ศูนย์ทนายฯ ออกแถลงการณ์ จี้คสช.ยุติใช้ ม.44 ช่วงใกล้เลือกตั้ง!

วันที่ 22 มี.ค. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่แถลงการณ์ เรียกร้องให้คสช.ยุติการใช้อำนาจตาม ม.44 ระบุว่า ตามที่ปรากฎข่าวการเข้าค้นบ้านพักและการคุกคามผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายพื้นที่ของเเต่ละภูมิภาค ซึ่งพบอย่างน้อยใน 2 จังหวัด

ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเเละทหารกระทำการดังกล่าวโดยอ้างว่าใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เเละคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 ได้แก่ จ.พะเยาและจ.แม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นโดยไม่อ้างกฎหมายใดอีกอย่างน้อย 2 กรณี ได้แก่ จ.นครพนมและจ.นนทบุรี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงมีความเห็นต่อกรณีเข้าตรวจค้นดังกล่าวต่อไปนี้

1.เจ้าหน้าที่ทหารไม่มีอำนาจหน้าที่ใดเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งหรือป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียง การปฏิบัติการดังกล่าว แม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมด้วยแต่ไม่ปรากฎว่าการตรวจค้นในเเต่ละจุดนั้นมีหมายค้นหรือแจ้งข้อกล่าวหาใด การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายลักษณะเป็นการคุกคามและสร้างความหวาดกลัวต่อผู้สมัครและผู้ที่เกี่ยวข้อง

2.แม้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 จะให้อำนาจ “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” ในการเข้าตรวจค้นสถานที่ บุคคลหรือยานพาหนะได้โดยไม่มีหมาย แต่การเข้าตรวจค้นนั้นจะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่ามีบุคคลหรือทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ในการกระทำความผิดตามรายละเอียดในท้ายคำสั่ง 27 ประเภท และหากเนิ่นช้าไปบุคคลและทรัพย์สินจะถูกโยกย้ายหรือเปลี่ยนสภาพ

ซึ่งบัญชีท้ายคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 นั้นไม่มีความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งระบุไว้ เจ้าหน้าที่ทหารจึงไม่อาจกล่าวอ้างมาตรา 44 มาใช้ในกรณีดังกล่าวได้ และหากมีการตรวจค้นโดยอ้างมาตรา 44 นั้นก็ย่อมถือว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การเข้าตรวจค้นบ้านพักตลอดทั้งการคุกคามบุคคล ทั้งผู้สมัคร บุคคลที่เกี่ยวข้อง และนักกิจกรรมทางการเมืองของเจ้าหน้าที่ทหาร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของการเลือกตั้งที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นหนึ่งในผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นปฏิบัติการที่ไม่อาจยอมรับได้ท่ามกลางสภาวะที่ประชาชนมีข้อสงสัยต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐว่าขัดต่อหลักนิติรัฐมาตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี

ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจนำมาซึ่งการขัดขวางเเละสร้างอุปสรรคต่อการจัดตั้งเลือกตั้งที่เสรีเเละเป็นธรรม เพราะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย ยังคงมีอำนาจในการบังคับบัญชาหน่วยงานใดๆภายใต้สังกัดรวมถึงเจ้าหน้าที่ทหาร

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เเละคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 ในทันที

หากพบว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ว่ากรณีใดให้มอบหมายเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

อ่านแถลงการณ์เต็ม

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน