อดีตกรธ.ตอก‘สมศักดิ์’ มโน250ส.ว.ดับไฟการเมือง

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุผู้เขียนรัฐธรรมนูญออกแบบ 250 ส.ว.แต่งตั้งช่วยดับไฟการเมืองว่า เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของนายสมศักดิ์ ประเด็นของ 250 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งและมีอำนาจลงมติเลือกนายกฯร่วมกับส.ส. กรธ.ไม่ได้เป็นผู้คิด แต่มาจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ส่งข้อเสนอแนะมาว่า ในช่วง 5 ปีแรกให้มีส.ว.มาจากการแต่งตั้ง คอยทำหน้าที่กำกับการปฏิรูปช่วงเปลี่ยนผ่าน ประกอบกับ การเสนอคำพ่วงโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่ว่า ให้ส.ว.มีอำนาจโหวตนายกฯร่วมกับส.ส. เมื่อผ่านประชามติกรธ.จึงนำทั้งข้อเสนอแนะคสช.และคำถามพ่วงมาเรียบเรียงไว้ในมาตรา 272

ส่วนที่มาของส.ว.ร่างแรกของกรธ.เขียนให้ส.ว.มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกจาก 20 สาขาวิชาชีพ แต่ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างมากแปรญัตติแก้ไขให้ ส.ว.มีจำนวน 250 คน มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. 200 คน และอีก 50 คน คัดมาจากการเลือกตามสาขาวิชาชีพที่มีการปรับให้เหลือ 10 กลุ่ม โดยมาจากการสมัครสองแบบคือ สมัครเองอิสระและนิติบุคคลเป็นผู้รับรอง

นายชาติชาย กล่าวว่า 250 ส.ว.แต่งตั้งที่มีอำนาจโหวตนายกฯร่วมกับส.ส.จึงไม่ได้มีที่มาจากกรธ.และไม่ได้มีไว้เพื่อดับไฟการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลที่แต่ละฝ่ายมีคะแนนปริ่มน้ำที่ 250 เสียง ซึ่งสาเหตุไม่ได้เกิดจากระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คนกลุ่มใหญ่ที่ผ่านความขัดแย้งมา 10 กว่าปี จะเลือกพรรคการเมืองใหญ่ คนรุ่นใหม่กว่า 8 ล้านเสียง ก็จะเลือกอีกพรรคการเมืองหนึ่ง ที่ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องสีเสื้อ

ประกอบกับพรรคขนาดกลางในระดับจังหวัด อย่างบุรีรัมย์ ชลบุรี และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้รับความนิยมไปในแต่ละภูมิภาค ผลการเลือกตั้งเบื้องต้นที่ออกมา จึงพบจำนวนส.ส.ขยายไปยังหลายพรรค ส่วนตัวมองว่า ถ้าเป็นแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เสียงของส.ส.จะยิ่งกระจายไปหลายพรรคมากกว่านี้อีก ขนาดบัตรเลือกตั้งใบเดียวที่กำหนดให้เลือกเพียงอย่างเดียวเสียงยังปริ่มขนาดนี้ ถ้าบัตร2ใบเชื่อว่า ดูไม่จืดแน่นอน

อดีตกรธ. กล่าวว่า เมื่อผลการเลือกตั้งเบื้องต้นออกมาแบบนี้ จึงมีการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองกันทันที พรรคเพื่อไทย(พท.)ที่ใช้ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยก็จะตีโพยตีพายไม่ได้ จึงต้องชิงการนำด้วยการคิดสูตรจำนวนส.ส.ก่อน โดยการคำนวณไม่นำพรรคเล็กที่ได้ไม่ถึง 7.1 หมื่นเสียงมาคิด จนทำให้กกต.ลังเล จึงส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งสูตรการคิดนี้ ศาลอาจไม่รู้ก็ได้เนื่องจากการคิดเป็นอำนาจหน้าที่ของกกต.โดยตรง

ส่วนสูตรการคิดนั้น กรธ.ยืนยันชัดเจนว่า ต้องนำทุกคะแนนเสียงของทุกพรรคไม่ว่าใหญ่หรือเล็กที่ส่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมาคิดด้วย หากจะยึดแค่ 7.1 หมื่นเสียงเป็นหลักถึงได้ 1 ส.ส. แล้วถามว่า ตอนคำนวณที่ต้องมีการปัดเศษส.ส.บัญชีรายชื่อไปให้พรรคที่ได้คะแนนถึง 7.1 หมื่นอย่างเดียว แต่เศษทศนิยมของพรรคนั้นน้อยกว่าพรรคเล็กจะตอบอย่างไร

นายชาติชาย กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาตินั้น เป็นไปได้ยากมากหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย เพราะตามหลักการแล้ว ในระบอบประชาธิปไตยต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลคอยทำหน้าที่นี้อยู่ในสภา แต่รัฐบาลแห่งชาติก็ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาล็อกไว้ว่า ต้องมีผู้นำฝ่ายค้าน เป็นแต่เพียงการกำหนดไว้ว่า พรรคที่มีเสียงข้างมากที่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลให้มีผู้นำฝ่ายค้าน การที่รัฐบาลแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีวิกฤตทางการเมืองที่ร้ายแรงและจำเป็นเร่งด่วนจริงๆ เช่น ภาวะสงคราม ซึ่งต้องใช้การระดมสมองจากทุกพรรคในสภาแบบนี้ เป็นต้น จึงจะเกิดขึ้นได้ แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองตอนนี้ยังไม่มีเหตุและความจำเป็นในการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

สำหรับกรณีที่มองว่า บทเฉพาะกาลมาตรา 272 วรรคสองที่กำหนดให้ สมาชิกรัฐสภาทั้งส.ส.และส.ว.รวมกัน 2 ใน 3 หรือ 500 คนจาก 750 คนมีมติงดเว้นการลงมติเลือกนายกฯตามบัญชีของมาตรา 88 คือรัฐบาลแห่งชาตินั้น ก็ไม่ใช่ มาตราดังกล่าวเป็นเพียงทางออกหนึ่ง เพื่อไม่ให้การเมืองเกิดทางตันในการจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน