอนมา 2 ปีกว่าแล้ว ให้ไปดูรูปของนายกฯ ก่อนทํารัฐประหารกับหลังทำรัฐประหาร มีความแตกต่างกันอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน