พรรคประชาชาติ สงสัยทำไมรัฐไม่เลิกนำเข้าเคมีพิษ ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ชูตั้ง‘ธนาคารอาหารสุขภาพ’

พรรคประชาชาติ ร่วมค้านพ.ร.บ.ข้าว- พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ข้าว ที่สนช.เสนอและเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้ โดยระบุ เคมีพิษ ทำไมรัฐเห็นชีวิตของประชาชน สำคัญน้อยกว่าบริษัทนำเข้าสารเคมี

กรณีรัฐยังคงอนุญาตให้สามารถนำสารเคมี 3 ชนิด ทั้งที่ตามความเห็นทางการแพทย์เห็นชอบกับการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่

1.พาราควอต ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคพาร์กินสัน

2.คลอร์ไพริฟอต ที่ทำให้เกิดความผิดปกติด้านการพัฒนาการสมองเด็ก มีไอคิวลดลง และสมาธิสั้น

3.ไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

เหตุที่รัฐไม่ยกเลิกการนำเข้าโดยอาศัยมติของคณะกรรมการเฉพาะกิจและคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าไม่ห้ามสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เนื่องจากข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพยังไม่เพียงพอ ทำให้เกิดข้อสงสัยบริษัทนำเข้าเคมีที่มีผลต่อสุขภาพชีวิตของประชาชนและเกิดหายนะต่อสิ่งแวดล้อม มีอิทธิพลทำให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาอนุญาตต่อไปอีก

สำหรับพรรคประชาชาติ ได้เห็นถึงต้นเหตุเกิดจากระบบกฎหมายของประเทศไทย ที่บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบการอนุญาต หรืออนุมัติให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ เช่น กรณีเคมีพิษทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว พรรคจึงมีนโยบายด้านกฎหมายและการขจัด ป้องกัน การทุจริตต่อหน้าที่ โดยผลักดันให้ยกเลิกระบบที่ให้อำนาจคณะกรรมการในการใช้ดุลยพินิจ พิจารณาอนุญาต อนุมัติ หรือสั่งการ ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของความไม่เป็นธรรม และเป็นช่องทางในการทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งในการวินิจฉัยหากมีคู่กรณีควรส่งให้ฝ่ายตุลาการเป็นผู้พิจารณา หรือมีคำพิพากษาแทน จึงจะมีความถูกต้องและเป็นธรรมมากกว่า

คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายต่างๆ ของประเทศไทย มีจำนวนมากกว่า 1,000 คณะกรรมการ จนทำให้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่นในสังคมฝังรากลึก เพราะต้องมีต้นทุนทางกฎหมายในการขออนุญาตหรืออนุมัติ ที่มีผู้คาดการว่ามากกว่า 15% ดังนั้น พรรคประชาชาติจึงมีนโยบายหลัก ผลักดันให้มีการยกเลิกและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ไม่จำเป็น ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพของประชาชน เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

พรรคประชาชาติได้เห็นอันตรายอันเกิดจากสารเคมีเป็นพิษ และเป็นห่วงสุขภาพของประชาชน จึงได้มีนโยบายให้มีการจัดตั้ง “ธนาคารอาหารสุขภาพ” ประจำตำบลหรือชุมชน เนื่องจากสารพิษปนเปื้อนในอาหารเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งของความเจ็บป่วยในปัจจุบัน

ในด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและความยุติธรรม ส่วนตัวมีข้อกังวลและห่วงใยเกี่ยวกับการบัญญัติและการบังคับใช้ กล่าวคือ ความชั่วร้ายจะเพิ่มพูนเป็นทับทวี ถ้ากฎหมายได้รับการบัญญัติด้วยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่รับใช้ผู้มีอำนาจ ขาดความรู้ ไม่ปราดเปรื่อง ด้วยถ้อยคำภาษาที่แปลกหูแปลกตา ส่งผลให้อำนาจในการตีความและบังคับใช้จะไปตกอยู่ในอุ้งมือของคนกลุ่มน้อย

ถือเป็นอาชญากรทางกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และทำให้กฎหมายที่มีความศักดิ์สิทธิ์กลับกลายเป็นสมบัติส่วนบุคคลของคนบางกลุ่ม

อ่านข่าว: “รมว.เกษตรฯ” แจง ร่างพ.ร.บ.ข้าว ‘สนช.’ เสนอเอง รัฐบาลไม่เกี่ยว ยัน ฟังเสียงปชช.

อ่านข่าว: ชาวนาขอนแก่น แถลงค้าน พ.ร.บ.ข้าวฯ ยันปิดกั้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน