เปิดที่มา ‘ชู 3 นิ้ว’ สัญลักษณ์ หนามยอกอก ทิ่มแทง ‘เผด็จการ’

ชู 3 นิ้ว – วันที่ 6 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรับทราบข้อกล่าวหาและให้ข้อมูลแก่พนักงานสอบสวนของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งสำหรับวันนี้ ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหา คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น, มาตรา 189 ให้ความช่วยเหลือพาผู้ต้องหาหลบหนี และมาตรา 215 มั่วสุมชุมนุมเกิน 5 คน

สิ่งหนึ่งที่กลายเป็น ‘สัญลักษณ์’ ในการรับทราบข้อกล่าวหานี้คือ ‘การชู 3 นิ้ว’ ของนายธนาธร ทั้งก่อนและหลังเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือเป็นการนำสัญลักษณ์ที่ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามในรัฐบาลคสช. ซึ่งก่อนหน้านี้ ‘การชู 3 นิ้ว’ เคยเป็นที่นิยมของประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และรัฐบาลคสช.เองก็แสดงออกชัดเจนว่า ไม่เป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจ ผ่านการดำเนินคดีกับผู้ที่นำสัญลักษณ์นี้มาใช้ในการแสดงออก

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

บีบีซีไทย เคยรายงานถึงการชู 3 นิ้วนี้ไว้ว่า

การใช้สัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมือง
ในการต่อสู้ทางความคิดและการเมืองในสังคมไทยที่ผ่านมา มีการนำสัญลักษณ์มาใช้หลากหลายรูปแบบ เช่น ล่าสุดมีการชู 3 นิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games หรือก่อนหน้านี้ไม่นานมีกลุ่มสื่อมวลชนโพสต์รูปตัวเองปิดหู ปิดตา และปิดปาก

นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสื่อ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ มองว่าสังคมไทยใช้สัญลักษณ์มาตลอดในการต่อสู้กันทางการเมือง เช่น การใช้สีเสื้อ ใช้มือตบ ใช้นกหวีด ใช้ธงชาติ ชูสามนิ้ว สองนิ้ว ปิดหูปิดตาปิดปาก การใช้สัญลักษณ์เป็นการสื่อเพื่อแสดงว่าเป็นพวกเดียวกัน เป็นการร่วมกลุ่มคนที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กัน รวบรวมความกระจัดกระจายให้มาเป็นหนึ่งเดียวกัน

แต่สังคมไทยก็มีลักษณะพิเศษ สะท้อนความเป็นชาติที่มีอารมณ์ดี มีบันเทิงรวมอยู่ในการชุมนุมทางการเมืองด้วย เพราะส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมที่ยาว จึงต้องหาความบันเทิง แต่ก็ยังมีการใช้สัญลักษณ์ผ่านกิจกรรมบันเทิง ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น มีเพลง มีร่ายบทกลอน มีงานเพนท์เสื้อ ตรงนี้สะท้อนภาพวิถีชีวิตของสังคมไทยออกมาด้วย

นอกจากนั้นนายธามยังมองการนำสัญลักษณ์มาใช้ว่าเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่ง เพื่อให้ง่ายต่อการแย่งชิงพื้นที่ข่าว เช่น การชูสามนิ้ว หรือ การกินเบอร์เกอร์ เพื่อประท้วงสหรัฐฯ

ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นักวิชาการ ด้านนิเทศศาสตร์ มองว่าการใช้สัญลักษณ์เป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งในการแปรรูปนามธรรมให้เป็นรูปธรรม บางกลุ่มใช้เสียงเพลง ใช้โลโก้ ใช้กำปั้น ส่วนสัญลักษณ์ที่ใช้ในสังคมไทยตอนนี้ เป็นการช่วงชิงกันในเชิงวาทกรรม และขึ้นอยู่ด้วยว่าสังคมไทยยอมรับสัญลักษณ์นั้น ๆ ได้แค่ไหน ยอมรับการตีความของฝ่ายไหนได้มากกว่ากัน เช่น ชูสองนิ้วเป็นที่รู้กันว่าหมายถึงชัยชนะ ชูสามนิ้วอาจมีความหมายได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละกลุ่มในสังคม บางฝ่ายอาจตีความว่าหมายถึง สันติภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ แต่ก็มีบางฝ่ายตีความว่าหมายถึง ล้มเจ้า โกงข้าว เผาเมือง หรือบางฝ่ายบอกว่าเป็นสัญลักษณ์ของลูกเสือ

ดังนั้นผู้ที่ใช้สัญลักษณ์ต้องสื่อสารด้วยว่าสัญลักษณ์ที่ใช้หมายถึงอะไร เพราะสัญลักษณ์ไม่เคยหยุดนิ่ง เปลี่ยนไปตามเวลาและขึ้นอยู่กับบริบทของสังคม สัญลักษณ์ที่ใช้ในช่วงเวลาหนึ่งและหากนำมาใช้อีกช่วงเวลาหนึ่งโดยกลุ่มที่มีเป้าหมายขับเคลื่อนต่างกัน ความหมายของสัญลักษณ์ก็ไม่เหมือนเดิม

ดร. มานะชี้ว่าคนในสังคมไม่ควรกลัวหรือตื่นตระหนกกับการใช้สัญลักษณ์ เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ก่อความเดือดร้อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน