เสวนาวิชาการ ‘ก้าวสู่ปีที่ห้า สภาแต่งตั้ง ประชาชนได้อะไร’

อย่าลืมทวงความไม่ชอบธรรมจาก สนช. เมื่อเสียงปืนเงียบลง

สนช. / วันที่ 7 ก.พ. ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายและประชาชน iLaw และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “ก้าวสู่ปีที่ห้า สภาแต่งตั้ง” ประชาชนได้อะไร?”

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังการรัฐประหารเกิดขึ้น เราอยู่ในสังคมที่ไม่ปกติ แต่ถูกทำให้เหมือนว่าปกติ ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ เรามีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นสภาแต่งตั้งไม่มีความยึดโยงประชาชน ซึ่งหลักการพื้นฐานของตัวแทนที่เข้าไปออกกฎหมายจะต้องสัมพันธ์กับประชาชน

การเลือกตั้งจึงสำคัญทำให้มีตัวแทนที่หลากหลาย และความเห็นแย้งในองค์กรนิติบัญญัติถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อไหร่ที่ไม่เห็นแย้งถือว่าผิดปกติ ทั้งนี้ ที่มาของสนช. ลักษณะของกฎหมายที่เขียน และลักษณะการทำงาน องค์ประกอบ 3 อย่างนี้จะทำให้รู้ว่าสนช.คืออะไร ตนคิดว่าสนช.ชุดนี้ เป็นที่รวมของตัวแทนรัฐราชการรวมศูนย์คร่ำครึ อยู่ในโลกที่โบราณมาก จึงไม่แปลกใจกฎหมายที่ถูกเสนอเข้าสภา

ความเห็นทั้งหมดจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะคนกลุ่มนี้มีมุมมองต่อสังคม ต่อความก้าวหน้าในแบบเดียวกัน เพราะมาจากกลุ่มคนแคบๆ ส่วนลักษณะของกฎหมายที่เขียน ตนคิดว่าเน้นการขยายอำนาจรัฐ หนุนธุรกิจอุตสาหกรรม และจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน นอกจากทำหน้าที่ออกกฎหมายแล้วยังเอื้อประโยชน์แก่เครือข่ายที่เป็นพรรคพวกของคณะรัฐประหารอีกด้วย

สังคมไทยในตอนนี้มีภาวะอำนาจนิติบัญญัตินอกระบบ ในเมืองไทยหลังรัฐประหารมีการตั้งองค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งผมขอเรียกว่าองค์กรเถื่อน ที่ผ่านมาไม่เคยมีองค์กรนิติบัญญัติประเภทนี้ทำงานอย่างขยันขันแข็งอยู่นานขนาดนี้

“สนช.ชุดนี้ทำงานยาวนาน และมีผลงานออกมาจำนวนมาก ซึ่งผมเรียกว่าเป็นภาวะไม่ปกติ มีผลประโยชน์ทับซ้อน รับเงินเดือนสองทาง สนช.ต้องพึงสำนึกว่าตัวเองว่าไม่มีความชอบธรรม จึงควรหยุดการทำงานได้แล้ว เพราะไม่มีความชอบธรรมใดๆแล้ว”

นายสมชาย กล่าวต่อว่า หลังการเลือกตั้งเรื่องการแก้กฎหมายเป็นประเด็นที่ต้องพูดถึง เมื่อเสียงปืนเงียบลง เราควรผลักทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการปกติได้หรือไม่ กฎหมายที่ผ่านไปควรถูกปฏิเสธแบบเหมาเข่งไม่ใช่แก้ทีละฉบับ ส่วนฉบับไหนที่ดีก็พิจารณาว่าจะใช้ต่อหรือไม่

นอกจากนี้ หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและมีรัฐบาลปกติ บรรดาคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องเป็นเครือข่าย และได้รับผลประโยชน์ ควรต้องถูกทวงคืนทรัพย์สินของประชาชนที่สนช.ได้ไปโดยมิชอบ หลังการเลือกตั้งเราต้องไม่ปล่อยให้คนพวกนี้หลับสบาย

‘สภาทหาร’ คิดแบบอนุรักษ์นิยม

น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ลักษณะกระบวนการทำงานของสนช. ขึ้นชื่อว่าสภาแต่งตั้ง แน่นอนว่าต้องช่วยผลักดันงานของคสช. และส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีงานประจำทำอยู่แล้ว จึงมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจนตั้งแต่ต้น หากป้องกันไม่ให้สังคมครหาก็ลาออกจากงานประจำก่อน เพื่อแสดงสปิริตเรื่องธรรมาภิบาลพื้นฐาน

แต่ปรากฎว่าสิ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้น ผลประโยชน์ทับซ้อนจึงดำรงอยู่ผ่านกฎหมายหลายฉบับ นอกจากผลประโยชน์ทับซ้อนแล้วยังไม่มีวินัยในการทำงาน หลายคนขาดประชุม แต่ไม่ต้องขาดสมาชิกภาพเพียงแค่ยื่นใบลา ซึ่งสภาแต่งตั้งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง

นายณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่ iLaw กล่าวว่า ตลอด 5 ปีทผ่านมา เราเรียกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เต็มปากว่า “สภาทหาร” เพราะร้อยละ 58 ของสมาชิกสนช.เป็นทหาร รองลงมาเป็นข้าราชการ และภาคธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นสภาที่มีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก ค่าเฉลี่ยอายุของสมาชิกสนช. คือ 60-64 ปี

สิ่งที่น่าสนใจ คือ หากเราเชื่อการจัดประเภทของชีวิตคนในแต่ละรุ่น คนอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม กฎหมายที่ออกมาก็มีความคิดที่เป็นอนุรักษ์นิยม ไม่เข้าใจสิทธิ เสรีภาพ สะท้อนการเป็นสภาราชการ นอกจากนี้ การออกกฎหมายในยุคนี้ไม่ต่างจากโรงงานอุตสาหกรรม เพราะเกือบ 5 ปี สนช.ออกกฎหมายมากถึง 380 ฉบับ

แอดไลน์ข่าวสด ไม่พลาดทุกข่าวสารเพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน