บิ๊กตู่จวกโฆษกรัฐบาล “ชี้แจงอะไรไม่ได้เรื่อง ไม่เข้าใจอะไรสักอย่าง” เพื่อไทยได้คิว 8 มี.ค. เตรียม 6 ข้อเสนอเข้าถกปรองดอง ภูมิธรรมเผยจะแสดงจุดยืนต่อสังคมก่อน ชี้หากหวังคลี่คลายรัฐบาลต้องจริงใจ ยอมรับเห็นต่างแล้วหาทางออกอย่างสันติวิธี สปท.แจงปรับ”กม.คุมสื่อ” ยอมลดปลัดลง 2 เก้าอี้ ให้องค์กรอิสระนั่งแทน “จ่านิว”ขึ้นศาลทหาร 5 ชาติตามสังเกต

บิ๊กตู่เผย”ปยป.”เกือบครบแล้ว

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)กล่าวว่า ได้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วตามกำหนดเวลา สำหรับประเด็นแก้ไขก็เป็นไปตามที่ได้ให้ข่าวไปแล้ว และขั้นตอนต่อไปจะเป็นเรื่อง การโปรดเกล้าฯ พระราชทานลงมา ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักของประเทศ แต่สิ่งที่ทุกคนจะต้องเผชิญคือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก สิ่งสำคัญที่สุดคือการปฏิบัติ กฎหมายเขียนไว้กว้างๆ เท่านั้น และสิ่งที่แก้ไขครั้งนี้ก็เป็นไปตามพระราชปรารภ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพวกเรา

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง(ป.ย.ป.) พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าอยู่ระหว่างการประสานและติดต่อเข้ามา เกือบครบแล้ว ซึ่งก็เชิญมาพูดคุยหารือกันตลอด ไม่จำเป็นต้องรอว่าเมื่อไรจะแต่งตั้ง ซึ่งคำถามแบบนี้ไม่ต้องมาถามรัฐบาลนี้

จวก”โฆษกรบ.”แจงไม่ได้เรื่อง

“วิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าการชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่ หรือเรื่องวัดพระธรรมกาย จะกระทบกับรัฐบาลหรือไม่นั้น ขอถามว่าพวกคุณเชื่อผมหรือไม่ หรือคุณไม่เชื่อผม ถ้าไม่เชื่อผม ก็ไปเชื่อรัฐบาลหน้า ผมทำได้แค่นี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการให้สัมภาษณ์กว่า 30 นาที พล.อ.ประยุทธ์มีอารมณ์หงุดหงิดตลอดเวลา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย และความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่ โดยช่วงหนึ่งได้พูดถึงการทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลของพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โดยระบุว่า “แสดงว่าไม่ได้เรื่อง โฆษกรัฐบาล ผมพูดเองดีกว่าแบบนี้ ชี้แจงอะไรไม่ได้เรื่อง ไม่เข้าใจอะไรสักอย่าง”

เตรียมใช้ ม.44 แก้ปัญหาอีกอื้อ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการประชุมครม.ว่า เตรียมจะออกคำสั่งมาตรา 44 ในการควบคุมการลงทุนที่มีมูลค่าสูง เพื่อป้องกันปัญหาทุจริตและให้สินบนใต้โต๊ะ เช่นเดียวกับข้อกังวลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่ ที่กำหนดพิกัดภาษีสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ต่างกัน โดยสุรากำหนดพิกัดภาษีอยู่ที่ 1 พันบาท ต่ำกว่าพิกัดภาษีเครื่องดื่มจำพวกไวน์ หรือเบียร์ ซึ่งอยู่ที่ 3,000 บาทหรือ 3 เท่าตัว อาจกระทบต่อราคาสินค้า เหล้าราคาเท่าเบียร์ ซึ่งขัดกับข้อเสนอของ ทีดีอาร์ไอที่ระบุว่าทั่วโลกเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามปริมาณดีกรี อาจเป็นช่องว่าง เจ้าหน้าที่รัฐไปเรียกรับผลประโยชน์จากส่วนต่างที่เกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าในเรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งนี้ มอบให้กระทรวงการคลังชี้แจงในประเด็นนี้อีกครั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการประชุมคสช.เช้าวันนี้ว่า หารือ 2 เรื่อง คือการสอบคัดเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ให้เกิดความเป็นธรรม และการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยริมคลองลาดพร้าว การสร้างที่พักให้คนที่อยู่ริมคลองที่มีความทรุดโทรม สร้างแฟลตหรืออพาร์ตเมนต์ให้ได้ มีรัฐบาลไหนทำบ้าง แก้ปัญหาริมคลองได้หรือไม่ น้ำเน่าเสีย ทำให้อย่างนี้แล้วยังบ่นอีก ว่ากันทุกเรื่อง

บี้กระทรวงเช็กปัญหาคาราคาซัง

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ที่ประชุมคสช.มีมติเห็นชอบให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาใน 2 เรื่อง คือการปฏิรูปการขับเคลื่อนการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้มีคณะกรรมการกลาง 17 คน ทำหน้าที่ออกข้อสอบ เป็นข้อสอบเดียวและให้สอบพร้อมกัน เพื่อแก้ปัญหาครบวงจร ทั้งทุจริต มาตรฐานข้อสอบ และป้องกันการสูญเสียงบประมาณ นอกจากนี้ จะใช้คำสั่งมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ลำคลองสาธารณะคลองลาดพร้าว คลองสอง คลองเปรมประชากร ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่รัฐบาลเคยแก้ปัญหากรณีในพื้นที่จ.ปทุมธานี หรือปทุมธานีโมเดลมาแล้ว

พล.ท.สรรเสริญกล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในที่ประชุมครม. ถึงข้อสังเกตของหลายคนที่มองว่าทำไมวันนี้จึงเกิดปัญหาต่างๆ เข้ามามาก อาทิ เรื่องโรงไฟฟ้า คดีทุจริต เรื่องวัดพระธรรมกาย โดยระบุว่าถ้าคิดในมุมลบก็เป็นมุมลบ แต่ถ้าคิดในมุมบวกก็จะคิดอีกอย่างหนึ่ง ว่าที่ผ่านมาเรามีปัญหาแบบนี้สะสมมานาน จากที่รัฐบาลในอดีตละเลยและเพิกเฉย วันนี้รัฐบาล คสช.เร่งรัดทุกเรื่องทุกกระบวนการ ซึ่งก็มีผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ เรื่องต่างๆ จึงประดังเข้ามาเยอะในเวลานี้ แม้จะมีเสียงคัดค้านในบางเรื่องก็ต้องฟังเขา เพราะคือความห่วงใยที่มีต่อประเทศ เมื่อฟังเขาแล้วข้อมูลไม่ตรงกัน ต่างคนก็ต้องเปิดใจรับฟังข้อมูล

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า นอกจากนี้ นายกฯ ให้ไปดูปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนมาและคาราคาซังมานาน 10-20 ปี ให้รัฐมนตรีไปไล่บี้ข้าราชการในแต่ละกระทรวง เพราะอาจไม่รู้ว่ามีปัญหาใดที่ประชาชนร้องเรียนแล้วค้างคาอยู่นาน ให้นำมาแก้ปัญหาให้ได้ โดยเมื่อรัฐบาลนี้ตรวจสอบพบว่าปัญหาเกิดจากอะไร ก็ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาเหล่านี้ไปได้หมดแล้ว

ผบ.ทบ.ชี้ปรองดองสำเร็จไปครึ่ง

ที่กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ถึงกลุ่มบุคคลที่ทำความผิดในไทยแล้วหลบซ่อนอยู่ในลาว ว่า มีการหารือในเรื่องนี้ และได้พูดคุยในทุกระดับ ขอความร่วมมือและแสดงความกังวล ซึ่งทางลาวก็รับไปพิจารณา ส่วนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ในกรอบของตนไม่ได้ลงรายละเอียด แต่ในส่วนของหน่วยงานความมั่นคงมีคณะไปดำเนินการเรื่องนี้โดยตรงอยู่แล้ว และมีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้เป็นขั้นตอนตลอดเวลา

พล.อ.เฉลิมชัย ยังกล่าวถึงการหารือสร้างความปรองดองว่า การปรองดองขณะนี้สำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว ถ้าตั้งคณะกรรมการปรองดองแล้วและไม่มีใครเข้าร่วมเลย นั่นคือความล้มเหลว แต่ขณะนี้ทุกคนทุกกลุ่มอยากเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นตรงนี้คือความสำเร็จครึ่งหนึ่งแล้ว สวนที่เหลือคือทำต่อให้จบ สำหรับการเปิดกว้างให้กลุ่มที่ยังมีข้อสงสัยเข้ามาหารือกันอีกในขั้นตอนที่ 3 คือขั้นจัดทำข้อเสนอกระบวนการ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งกำลังการคิดกันอยู่ แต่ยังไม่ตกผลึกว่าจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ขอดูข้อเสนอของทุกกลุ่มทุกฝ่ายก่อน แต่เมื่อข้อเสนอเสร็จแล้ว เราจะมาดูความต้องการ บางอย่างอาจต้องคุยกับนอกรอบเพื่อเคลียร์กันก่อนจะมาอยู่ร่วมกัน จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ต้องถอยกันคนละก้าว เพื่อให้เราเดินไปข้างหน้า ดีกว่าจะมานั่งพูดคุยในสิ่งย้อนหลัง ก็ไม่มีวันจบ

อนุฯขอสรุปผลคุย 7 วันก่อน

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เชิญพรรคการเมืองขนาดเล็ก 3 พรรค ร่วมเสนอความเห็นปรองดอง 10 ประเด็น คือ พรรคปฏิรูปไทย พรรคพลังคนกีฬา และพรรคเพื่อชีวิตใหม่ เข้าให้ข้อคิดเห็น โดยในวันที่ 22 ก.พ. จะไม่เชิญพรรคร่วมให้ข้อเสนอแนะ เนื่องจากคณะอนุกรรมการฯ จะรวบรวมข้อมูลจากพรรคต่างๆ ที่ร่วมเสนอความเห็นไว้ ตั้งแต่วันที่ 14-21 ก.พ. มาจัดทำข้อสรุปเบื้องต้นก่อน จากนั้นวันที่ 23 ก.พ. คณะอนุกรรมการฯ จะเชิญ 3 พรรค เข้าหารือต่อเนื่องคือ พรรคกสิกรไทย พรรคเพื่อประชาชน และพรรคเพื่อฟ้าดิน ส่วนวันที่ 24 ก.พ. จะเชิญอีก 3 พรรค เข้าร่วมหารือ คือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรครักท้องถิ่นไทย และพรรคไทยรักธรรม

พท.ขอแสดงจุดยืนก่อนคุย 8 มี.ค.

วันเดียวกัน ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคเพื่อไทยได้หารือเป็นการภายในถึงการส่งตัวแทนพรรคเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะการสร้างดวามสามัคคีปรองดองต่อคณะอนุกรรมการรับความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มีพล.อ.ชัยชาญเป็นประธาน ในวันที่ 8 มี.ค. เวลา 09.00-12.00 น.

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค แถลงข้อหารือเบื้องต้นในการส่งคนเข้าร่วมเวทีปรองดอง โดยนายภูมิธรรมกล่าวว่าพรรคได้ประสานกับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อเข้าร่วมพูดคุยและเสนอแนะแนวทางปรองดองในวันที่ 8 มี.ค. เวลา 09.00-12.00 น. ซึ่งบุคคลที่จะเข้าร่วม ประกอบด้วยคนที่พรรคแต่งตั้งขึ้นมาดูแลเรื่องปรองดอง คณะกรรมการบริหารพรรคและที่ปรึกษา อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้าพรรค นายโภคิน พลกุล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรมว.ยุติธรรม นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ รวมทั้งนายชูศักดิ์และตน ส่วนของวันและตัวบุคคลอาจมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากบางส่วนอาจติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ หากมีความชัดเจนจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ก่อนที่พรรคจะไปพูดคุย เราจะแสดงจุดยืนและเสนอทางออกจากวิกฤตของปัญหาโดยจะจัดทำเป็นเอกสารชี้แจงต่อสังคม ทั้งนี้ มองว่าการระดมทุกฝ่ายมาพูดคุยจะเป็นประโยชน์ในการหาทางออกวิกฤตให้ประเทศ หากจะให้ปัญหาคลี่คลายขอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจ และต้องชัดเจนว่าจะเข้าสู่บรรยากาศปรองดอง และควรยอมรับความเห็นต่างในการหาทางออกความขัดแย้งอย่างสันติวิธี ไม่ใช่เปิดเวทีปรองดอง แต่สังคมยังมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่ และจากนี้จะหารือในหมู่ผู้บริหารพรรค เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง

เมื่อถามว่าจะเชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ รวมทั้งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนหารือวงปรองดองด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่าจะขอหารือและประสานไปอีกครั้ง

ชูศักดิ์เผย 6 ข้อเสนอในเวที

ด้านนายชูศักดิ์กล่าวถึงคำถาม 10 ข้อที่จะหารือในวงปรองดองว่า หลายคำถามเป็นคำถามปฏิรูป รวมถึงเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งตอบได้ยาก เพราะเราไม่เห็นด้วยกับเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ยาวนานเกินไป แต่คำถามเกี่ยวกับการปรองดองมีเพียง 3 คำถาม ส่วนเงื่อนไขสำคัญที่จะไปแสดงความเห็นในเวทีปรองดอง 1.ต้องมีหลักความเป็น กลาง 2.มีอิสระ คณะทำงานที่มาพูดคุยมีอิสระในการแสดงความเห็นหรือไม่ 3.ความสามัคคีปรองดองจะเกิดได้ต้องค้นหาความจริงและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ต้องหาความจริงของเหตุความขัดแย้งทั้งหมด และตีแผ่ให้สังคมรับทราบ

นายชูศักดิ์กล่าวว่า 4.ความสามัคคีปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ต้องไม่มีการสร้างข้อจำกัด หรือตั้งเงื่อนไขพูดคุย หากมีข้อจำกัดแต่แรก เช่น ห้ามพูดเรื่องนิรโทษกรรม จะไม่ใช่หลักสำคัญของการสร้างความสามัคคีปรองดอง 5.ความสามัคคีปรองดองนั้น จุดสำคัญคือต้องไม่สร้างปัญหาขัดแย้งให้เกิดขึ้นใหม่ 6.ผลสรุปของแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดอง ควรเป็นความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย มิใช่เกิดจากการออกคำสั่งหรือตรากฎหมายขึ้นบังคับ ซึ่งความเห็นนี้คงจะนำเสนอในเวทีพูดคุยต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใช้เวลาว่างเดินเลือกซื้ออาหารเพื่อสุขภาพ และหนังสือที่ร้านหนังสือ เพื่อฝากให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พี่ชายที่อยู่ต่างประเทศ ด้วยความคิดถึง โดยมีพี่สาวเป็นผู้ช่วยสรรหาสิ่งที่พี่ชายชอบ

กมธ.แจงลดตัวแทนรัฐคุมสื่อ

ที่รัฐสภา พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)แถลงว่า กมธ.ได้ข้อสรุปการทบทวนร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยปรับปรุงเนื้อหาที่หลายฝ่ายเป็นห่วง โดยเฉพาะโครงสร้างกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 13 คน จากเดิมประกอบด้วยตัวแทนสื่อ 5 คน ตัวแทนภาครัฐ 4 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน ปรับเป็น ตัวแทนสื่อ 5 คน ตัวแทนภาครัฐ 2 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดสำนักนายกฯ ตัวแทนองค์กรอิสระ 2 คน ได้แก่ ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างละ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน โดยลดโควตาภาครัฐเหลือ 2 คน แล้วใส่ให้องค์กรอิสระ 2 คน

“ยืนยันว่ายังจำเป็นต้องมีตัวแทนภาครัฐ เพราะภาครัฐกับภาคเอกชนต้องเดินไปด้วยกัน การไม่ให้มีตัวแทนภาครัฐอยู่ในโครงสร้างเลยคงเป็นไปไม่ได้ ตัวแทนภาครัฐที่เหลืออยู่ 2 คนก็ไม่สามารถแทรกแซงสภาวิชาชีพสื่อในทางบริหารได้ เพราะการลงมติต้องใช้การโหวต คนที่เหลืออีก 11 คนคงไม่คล้อยตามเสียงข้างน้อยจากภาครัฐได้” พล.อ.อ.คณิตกล่าว

ส่อบังคับใช้ยันสื่อออนไลน์

พล.อ.อ.คณิตกล่าวว่า กมธ.ยังเห็นด้วยให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติคงอำนาจการออกและเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยหลังจากร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ ที่ออกโดยสภาวิชาชีพสื่อฯ ที่จะกำหนดกฎเกณฑ์การออกใบอนุญาต ซึ่งคำจำกัดความของวิชาชีพสื่อ จะหมายถึงผู้ที่นำข้อมูลสาธารณะไปเผยแพร่และมีผลประโยชน์ รายได้ประจำจากการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงสื่อออนไลน์ด้วย เช่น เฟซไลฟ์ที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจก็ถือว่าเข้าข่ายด้วยเช่นกัน

ด้านพล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธาน กมธ.ด้านการสื่อสารมวลชนกล่าวว่า ในวันที่ 27 ก.พ. กมธ.จะประชุมนัดสุดท้าย เพื่อแก้ไขถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ และสรุปเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมวิปสปท.ในต้นเดือนมี.ค. และเข้าสู่ที่ประชุมสปท.ต่อไป

วิปสนช.ห่วงม.77ในรธน.

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) แถลงภายหลังการ ประชุมวิปสนช.ว่า ที่ประชุมเป็นห่วงการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกมธ.วิสามัญคณะต่างๆ และ ร่างกฎหมายที่จะเข้าสู่การพิจารณาในอนาคตว่า ภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติประกาศใช้ การออกกฎหมายใดๆ จะต้องคำนึงถึงมาตรา 77 วรรคสอง ที่กำหนดให้การตรากฎหมายทุกฉบับรัฐพึ่งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นใช้กฎหมายอย่างรอบด้าน และเปิดเผยการ รับฟังความเห็นต่อประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาการตรากฎหมายทุกขั้นตอน

นพ.เจตน์กล่าวว่า ทั้งนี้ คำว่าพึ่งจัดให้มี เท่ากับบังคับให้การพิจารณากฎหมายทุกฉบับหลังรัฐธรรมนูญผ่านบังคับใช้ต้องปฏิบัติตามมาตรา 77 วรรคสองทุกขั้นตอน อย่างร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.จะมีผลกระทบ ทั้งที่ผ่านขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์มาแล้ว 5 ครั้ง แต่ยังขาดการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายอย่างรอบด้านเป็นระบบ และเปิดเผยต่อประชาชน ทำให้ที่ประชุมวิปสนช.มอบให้กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นเจ้าของกฎหมายดังกล่าว นำกลับไปประเมินผลกระทบก่อนนำกลับมาให้วิปสนช.พิจารณาซ้ำสัปดาห์นี้

5 ชาติร่วมสังเกต”จ่านิว”ขึ้นศาล

วันเดียวกัน นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักกิจกรรมการเมือง แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความทางเฟซบุ๊กระบุว่า ได้เดินทางมาขึ้นศาลทหาร โดยได้รับเกียรติจากสถานทูตหลายประเทศ ส่งผู้แทนร่วมสังเกตการณ์ โดยระบุว่ามาขึ้นศาลทหารในคดีฝ่าฝืนเงื่อนไขประกาศคสช.ที่ 40/2557 จากการถูกบีบให้ลงชื่อไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง จากการถูกควบคุมตัวอย่างมิชอบ และมีการใช้ความรุนแรงโดยทหารนอกเครื่องแบบ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2557 โดยวันนี้ตุลาการทหารนัดถามคำให้การ ซึ่งตนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และชี้แจงตามเหตุข้างต้น และยืนยันว่าคำสั่งและประกาศของคสช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายสิรวิชญ์ระบุว่า ในวันนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก 1.เลขานุการเอก สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย 2.ฝ่ายการเมือง สถานทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย 3.ฝ่ายการเมือง สถานทูตสหพันธรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย 4.ฝ่ายการเมือง สถานทูตสวีเดนประจำประเทศไทย 5.ฝ่ายการเมือง สถานทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย ได้มาร่วมสังเกตและร่วมฟังการพิจารณาในครั้งนี้ และได้สอบถามถึงประเด็นคดีของแม่ตนด้วย ซึ่งตนได้ฝากติดตามและตรวจสอบถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย

ผู้สื่อขาวรายงานว่า ทางศาลทหารได้นัดนายสิรวิชญ์อีกครั้งในวันที่ 19 เม.ย. เพื่อตรวจพยาน หลักฐานเพื่อเตรียมสืบพยาน

ค้านสปท.แก้วาระ”กำนัน-ผญบ.”

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 21 ก.พ. ที่รัฐสภา นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย นำตัวแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้ายื่นหนังสือถึงร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ผ่านนายเจษ อนุกูลโภครัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อคัดค้านข้อเสนอการปฏิรูปที่ให้เปลี่ยนแปลงวาระการดำรงตำแหน่งกำนันเหลือคราวละ 5 ปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งบ่อย อาจนำไปสู่การแบ่งพรรคแบ่งพวกและเกิดความแตกแยกในระดับหมู่บ้านได้

นายยงยศกล่าวว่า จึงเห็นว่าควรมีการแก้ไขข้อเสนอการปฏิรูป โดยให้กำนันมีวาระคราวละ 5 ปี แต่ไม่ต้องถูกจำกัดวาระ รวมถึงผู้ใหญ่บ้านสามารถอยู่ในตำแหน่งได้จนอายุครบ 60 ปี โดยทั้งหมดจะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่ผู้ใหญ่บ้านจะต้องผ่านการประเมินผลทุก 4 ปี เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2559 พร้อมเสนอให้ผู้ใหญ่บ้านมีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนัน และหากได้รับเลือกแล้วจะไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งเดิม

มติครม.”กิตติพงษ์”กลับเป็นขรก.

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้งตามที่กระทรวงต่างๆ เสนอดังนี้ กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายพรชัย ฐีระเวช รองผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.2559

กระทรวงการต่างประเทศ เสนอแต่งตั้ง 4 ราย นายชุตินธร คงศักดิ์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็น เอกอัครราชทูตกรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย, เรืออากาศโท อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูต กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เป็น อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ, นายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ เป็น เอกอัครราชทูต กรุงเวียนนา, นางนันทนา ศิวะเกื้อ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง เป็น อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. เป็นต้นไป

กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้ง นายคณิศ แสงสุพรรณ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ., สำนักเลขาธิการนายกฯ เสนอแต่งตั้ง นายคณิต วัลยะเพ็ชร์ เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ, นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ครม.มีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกฯ(สลน.) เสนอให้ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ บรรจุกลับเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกฯฝ่ายข้าราชการประจำ สลน. ซึ่งได้สงวนตำแหน่งไว้ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2560 และนายกฯได้ให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว ทั้งนี้ นายกฯ มีบัญชาให้นายกิตติพงษ์ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย มีกำหนดเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.2558 และเมื่อปฏิบัติงานเสร็จสิ้น และขอ กลับเข้ารับราชการ จักได้รับสิทธิและประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป

“วิษณุ”เตรียมลุย900คดีจำนำข้าว

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกรณีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท กับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และข้าราชการรวม 6 คน ที่กรมการค้าต่างประเทศส่งหนังสือมอบอำนาจยึดทรัพย์ ให้กรมบังคับคดี ว่า ไม่ทราบความคืบหน้าเรื่องนี้ ปล่อยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงมือจัดการ เมื่อครั้งที่เรียกกรมบังคับคดีมาพบนั้นเพื่อสอบถาม หน่วยงานดังกล่าวตอบว่าเขารู้ว่าตัวเองมีหน้าที่ใด และกรมการค้าต่างประเทศมีหน้าที่อะไรบ้าง จึงให้ทั้งสองหน่วยงานประสานงานกันแล้วทำงานต่อไป โดยที่รัฐบาลและฝ่ายการเมืองไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง หากติดขัดสิ่งใดขอให้มาแจ้งต่อรัฐบาลได้

นายวิษณุกล่าวว่า ขณะเดียวกันมีคณะกรรมการคณะหนึ่งที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาเป็นการภายใน เพื่อที่จะติดตามเรื่องทั้งกระบวนการ โดยมีตนเป็นประธาน และนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นเลขานุการคณะกรรมการ นายประยงค์ได้มารายงานให้ทราบว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวที่มีประมาณ 800-900 คดี ตอนนี้มีข้อมูลแล้ว จึงควรเรียกประชุมคณะกรรมการชุดนี้เพื่อติดตามเรื่องว่าหน่วยงานใดควรไปจัดการเรื่องอะไร โดยคดีในส่วนนี้ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ผู้เกี่ยวข้องเป็นข้าราชการ ซึ่งสามารถใช้คำสั่งทางปกครองมาดำเนินการเพื่อยึดทรัพย์บังคับคดีกับส่วนผู้ที่ไม่ใช่ข้าราชการ เช่น โรงสี พ่อค้าคนกลาง เป็นต้น ต้องยื่นฟ้องร้องตาม ช่องทางปกติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน